ระบบบริหารทรัพยากรไอที อาวุธองค์กรยุคใหม่รับมือการแข่งขัน

ระบบบริหารทรัพยากรไอที ความจำเป็นองค์กรยุคใหม่ต้องมี แม้ในระยะต้นจะเห็นว่า ใช้ "คน" ดูแลและบริหารระบบยังมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าลงทุนติดตั้งระบบก็ตาม แต่ด้วยสภาพของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และสลับซับซ้อนมากนั้น การจัดการระบบด้วยเทคโนโลยีด้วยกันจะทำได้คล่องตัวกว่า

 

โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจำนวนมากๆ และมีสาขาย่อยๆ กระจายอยู่ทั่วไป เป็นหลักร้อย หรือพันแห่ง การจัดการเทคโนโลยีไอทีด้วยระบบไอทีเช่นกันจะทำให้สะดวก และคล่องตัวมากขึ้น

ปกติแล้วการบริหารจัดการไอที จะใช้คนดำเนินการ ทำให้เกิดการใช้อุปกรณ์ฟุ่มเฟือย เช่น คอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อเครื่องพิมพ์ 1 เครื่องต่อผู้ใช้ 1 คน ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์มากขนาดนั้น ซึ่งการนำซอฟต์แวร์ไปช่วยจัดการจะเสริมประสิทธิภาพองค์กรขึ้น ดังนั้น องค์กรซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ล้วนเห็นโอกาสของตลาดที่มีอยู่มาก จึงส่งระบบบริหารจัดการทรัพยากรไอทีเข้าสู่ตลาดกัน ไม่ว่าจะเป็นทิโวลี่ ของไอบีเอ็ม, เอชพี, ซีเอ เป็นต้น ซึ่งต่างนำเสนอจุดเด่นช่วยลดต้นทุน และบริหารจัดการได้เร็วขึ้น

 

คุณสมบัติซอฟต์แวร์จัดการ

โดยคุณสมบัติของซอฟต์แวร์ที่มีจะเน้นช่วยจัดการระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ในพีซีแต่ละเครื่อง ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ แบ่งเป็นระบบปฏิบัติการ และระบบการทำงาน (แอพพลิเคชั่น) จะช่วยให้จัดทำรายการทรัพย์สินคงคลังว่า มีอะไรบ้าง ทั้งช่วยจัดการไลเซ่นซอฟต์แวร์ให้ใช้งานเฉพาะถูกกฎหมาย และไม่จำเป็นต้องซื้อซอฟต์แวร์ครบจำนวนเครื่อง เพราะบางเวลาคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่องอาจไม่ได้ใช้ซอฟต์แวร์นั้นๆ ซึ่งโดยหลักการแล้วซอฟต์แวร์จะซื้อราว 80% ของเครื่องทั้งหมดเท่านั้น แล้วบริหารการใช้งาน ณ เวลานั้นๆ หากไม่มีซอฟต์แวร์ช่วยดูแล การลงทุนส่วนนี้อาจต้องซื้อเต็มจำนวน นอกจากนั้น ซอฟต์แวร์ยังมีคุณสมบัติช่วยตรวจสอบคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะจากส่วนกลาง และกระจายออกยังเครื่องลูกข่ายต่างๆ ช่วยดูความครบถ้วนของคอนฟิกูเรชั่น ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ พร้อมเปรียบเทียบหลังการติดตั้งแล้วว่า ยังทำงานได้เหมือนเดิมหรือไม่ และสามารถทำงานกลางคืนได้ ทั้งยังช่วยตรวจสอบพื้นที่ดิสก์, คุณสมบัติฮาร์ดแวร์ที่มี ณ เวลานั้นๆ หากจะปรับปรุงระบบก็จะทำให้ง่ายขึ้น

 

ระบบจัดการระบบ ซึ่งจะตรวจสอบการทำงานของระบบไอทีทั้งหมดว่า มีสถานะอย่างไร และแจ้งเตือนก่อนเกิดเหตุ เพื่อหาทางแก้ไขล่วงหน้าได้ ขณะที่ ระบบสำรอง ป้องกันความเสี่ยงภัยจากระบบหลักมีปัญหา คอยดูแล และจัดการกู้คืนระบบกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันก็จะช่วยแบ่งเบาภาระได้มาก ส่วนระบบรักษาความปลอดภัย ทำให้ฝ่ายจัดการสามารถแบ่งผู้ใช้แอพพลิเคชั่น รวมถึงการสร้าง และลบผู้ใช้ได้จากส่วนกลาง สร้างความปลอดภัยให้แก่ระบบ ซึ่งกรณีใช้คนดำเนินการจะเห็นได้ว่า หลายๆ องค์กรมีปัญหาพนักงานออกไปแล้ว แต่ชื่อและสิทธิการเข้าถึงระบบยังคงอยู่ รวมทั้งคุณสมบัติลงทะเบียนครั้งเดียว ด้วยยูสเซอร์ไอดีเดียว จะสามารถเปิดให้ใช้งานได้ทุกแอพพลิเคชั่นที่มีสิทธิ ทำให้สะดวกต่อการจัดการซอฟต์แวร์

 

ตลาดเติบโตสูง

นายสุรเดช เลิศธรรมจักร์ ผู้ช่วยกรรมการบริหาร บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยระบบไอทีที่สลับซับซ้อนมากขึ้นเช่นปัจจุบัน ทำให้ระบบช่วยบริหารจัดการระบบอีกทีมีความต้องการในตลาดมากขึ้น เฉพาะของบริษัทนั้น ในปีที่ผ่านมาระบบดังกล่าว มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 50% และคาดว่าปีนี้จะยังคงมีอัตราเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะองค์กรที่มีคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะตั้งแต่ 100 เครื่องขึ้นไปนั้น เฉพาะแค่การติดตั้งซอฟต์แวร์ หรืออัพเดทเวอร์ชั่นซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ให้กับทุกเครื่อง เช่น เปลี่ยนระบบปฏิบัติการจากไมโครซอฟท์ วินโดว์ส 98 เป็นวินโดว์ส 2000 ก็ไม่เหมาะที่จะใช้คนนั่งทำทีละเครื่องอีกแล้ว เนื่องจากหากทำเช่นนี้จะใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองมาก ซึ่งกลุ่มผู้ใช้เป้าหมายมักอยู่ในบริษัทโทรคมนาคม ธนาคาร สถาบันการเงิน และโรงงานอุตสาหกรรม

 

ด้านนายศรีทอง เจริญกรวิจิตร ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท คอมพิวเตอร์ แอสโซซิเอทส์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัท คาดว่า ภายในปีหน้าตลาดระบบบริหารจัดการทรัพยากรไอทีจะเติบโตสูงขึ้น 100 เท่า โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ถึงเล็ก ในอุตสาหกรรมหลัก เช่น ภาคการเงินการธนาคาร โทรคมนาคม ค้าปลีก และการผลิต รวมถึงภาครัฐ โดยระบบบริหารจัดการทรัพยากรไอที (IT Resource Management Solutions หรือไอทีอาร์เอ็ม) ของบริษัท เป็นระบบช่วยบริหารจัดการทรัพยากรไอที ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ครบวงจร ซึ่งบริษัททำตลาดผ่านพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ทำตลาดมานาน ทั้งนี้บริษัทเชื่อว่า การแข่งขันทางธุรกิจที่สูงเช่นปัจจุบัน นอกจากการนำไอทีไปใช้ในองค์กรแล้ว ยังต้องมีระบบบริหารจัดการทรัพยากรไอทีเหล่านั้นเป็นอย่างดี จึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และปัจจุบันเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การนำซอฟต์แวร์เครื่องมือมาช่วยจัดการทรัพยากรไอที จะคล่องตัว และมีประโยชน์ครอบคลุมกว่าการใช้คนจัดการ

 

ส่วนนางวรชนก ศิวะกาญจนกร รองผู้อำนวยการ กลุ่มธุรกิจซิสเต็มส์ อินทีเกรชั่น สตราทิจิก บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เชื่อว่า ปีนี้จะมีลูกค้าให้ความสนใจระบบบริหารจัดการทรัพยากรไอทีเพิ่มขึ้น ทั้งองค์กรขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ ที่มีคอมพิวเตอร์ใช้ตั้งแต่ระดับร้อย-พันเครื่อง ทั้งเชื่อว่า จะเป็นระบบที่จำเป็นต่อองค์กรที่ใช้ไอทีต่างๆ โดยอัตราการลงทุนเฉลี่ยต่อเครื่องคอมพิวเตอร์จะอยู่ที่ระดับกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นต้นไป

ทั้งนี้ในส่วนของเอสวีโอเอ จะเน้นลูกค้าธนาคารเป็นหลัก ด้วยเป็นธุรกิจที่ทำมานาน และมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก

 

ด้านนายณัฐพล อภิลักโตยานันท์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ซอฟต์แวร์ โซลูชั่นส์ ออร์กาไนเซชั่น เอชพี โอเพ่นวิว แอนด์ เอชพี เน็ตแอคชั่น บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เอชพี โอเพ่นวิว เป็นระบบจัดการไอทีทั้งองค์กร (เอ็นเตอร์ไพร้ซ แมเนจเมนต์) ที่จัดการระบบเครือข่าย แอพพลิเคชั่น, จัดการระบบสำรองข้อมูล, เฮลพ์เดสก์, อี-เซอร์วิส แอนด์ แมเนจเม้นต์ มีซอฟต์แวร์ระบบบริหารทรัพยากรไอที โดยเห็นว่า ระบบบริหารจัดการทรัพยากรไอทีในองค์กรนั้น เป็นสิ่งจำเป็นต้องการใช้งานไอทีในองค์กร และคาดว่า ระบบงานดังกล่าวในส่วนของบริษัทปีนี้จะมีอัตราการเติบโตราว 40-50% จากก่อนหน้านี้มีอัตราเติบโตราว 50%-60%

 

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของบริษัทวิจัยการ์ทเนอร์ กรุ๊ป เห็นว่า ระบบจัดการทรัพยากรไอทีทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโต 15-20% ในปีนี้ ส่วนของประเทศไทย ก็มีแนวโน้มการเติบโตของผลิตภัณฑ์ไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากจะช่วยลดความสูญเสียที่ไม่จำเป็นลงได้ แม้องค์กรธุรกิจในไทยจะยังให้ความสำคัญต่อระบบดังกล่าวค่อนข้างน้อย เพราะการว่าจ้างแรงงานคนยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าลงทุนซอฟต์แวร์ แต่การใช้ซอฟต์แวร์จะช่วยจัดการระบบบางอย่างที่คนไม่สามารถทำได้ หรืออาจไม่ครอบคลุม

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 28 มีนาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.