โลกขี้เล็บของ RFID ยิ่งซื้อง่าย ยิ่งจ่ายคล่อง

อัจฉรา สาสุข

 

เมื่อวันหนึ่ง โลกทั้งโลกกลายเป็นโลกแห่งจินตนาการ โลกแห่งอนาคตก้าวมาอยู่ตรงหน้า เริ่มจาก... ชอปปิงไฮเทคด้วย เทคโนโลยีอาร์เอฟไอดี หรือ Radio Frequency IDentification เทคโนโลยีระบุข้อมูลโดยใช้คลื่นวิทยุ ที่เพียงเข็นรถเข็นที่เราจับจ่ายสินค้าผ่านเครื่องอ่าน ชิพที่ติดอยู่ที่ตัวสินค้าจะส่งสัญญาณวิทยุคุยกับเครื่องอ่านว่ามีอะไรอยู่ในรถเข็นของเราบ้าง ราคาเท่าใด รวมเงินเสร็จสรรพ เราก็สามารถจ่ายเงินได้ทันที ไม่ต้องมานั่งรอให้พนักงานยิงบาร์โค้ดที่สินค้าทีละตัว และเทคโนโลยีในฝันนี้จะเริ่มแห่งแรกที่วอลล์มาร์ท ผู้ค้าปลีกรายยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ที่ออกมาประกาศว่าภายในปี 2548 ผู้ที่จัดส่งสินค้าให้กับวอลล์มาร์ท 100 อันดับแรก จะต้องติดชิพคลื่นวิทยุแทนการใช้บาร์โค้ด และภายในปี 2549 ผู้ที่ค้าส่งสินค้าให้กับวอลล์มาร์ททุกรายต้องเปลี่ยนมาใช้ชิพประเภทนี้ ซึ่งระบบนี้จะอำนวยความสะดวกให้ทั้งกับผู้ที่เข้าไปจับจ่ายในวอลล์มาร์ท และกับตัวของห้างเอง

 

นายสมิทธิ์ สุขสมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเดนติไฟล์ ลิมิเต็ด ผู้นำเข้าและผลิตโซลูชั่นและชิพอาร์เอฟไอดี กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีมาใช้ในระบบการจัดส่งสินค้าว่า การนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้จะอำนวยความสะดวกและมีประโยชน์ไล่ไปตั้งแต่ผู้ผลิต การส่งต่อไปยังคลังสินค้า ขนส่ง ไปจนถึงผู้ค้าปลีก เพียงแค่ผู้ผลิตติดชิพอัจฉริยะนี้ไว้ที่ตัวสินค้า เมื่อเข้าสู่ระบบขนส่งไปยังคลังสินค้า และเมื่อเครื่องอ่านอ่านข้อมูลที่ถูกส่งมาด้วยสัญญาณวิทยุจากตัวสินค้า (ทั้งลัง) เมื่อทำงานร่วมกับเซิร์ฟเวอร์ที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ หากข้อมูลสินค้าเป็นแบบนี้จะถูกส่งต่อไปที่ไหน อย่างไร หรือเมื่อมาถึงมือผู้ค้าปลีก เมื่อเครื่องอ่านอ่านข้อมูลก็จะรู้ว่าเป็นสินค้าประเภทไหน จะต้องจัดเก็บและจัดการกับตัวสินค้าอย่างไร  ไม่เพียงเท่านั้น เทคโนโลยีนี้ยังมาช่วยในการแก้ปัญหาเรื่องการจัดวางชั้นสินค้า การสต็อกสินค้าได้อีกด้วย

 

เวลาเข้าไปเดินซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ลองสังเกตดู จะพบปัญหาหนึ่ง คือ ปัญหาชั้นวางสินค้าว่างเปล่า (หรืออาจจะไม่ถึงกับว่าง เพียงแค่โหวงๆ) เนื่องจากสินค้าตัวนี้ขายดีมาก จนทำให้หมดจากสต็อกเร็วกว่าปกติ หรือถ้าเป็นนักช้อปที่โชคไม่ดี เผอิญมาช่วงสินค้าหมดชั้นพอดิบพอดี ก็จะชวดไป เลยต้องเสียเวลาไปเดินหาซื้อที่อื่นอีก ทางซูเปอร์มาร์เก็ตหรือผู้ค้าปลีกเองก็จะเสียโอกาสทางการค้านั้นไปด้วย อาร์เอฟไอดีจะมาช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เนื่องจากหากติดเครื่องอ่านไว้บริเวณชั้นวางสินค้า เมื่อสินค้านี้ถูกหยิบออกไปจากบริเวณชั้น ระบบก็จะสามารถรู้ได้ว่าสินค้าออกไปจากชั้นแล้วนะ กี่ชิ้นๆ ก็ว่ากันไป ทำให้สามารถนำของจากในโกดังเก็บของออกมาเติมที่ชั้นได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้ชั้นว่างจนโหวง หรือรอจนสินค้าหมด งานนี้ผู้บริโภคก็พอใจที่มีสินค้าให้ซื้อ ผู้ขายเองก็พอใจที่ไม่เสียโอกาสทางการค้า

 

การนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในระบบการขนส่งสินค้า และใช้ในกับระบบค้าปลีก คงจะเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อวอลล์มาร์ทเริ่มต้นใช้จริง คือในปี 2549 และทางคุณสมิทธิ์ เล่าต่อว่า ทางเทสโก้ที่ประเทศอังกฤษเองก็ออกมาประกาศว่า จะนำเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีมาใช้กับระบบขายปลีกของเทสโก้เองเช่นกัน ซึ่งถ้าเทสโก้ที่อังกฤษเริ่มต้นใช้จริงๆ อีกไม่นาน เทสโก้ในประเทศไทยเองก็คงมีการนำมาใช้ แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้คือ กับผู้ที่ค้าส่งให้กับวอลล์มาร์ทในปี 2549 จะต้องติดชิพที่ตัวสินค้าแน่ๆ อยู่แล้ว ซึ่งงานนี้รวมเอาผู้ส่งออกชาวไทยเข้าไปด้วย และในขณะนี้ปัญหาที่ติดอยู่ของเทคโนโลยีนี้คือ ติดอยู่ที่ราคา เนื่องจากราคาชิพอาร์เอฟไอดีต่อชิ้นขณะนี้ยังคงมีราคาสูงอยู่ ที่ประมาณชิ้นละ 20 บาทเลยทีเดียว ซึ่ง ณ ตรงจุดนี้ ผู้ผลิตสินค้าเองต้องเป็นผู้ติดชิพและแบกรับค่าใช้จ่ายตรงจุดนี้

 

ผศ.ดร.เลิศศักดิ์ เลขวัต อาจารย์ประจำภาควิชาไมโครอิเล็กทรอนิกส์ คณะเทคโนโลยีชั้นสูง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) และผู้อำนวยการฝ่ายการขายและการตลาด บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อวอลล์มาร์ประกาศบังคับให้ผู้ที่จะขายของให้ต้องติดชิพ เพื่อช่วยให้ง่ายต่อการตรวจสต็อกสินค้าและการบริหารจัดการอื่นๆ รูปแบบของชิพที่ติดหรืออาจจะเป็นกระดุมเย็บติดกับสินค้าต้องมีราคาถูก อยู่ที่ประมาณ 10 เซนต์ หรืออาจต่ำถึง 5 เซนต์ แต่ปัญหากลับอยู่ที่ เทคโนโลยีตอนนี้ยังทำให้ราคาถูกได้ไม่มากนัก เพราะการที่จะทำให้ชิพราคาถูกลงมาได้ขึ้นอยู่กับจำนวนที่ผลิตด้วย ซึ่งหากผลิตน้อย ราคาต่อหน่วยก็จะสูง หากผลิตมากขึ้นราคาก็จะต่ำลง และอาจลงไปถึง 5 เซนต์ต่อชิ้นเลยทีเดียว แต่จำนวนที่ผลิตต้องเป็นหลักพันล้านขึ้นไป อ.เลิศศักดิ์ เผย หมายถึง งานนี้หากผู้ผลิตสินค้าหันมาติดชิพอัจฉริยะนี้แทนการติดบาร์โค้ดเพื่อระบุราคาสินค้ากันมากๆ ชิพที่ราคาสูงจะถูกดึงลงมาให้ราคาต่ำลง ด้วยเหตุผลที่ว่า ค่าใช้จ่ายตายตัว (fixed cost) ต่างๆ ที่มีอยู่ถูกลดทอนลงด้วยตัวหารของจำนวนชิพที่ผลิต ทำให้ราคาต่อหน่วยลดลง (เรื่องนี้คนที่บวก ลบ คูณ หาร เป็นคงเข้าใจ)

 

ในการที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้งานก็เหมือนกับเกมงูกินหาง คือทำให้ราคาถูกลงสิ แล้วจะมีการใช้เพิ่มมากขึ้น อีกด้านหนึ่งก็จะเป็นแบบว่า ใช้งานมากๆ สิ ราคาก็จะถูกลง การที่วอลล์มาร์ทกำหนดข้อบังคับติดชิพอาร์เอฟไอดีนี้ก็จะมาเบรกงูกินหางนี้ลงได้ทางหนึ่ง อาจารย์จากเอไอทีให้ความเห็น และเสริมต่อว่า การบังคับติดแบบนี้เท่ากับเป็นการดึงให้นำเทคโนโลยีมาใช้จริง และเป็นการเพิ่มจำนวนการผลิตชิพอาร์เอฟไอดีส่งผลให้ราคาถูกลง (ตามเหตุผลของคนรู้คณิตศาสตร์) อีกทั้งเป็นการเร่งให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีกว่า เพื่อทำให้ราคาชิพถูกลงอีกทางหนึ่งด้วย เพราะงานนี้เอง ที่ใครยังอยากจะส่งสินค้าไปวางขายที่วอลล์มาร์ทก็ถูกบังคับไปโดยปริยาย ให้ติดชิพไฮเทค

 

ด้าน คุณสมิทธิ์ ก็มองตรงจุดนี้ว่า เมื่อทางวอลล์มาร์ท ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกรายยักษ์ของสหรัฐออกโรงบังคับกันแล้วอย่างนี้ ในเรื่องราคาชิพซึ่งตอนนี้ตกอยู่ที่ราคา 20 บาทต่อชิพหนึ่งชุด ทางผู้ส่งออกก็ต้องพร้อมในจุดนี้ เพราะถ้าคุณจะส่งสินค้าไปขายให้วอลล์มาร์ท คุณก็ต้องรับผิดชอบราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาอย่างหน้าชื่นอกตรม คุณสมิทธิ์เลยกล่าวแนะว่า เพื่อให้ไม่เป็นการเสียเปล่า ไหนๆ ก็ต้องติดชิพตัวนี้แล้ว ผู้ส่งออกก็สามารถนำเทคโนโลยีตรงนี้ไปใช้ในด้านอื่น เพื่อเป็นการทอนค่าใช้จ่ายที่ต้องเพิ่มขึ้นเปล่าๆ ลง อย่างเช่น การนำไปเช็คสต็อก การใช้เก็บข้อมูลสินค้า และอาร์เอฟไอดีก็ไม่ใช่แค่ว่าจะใช้กันแค่ในวงการค้าปลีกเท่านั้น..

 

ห้องสมุดไฮเทค

ไม่ใช่แค่ในระบบการค้าปลีกเท่านั้นที่จะใช้เทคโนโลยีนี้ ห้องสมุดก็สามารถนำมาใช้ได้ และที่น่าสนใจคือ ห้องสมุดไฮเทคที่ว่านี้ อยู่ในประเทศไทยเองด้วย คุณสมิทธิ์ เผยว่า ขณะนี้ได้มีห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งของไทยได้ลองนำเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีมาใช้นำร่องกับระบบห้องสมุด โดยที่ทางไอเดนติไฟล์เป็นผู้ทำโซลูชั่นให้ เพียงติดชิพอาร์เอฟไอดีไว้ที่หนังสือในห้องสมุด แล้วใส่ข้อมูลต่างๆ ของหนังสือเล่มนั้นๆ ไว้ในชิพ อย่างเช่น ข้อมูลชื่อหนังสือ ประเภทหนังสือ ชั้นที่เก็บหนังสือ และติดเครื่องอ่านไว้ตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งการนำเอาอาร์เอฟไอดีมาใช้กับระบบห้องสมุดนี้ คุณสมิทธิ์ เล่าว่า จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ดูแลและผู้ที่มาใช้บริการห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็น การยืมหรือคืนหนังสือ ที่สามารถทำได้ในคราวเดียว ไม่ต้องมานั่งคีย์ข้อมูลของหนังสือแต่ละเล่มแบบทีละเล่ม หรือไม่ต้องมานั่งยิงบาร์โค้ดไปทีละเล่ม เมื่อผู้ใช้บริการเดินผ่านเครื่องอ่าน เครื่องจะรับส่งสัญญาณวิทยุกับตัวชิพที่ติดในหนังสือ เพิ่มความรวดเร็วในการยืม-คืน งานนี้ถือเป็นความโชคดีของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่ต้องมาใช้บริการห้องสมุดอยู่บ่อยๆ จะได้ไม่ต้องมายืนรอเจ้าหน้าที่ที่ชอบทำหน้าดุและชอบให้บริการแบบเชื่องช้าแบบไม่ทันใจวัยรุ่นอีกต่อไป และนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ไม่ใช่มีข้อดีแค่นี้ คุณสมิทธิ์ เล่าต่อว่า เมื่อนำมาใช้ร่วมกับระบบคอมพิวเตอร์ในห้องสมุด จะช่วยตรวจสอบให้ด้วยว่า หนังสือเล่มที่นักศึกษาต้องการได้ถูกยืมไปหรือยัง กับการใช้เพียงระบบคอมพิวเตอร์ในการสืบค้นข้อมูลแบบเก่า ถึงในฐานข้อมูลจะบอกไว้ว่าหนังสือเล่มนี้ๆ ยังไม่มีใครยืมไป ทว่าเมื่อเดินไปคุ้ยๆ บนชั้นหนังสือแล้วกลับปรากฏว่า หนังสือได้หายตัวไปเสียแล้ว แต่กับหนังสือติดชิพอัจฉริยะนี้ เพียงเครื่องอ่านที่บริเวณชั้นหนังสือได้รับสัญญาณจากชิพว่าหนังสือถูกเก็บไว้ผิดที่ผิดทาง ก็จะระบุออกมาได้ว่าหนังสือเล่มนี้ๆ ขณะนี้ไปปรากฏตัวที่ชั้นหนังสือนี้ๆ นะ เป็นการป้องกันการซ่อนหนังสือห้องสมุด

แม้แต่ปัญหาการขโมยหนังสือของห้องสมุดก็สามารถป้องกันได้ เพราะชิพที่ติดที่หนังสือนี้เมื่อเดินทางผ่านเข้ามาในบริเวณพื้นที่รัศมีการอ่านของเครื่องอ่าน ก็จะได้รับและส่งสัญญาณวิทยุคุยกับเครื่องทันที และด้วยความเป็นคลื่นวิทยุนี้จึงช่วยให้สามารถส่งสัญญาณทะลวงออกมาจากกระเป๋าที่จะใช้ซ่อนหนังสือได้

 

หรือบางทีเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีอาจจะอยู่ในที่ที่เรานึกไม่ถึง อย่าง บัตรพนักงาน ในบางบริษัทมีการฝังชิพเข้าไปในบัตรพนักงาน เมื่อมาถึงบริษัทในตอนเช้าก็เพียงนำบัตรพนักงานมาสัมผัสกับเครื่องอ่าน สะดวกขึ้นมากจากที่เมื่อก่อนต้องรีบวิ่งมารูดบัตรให้ทัน แล้วการรูดบัตรบางทีต้องอาศัยจังหวะดีๆ บางคนรีบมากๆ รูดบัตรอย่างไรก็ไม่ได้เสียที การนำเพียงบัตรมาสัมผัสกับเครื่องอ่านก็จะช่วยในตรงจุดนี้ได้ เพราะอย่างที่บอก ชิพส่งสัญญาณกันเป็นคลื่นวิทยุ แค่เข้ามาในรัศมีทำการของเครื่องอ่าน ก็สามารถอ่านข้อมูลได้แล้ว ซึ่งตัวอย่างง่ายๆ ที่ใช้บัตรประจำตัวพลาสติกติดชิพนี้ก็คือ บัตรประจำตัวของผู้ที่มาเข้าร่วมประชุมความร่วมมือกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ที่จัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง หรืออาจจะไฮเทคกันไปกว่านั้น อ.เลิศศักดิ์ เล่าถึง โทรศัพท์มือถือที่ฝังชิพ และในชิพนั้นอาจจะมีข้อมูลต่างๆ ของเราอยู่ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน บัตรเครดิต เพียงโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่อง เราก็สามารถใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของในร้านค้า จ่ายค่าสาธารณูปโภค หรือแม้แต่จ่ายค่ารถประจำทาง มีข้อแม้เพียงแค่ว่า มีชิพกับมีเครื่องอ่านเท่านั้นเอง ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้กับโทรศัพท์มือถือ อ.เลิศศักดิ์ มองว่าน่าจะมีขึ้นจริงภายในอีก 2-3 ปี โดยจะเจาะจากตลาดบนก่อน แล้ว 4-5 ปีหลังจากนั้นก็จะมีใช้แพร่หลายมากขึ้น

 

.เลิศศักดิ์ เผยต่อไปว่า ไม่แน่ว่าต่อไปอี-พาสปอร์ต (หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์) อาจมีการนำเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีมาใช้ ผู้ที่เดินทางเมื่อเดินผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองก็จะไม่ต้องยื่นหนังสือให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อรูดกับเครื่องอ่านแล้วผ่านเข้าไปอีกต่อไปแล้ว แต่จะสามารถเดินถือหนังสือเดินทางผ่านประตูที่ติดเครื่องอ่านเอาไว้ได้เลย เครื่องก็จะสามารถอ่านข้อมูลหมายเลข ประวัติการเดินทาง ช่วยให้กระบวนการในการตรวจคนเข้าเมืองทำได้เร็วขึ้น และป้องกันการปลอมหนังสือเดินทางได้อีกต่อไปด้วย "กับสนามบินก็นำเทคโนโลยีอาร์เอฟไอดีมาช่วยได้ในการบรรทุกกระเป๋าขึ้นเครื่องบิน อาจจะทำเป็นป้ายติดชิพระบุข้อมูลต่างๆ จะช่วยให้ตรวจกระเป๋าง่ายและสะดวกขึ้น ช่วยให้ระบบติดตามกระเป๋าทำได้ดีกว่า สามารถทำได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน ซึ่งในขณะนี้มีสนามบินของหลายประเทศที่เปลี่ยนจากระบบบาร์โค้ดมาใช้อาร์เอฟไอดี ไม่ว่าจะเป็น สนามบินฮ่องกง สนามบินในสหรัฐหลายแห่ง ในยุโรปอีกหลายแห่ง ส่วนหนองงูเห่าของไทยยังจะใช้เป็นบาร์โค้ดอยู่เลย ซึ่งมีการทำนายผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการที่สนามบินแห่งนี้ไว้ว่าจะถึง 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งหากยังใช้บาร์โค้ดอยู่ก็อาจจะรองรับไม่ไหว" ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดของซิลิคอน กล่าว

 

สำหรับขณะนี้อาร์เอฟไอดียังเป็นเทคโนโลยีใหม่ กับการที่จะนำมาใช้แพร่หลายได้หรือไม่นั้น ระยะทางของอาร์เอฟไอดียังอยู่อีกยาวไกล กรรมการผู้จัดการของไอเดนติไฟล์ ว่าไว้ว่า "อาร์เอฟไอดีก็เหมือนกับโทรศัพท์มือถือเมื่อ 15 ปีก่อน ที่เป็นของราคาแพง มีคนรู้เรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ไม่มาก ยิ่งคนนำไปใช้ยิ่งน้อย แต่ต่อไปราคาจะถูกลงแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าถูกลงเท่าไรและเมื่อไรเท่านั้น เมื่อราคาถูกลงก็จะเป็นแบบทฤษฎีสโนว์ บอลล์ (snow ball) ที่แรกๆ ยังเล็กอยู่ ตอนกลิ้งใหม่ๆ ก็ยังเพิ่มไม่มาก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว" การทำนายโดยเทียบกับการใช้โทรศัพท์มือถือจะเป็นจริงแค่ไหน รออีกไม่กี่ปีคงได้รู้กัน แต่ที่แน่ๆ ยิ่งกว่าแช่แป้งในตอนนี้ ทางกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็จะเริ่มนำมาใช้ในไก่ชนในการขึ้นทะเบียนสัตว์ปีกแล้ว เรียกว่ารัฐบาลไทยก็พอจะทันสมัยกับเขาบ้างเหมือนกัน

รู้จักกับ..อาร์เอฟไอดี

อาร์เอฟไอดี คือเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้เพื่อระบุตัวตนโดยคลื่นวิทยุ โดยจะประกอบไปด้วย ชิพหรือวงจรไอซี และลวดทองแดงที่ทำหน้าที่เป็นเสาอากาศ (Antenna) และตัวเครื่องอ่านสัญญาณวิทยุ และเซิร์ฟเวอร์

หลักการทำงานของเทคโนโลยีชนิดนี้ เมื่อชิพผ่านเข้าไปในพื้นที่ที่สามารถอ่านสัญญาณวิทยุได้ (Read Zone) ระบบจะสามารถเก็บข้อมูลโดยอัตโนมัติด้วยระบบไร้สายผ่านคลื่นวิทยุ โดยเครื่องอ่านจะอ่านข้อมูลจากชิพอาร์เอฟไอดี และส่งข้อมูลไปยังระบบเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งจะมีแอพพลิเคชั่นอยู่ในนั้นว่า ถ้าเป็นข้อมูลในแบบนี้จะทำอย่างไรกับตัวของที่ติดชิพ ตัวเครื่องอ่านสัญญาณวิทยุนี้จะสามารถรับสัญญาณวิทยุจากชิพได้ในพื้นที่ที่มีรัศมีตั้งแต่ 10 เซนติเมตรจนถึง 3 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับชิพที่ใช้ และสามารถกำหนดได้จากชิพว่าจะให้เป็นการสื่อสารแบบทางเดียวหรือ 2 ทางกับเครื่องอ่านก็ได้ และด้วยรัศมีการอ่านที่ไกลสุดเพียง 3 กิโลเมตรนี้ ทำให้สิ่งของติดชิพที่อยู่นอกพื้นที่จะไม่ถูกอ่านข้อมูล

 

เทียบข้อดี-เสียระหว่างอาร์เอฟไอดีกับบาร์โค้ด

อาร์เอฟไอดี จะสามารถอ่านข้อมูลได้เลย โดยไม่ต้องนำตัวของไปจ่อกับเครื่องทีละชิ้นๆ แบบบาร์โค้ด และด้วยความที่เป็นการส่งสัญญาณวิทยุทำให้อ่านข้อมูลได้ทีละมากๆ อ่านข้อมูลของได้ทีเดียวทั้งหมด ชิพสามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าบาร์โค้ด ปลอมแปลงได้ยากกว่า ป้ายอาร์เอฟไอดีสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ข้อเสีย การใช้งานขึ้นอยู่กับโครงสร้างที่นำไปใช้ คือปรับตามสภาพการใช้งาน ราคาสูงกว่าบาร์โค้ดมาก

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.