NGN : Next Generation Network

 

ความต้องการในการสื่อสารข้อมูลในปัจจุบันมีความก้าวหน้าจากอดีตเป็นอย่างมาก การสื่อสารทางด้านเสียงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรองรับความต้องการที่สูงขึ้นของผู้บริโภคได้  ยิ่งไปกว่านั้น ภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงขึ้น ก็ได้ส่งผลให้การให้บริการด้านเสียงเพียงอย่างเดียว ไม่อาจสร้างรายได้ที่เพียงพอให้กับผู้ให้บริการซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหารายได้และกำไรในแต่ละปีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง  ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการสื่อสารส่วนใหญ่ จึงต้องมีการวางแผนเพื่อสร้างรายได้จากบริการใหม่ๆ กันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ผู้ให้บริการต้องมีการพิจารณาถึงในสภาพแวดล้อมของตลาดในปัจจุบันก็คือ จะวางนโยบายลงทุนอย่างไรเพื่อให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และสามารถรับผลตอบแทนจากการลงทุนได้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมากระแสของเทคโนโลยีไร้สายได้รับการพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนหลายคนแทบจะลืมให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีมีสายอย่างโทรศัพท์พื้นฐานกันไปเลย  อย่างไรก็ดี เมื่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ได้รับการพัฒนาขึ้น เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านโทรศัพท์พื้นฐานก็ได้รับการให้ความสำคัญกันอีกครั้งในแง่ของการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจในอนาคต  ขณะที่ผู้ให้บริการด้านเครือข่ายก็ได้เริ่มให้ความสำคัญกับกับการพัฒนาเทคโนโลยีเครือข่ายโทรศัพท์พื้นฐานสู่โครงข่ายรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่จำกัดอยู่เพียงการให้บริการด้านเสียงในรูปแบบเดิมๆ

สู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน
NGN หรือ Next Generation Network เป็นเทคโนโลยีโครงข่ายสื่อสารที่มีการรับส่งข้อมูลในลักษณะ Packet-Based ที่อยู่ในรูปแบบของ IP เป็นหลัก โดย NGN เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยผสานการทำงานต่างๆ ไว้ในเครือข่ายเดียวกัน และแม้จะมีการใช้โพรโตคอลต่างชนิดกันก็ยังสามารถสื่อสารกันได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงในระดับสถาปัตยกรรมของระบบเครือข่าย ซึ่งถือว่าแตกต่างจากอดีตที่การให้บริการเครือข่ายจะอยู่ในรูปแบบของการแยกออกจากกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้ เทคโนโลยี NGN ยังสนับสนุนการให้บริการที่หลากหลายผ่านเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของผู้ให้บริการในปัจจุบันที่ต้องการสร้างรายได้จากบริการหรือแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ เพื่อทดแทนรายได้และกำไรที่มีแนวโน้มลดลงจากปัจจัยการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ NGN สามารถจัดส่งบริการรูปแบบใหม่ๆ ให้กับลูกค้าปลายทางได้อย่างหลากหลาย อาทิเช่น Multimedia, Presence and Availability, Instant Messaging ฯลฯ  โดยโครงข่าย NGN จะสามารถรองรับ Application ในลักษณะที่เป็นข้อมูลซึ่งมีความจุสูงๆ ได้  ในขณะที่ข้อมูลด้านเสียงก็จะถูกส่งผ่านในรูปของ Packets ไปพร้อมกับข้อมูลเช่นเดียวกัน และแม้ในอนาคต NGN จะเข้ามาทดแทนระบบโครงข่ายเดิมอย่าง TDM (PSTN/PLMN) ในที่สุด  แต่โครงข่ายแบบ TDM ก็จะยังคงมีบทบาทสำคัญใน ระยะหนึ่ง ก่อนค่อยๆ ลดบทบาททีละน้อย จนกระทั่งโครงข่ายเปลี่ยนเป็น NGN โดยสมบูรณ์

3G บนโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน
หาก 3G เป็นโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคใหม่ ที่รองรับการสื่อสารด้านบรอดแบนด์สำหรับการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว  โครงข่ายสื่อสารที่เรียกว่า NGN ก็ถือเป็นโครงข่ายใหม่ที่รองรับการสื่อสารบรอดแบนด์ภายใต้โครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน และเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ธุรกิจสื่อสารข้อมูล เพื่อทดแทนรายได้เดิมที่เกิดจากการสื่อสารทางเสียงที่มีแนวโน้มลดลง

NGN จะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถจัดการเครือข่าย รวมไปถึงการสร้างรูปแบบในการให้บริการต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนในการให้บริการเครือข่ายของผู้ประกอบการ  โดยโครงสร้างแบบ IP จะช่วยสร้างบริการได้อย่างหลากหลายทั้งด้านเสียงข้อมูล และวิดีโอ ผ่านตัวกลางเพียงตัวเดียว โดยมีตัวอย่างแอพพลิเคชั่นที่คาดว่าจะประสบความสำเร็จในวงกว้าง ประกอบด้วย Instant Messaging ซึ่งจะมีข้อมูลนำเสนออย่างหลากหลาย และสามารถรองรับการติดต่อสื่อสารแบบอัตโนมัติ, Online Gaming ที่มีความเร็วสูงขึ้นมาก, IP Centrex ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการติดต่อสื่อสารให้กับธุรกิจขนาดเล็กโดยการใช้บริการผ่านตู้ชุมสายย่อยของผู้ให้บริการ แทนที่การลงทุนติดตั้งระบบตู้สาขาอัตโนมัติ (PABX) เอง รวมไปถึงบริการ Online-Streaming ที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถกำหนดเวลาการรับชมภาพยนตร์ได้ด้วยตัวเอง เป็นต้น

โอกาสและการลงทุนในอนาคต
ปัจจุบัน เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ก้าวสู่ยุคที่ 3 หรือ 3G แล้ว ขณะที่บริการของโทรศัพท์พื้นฐานยังคงอยู่ในยุคที่ 2 ซึ่งเป็นโครงสร้างอุปกรณ์เครือข่ายยุคเก่าที่มีอายุการใช้งานมาค่อนข้างยาวนาน ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่กล้าลงทุนนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ก็เนื่องมาจากความไม่แน่ใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ และยังมีข้อสงสัยว่าเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ดีจริงหรือไม่ ตรงตามความต้องการของผู้ใช้แค่ไหน และจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการได้เพียงไร  โดยมีตัวอย่างให้เห็นจาก 3G ที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในช่วงที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากต้นทุนการลงทุนที่สูง รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคมในทุกวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บริการสื่อสารทางด้านเสียงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเป็นแหล่งรายได้หลัก ที่สำคัญให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานอีกต่อไป ตลาดที่เริ่มอิ่มตัวส่งผลให้ผู้ให้บริการรายเก่าจำเป็นต้องหาวิธีการและแนวทางใหม่ๆ เพื่อที่จะสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ให้ได้ ขณะที่ผู้ให้บริการรายใหม่ก็จำเป็นต้องหาหนทางสร้างฐานลูกค้าเพื่อให้มีรายได้และกำไรที่เพียงพอต่อการแข่งขันในตลาด  ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการในตลาดจึงจำเป็นต้องหาหนทางที่จะตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าให้ดีกว่าผู้ให้บริการหรือคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาด ซึ่งรวมถึงการนำเสนอบริการและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ภายใต้นโยบายการลงทุนที่มุ่งลดค่าใช้จ่าย และได้รับผลตอบแทนสูงสุด

NGN ถือเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายยุคใหม่ทางเลือกหนึ่งที่น่าจับตามอง ด้วยจุดเด่นของการรวมการสื่อสารด้านเสียงและข้อมูลไว้ในเครือข่ายเดียวกัน นอกจากนี้ แรงผลักดันหลักที่จะช่วยให้ NGN เป็นที่ต้องการของผู้ให้บริการก็คือ การลดต้นทุนในการให้บริการเครือข่าย และความสามารถในการสร้างแนวทางการให้บริการใหม่ๆ โดยโครงสร้างแบบ IP จะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถสร้างบริการได้หลายรูปแบบทั้งด้านเสียง ข้อมูล วิดีโอ และมัลติมีเดีย รวมไปถึงแนวคิดการทำงานของ NGN ที่ยิ่งขยายโครงข่ายเพิ่มก็จะมีต้นทุนการติดตั้งที่ลดลง เนื่องจากผู้ให้บริการจะได้ประโยชน์จากคุณสมบัติด้านการบริหารโครงข่ายที่จะช่วยลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการการเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายที่มากขึ้น รวมทั้งโอกาสในการทำรายได้จากแอพพลิเคชั่นที่มากขึ้น

ในส่วนของประเทศไทยนั้น สภาพแวดล้อมในปัจจุบันกำลังเปิดโอกาสให้กับเทคโนโลยีเครือข่ายยุคใหม่เป็นอย่างยิ่ง ทั้งปัจจัยหนุนจากสภาพการแข่งขันในธุรกิจให้บริการสื่อสาร รวมถึงนโยบายของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ และที่สำคัญคือนโยบายในการผลักดันโครงการบรอดแบนด์ราคาถูกของกระทรวงไอซีที ที่ส่งผลให้เกิดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างมากมาย  และเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการลงทุนในการพัฒนาโครงข่ายเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต

 

ที่มา : MVT Newsletter : May 2004 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.