แนวโน้มธุรกิจไอทีในปี 2546 (1)

 

บทความนี้เป็นบทความวิเคราะห์เชิงความคิดเห็น ไม่ใช่เป็นการพยากรณ์ปริมาณ อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์บางครั้งก็ตรงกับบางธุรกิจ บางองค์กร และหลายครั้งก็ไม่ตรง เนื่องจากสถานการณ์ภายใน และที่แวดล้อมภายนอกของแต่ละธุรกิจ แต่ละองค์กรจะมีความแตกต่างกัน

 

ก่อนอื่น ท่านจะต้องทำความเข้าใจกับ "แนวโน้มธุรกิจ" สองลักษณะก่อนคือ "การฟื้นตัว" กับ "การเติบโต" ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ตัวอย่าง อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย ในปี 2545 มีการเติบโต (growth) สูงกว่าปี 2544 กว่า 30~ โดยมียอดจำหน่ายรวมกันประมาณ 400,000 กว่าคัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบยอดจำหน่ายในปี 2545 กับปี 2539 ซึ่งเป็นปีที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยเติบโตสูงสุด ถึงประมาณเกือบ 600,000 คัน อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยในขณะนี้กำลังเติบโต และคาดว่าจะฟื้นตัวเท่าปี 2539 ได้อย่างเร็วที่สุดประมาณปี 2548

 

การเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจไอที ในช่วงระยะเวลาประมาณ 10 ถึง 15 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตมาจาก "นวัตกรรม" การเติบโตในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาสองถึงสามปี จะมาจากการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และบริการที่มีอยู่เดิมให้ดียิ่งขึ้นในรูปแบบต่างๆ เพื่อสนองตอบต่อความคาดหวัง ความต้องการของผู้ใช้ ผู้บริโภค ที่ต้องการผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่ให้ความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้นในค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม และคุ้มค่า ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจไอที และโทรคมนาคมจะมุ่งพัฒนาสินค้า และบริการในรูปแบบต่างๆ ที่จะนำมากล่าวในบทความนี้ 12 กลุ่ม ซึ่งผลิตภัณฑ์ และบริการดังที่กล่าวต่อไปนี้ แยกออกยากว่าจะเป็นอุปกรณ์ หรือบริการ สำหรับผู้บริโภค (consumer products) หรือสำหรับสถาบัน (institutional products)

 

1. อุปกรณ์ดิจิทัลช่วยบุคคล หรือที่เรียกกันว่า พีดีเอ (PDA) ซึ่งแบ่งออกเป็นสองค่ายตามระบบการทำงาน ได้แก่ กลุ่มปาล์ม (palm) และกลุ่มไมโครซอฟท์ (Microsoft) ผู้ผลิตไม่ว่าจะอิงค่ายใดก็ตามต่างก็มุ่งที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกตาม

1.1 ขนาด ให้ใหญ่กว่า หรือเล็กกว่า ขนาดปัจจุบัน และขนาดปัจจุบันมีการพัฒนาแบบสองหน้าพับเข้าหากัน และที่กำลังมาแรงคือ ขนาดเล็กลงมาก ตามที่ บิล เกตส์ แห่งไมโครซอฟท์ ได้นำเสนอออกมาสี่รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ นาฬิกาข้อมือ พวงกุญแจ นาฬิกาปลุก และแผ่นแม่เหล็กติดตู้เย็น และอุปกรณ์ทั้งหมดจะเป็นอุปกรณ์รับข้อมูลที่บิล เกตส์ เรียกว่า สปอต (Spot หรือ Smart Personal Objects Technology) (Businessweek, 20 มกราคม 2003)

1.2 ให้มีการใช้งานที่หลากหลาย Multi-purpose PDA หรือ MPDA ที่จะเป็นทั้งอุปกรณ์ช่วยส่วนบุคคล โทรศัพท์ไร้สาย อุปกรณ์ถ่ายภาพดิจิทัล อุปกรณ์ให้ความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ อุปกรณ์บันทึกเสียง ฯลฯ เป็นต้น

 

2. พีซีแบบแผ่นกระดาน (Tablet PC) จะได้ความนิยมเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คู่แข่งขันของพีซีแบบแผ่นกระดาน คือ พีซีแบบพกพา (laptop) ที่มีขนาดเล็กลงแต่สามารถใช้งานได้หลากหลายมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองแนวโน้มความเคลื่อนไหวว่า ผู้ผลิตจะนำกลยุทธ์การตลาดแบบไหนมาใช้ เพื่อไม่ให้กระทบธุรกิจเดิมหรือธุรกิจปัจจุบัน แต่เพื่อนำมาเพิ่มยอดขายให้มีการเติบโตสูงขึ้น ไม่ว่าพีซีแบบพกพาหรือนำพาติดตัวไปได้จะอยู่ในรูปแบบใดก็ตามจะช่วยเสริมสร้างการเติบโตของ mobile computing

 

3. Wi-Fi (ไว-ฟาย หรือ Wireless Fidelidy) เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ ที่จะช่วยส่งเสริม Mobile computing โดยผู้ให้บริการจะจัดสร้างสถานีรับส่งสัญญาณ เช่น บริเวณสนามบิน ฯลฯ เพื่อให้ผู้เดินทางสามารถติดต่อสื่อสารผ่านคอมพิวเตอร์แบบพกพา ณ บริเวณใดของสนามบินก็ได้โดยไม่ต้อง อาศัยสายโทรศัพท์พื้นฐาน และการลงทุนติดตั้งแต่ละจุดจะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับการติดตั้งอุปกรณ์การให้บริการโทรศัพท์ไร้สายยุคสาม (3G)

คาดหมายว่า จะมีผู้นำระบบไว-ฟาย มาใช้ในประเทศไทยภายในหนึ่งหรือสองปีนี้ และการแข่งขันจะสูงเข้มขึ้นมาก ถ้ามีการเปิดเสรี เนื่องจากการลงทุนไม่สูงมาก และรายได้จากค่าใช้บริการจะอยู่ในระดับสูงเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายจะเป็นนักธุรกิจที่มีความสามารถในการจ่ายค่าบริการได้

 

4. โทรศัพท์ไร้สาย จะมีการเติบโตต่อไปอีก เนื่องจาก การแข่งขันสูงระหว่างผู้ให้บริการเดิม และจากรายใหม่ และการแข่งขันจะเป็นตัวชักนำให้มีการใช้บริการเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว จากขอบเขตการใช้งานสามารถครอบคลุมไปได้ทั่วประเทศ จะทำให้ประชาชน หรือลูกค้าในต่างจังหวัดจะหันมาใช้โทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้น และจากนโยบายเศรษฐกิจ จะทำให้ประชาชนในต่างจังหวัด หรือในชนบท จะมีความสามารถในการใช้บริการโทรศัพท์ที่ไร้สายได้เพิ่มขึ้น และจากการที่ราคาตัวเครื่องลดลงมากจะเป็นแรงกระตุ้นอีกทางหนึ่ง

 

5. โทรศัพท์พื้นฐาน แนวโน้มการเติบโตคงไม่ต่างจากปีที่ผ่านมาที่การเติบโตไม่สูงมาก แต่เนื่องจากมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และระบบเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้โทรศัพท์พื้นฐานจะสูงตามไปด้วย บริการที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานจะต้องให้เพิ่มเติม คือ ระบบความเร็วสูง ในราคาที่พอเหมาะพอสมควร มิฉะนั้นแล้วจะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากระบบใหม่ๆ เช่น ไวฟาย ในการวัดความเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการให้บริการทั้งโทรศัพท์ไร้สาย และโทรศัพท์พื้นฐาน ควรตั้งอยู่บนจำนวนของผู้ใช้ ถ้าจะลงลึกถึงผู้ให้บริการแต่ละรายจะต้องดูส่วนแบ่งตลาดประกอบกันไปด้วย และรายได้จากระยะเวลาในการใช้ (airtime) สำหรับโทรศัพท์ไร้สาย และจำนวนครั้งที่ใช้สำหรับโทรศัพท์พื้นฐาน ขอเสนอแนะแก่ผู้ให้บริการทั้งโทรศัพท์แบบไร้สาย และพื้นฐานให้ศึกษาติดตามวิเคราะห์ แนวโน้ม ผลประกอบการของผู้ให้บริการรายใหญ่ทั่วโลก

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 30 มกราคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.