"Aggregater" ห่วงโซ่เส้นใหม่เพิ่มมูลค่าธุรกิจสื่อสาร&ข้อมูล

 

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือที่เรารู้จัก กันในชื่อเดิม "องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือ ทศท.)" ได้เปิดเผยผลการศึกษา ที่น่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจให้บริการ ด้านสื่อสาร โทรคมนาคม ในประเทศไทย ครอบคลุมทั้งขนาดของตลาด, การเติบโต รวมถึงประมาณการรายได้ เปรียบเทียบระหว่าง โทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรศัพท์พื้นฐาน ตลอดจนแนวโน้ม ของตลาดให้บริการข้อมูล ซึ่งกำลังเป็นช่องทางรายได้ใหม่ ของผู้ให้บริการในตลาดนี้

 

ผลการศึกษาดังกล่าวระบุว่า ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ตลาดรวมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในประเทศไทย มีประมาณ 13 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนการใช้งาน 20.6% จากประชากรรวมทั้งประเทศ (penentration rate) และคาดว่า จะเพิ่มเป็น 45.9% ภายในปี 2549 โดยมีประมาณการขยายตัวของตลาดถึงปีดังกล่าวเฉลี่ย 18.9% ขณะที่รายได้เติบโตเฉลี่ยอยู่ในระดับ 12.2% ต่อปี

 

ส่วนตลาดโทรศัพท์พื้นฐานในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มียอดทั้งสิ้นกว่า 6 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วน 10.1% ของประชากรรวม และ คาดว่า จะเพิ่มเป็น 12.7% หรือจำนวน 8.6 ล้านเลขหมาย ภายในปี 2549 โดยมีประมาณการเติบโตของรายได้ในช่วง 5 ปี (2545-2549) เฉลี่ย 5.7% ต่อปี ขณะตลาดให้บริการข้อมูล (ดาต้า เซอร์วิส) ซึ่งเริ่มเป็นดาวรุ่งมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทั้งจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านวงจร ไปจนถึงการต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ต มีมูลค่าตลาดรวมปีที่ผ่านมาถึง 13,988 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า จะเพิ่มเป็น 48,468 ล้านบาท ภายในปี 2549

 

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันยังไม่มีการแยกย่อยออกมาอย่างชัดเจนถึงมูลค่าตลาดการให้บริการผ่านสื่อ (media) แต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นผ่านสายโทรศัพท์ เช่น อินเทอร์เน็ต หรือวงจรเช่าสำหรับลูกค้าองค์กร, เครือข่ายสื่อสารไร้สาย เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือคอมพิวเตอร์พกพา เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากขึ้นก็คือ การผสานกันของ "สื่อ" ประเภทต่างๆ ในการเป็นช่องทางสื่อสาร หรือให้บริการข้อมูลถึงผู้ใช้อุปกรณ์พกพาอิเล็กทรอนิกส์ได้แบบทุกที่ทุกเวลา

 

ปัจจัยดังกล่าวทำให้โอกาสเข้าถึงข้อมูลเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับผู้บริโภค ขณะที่ ผู้ให้บริการก็มีโอกาสสร้างรายได้สูงขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ยอดผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เติบโตขึ้นในหลักเกินครึ่งล้านเครื่องต่อเดือนอย่างปัจจุบัน

โดยผลวิจัยตลาดบริการข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โมบาย ดาต้า) ของบริษัท ซีเมนส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ก็ระบุว่า มีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เกือบ 10% ที่ใช้บริการด้านนี้ทุกวัน และประมาณ 15% ใช้บริการนี้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และเกือบ 20% เข้าสู่บริการนี้ 2-3 ครั้งต่อเดือน

 

ผู้ให้บริการปรับตัวชิงโอกาสใหม่

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทีเอ ผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน 2.6 ล้านเลขหมายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และบริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล่าวว่า บทบาทของผู้ให้บริการด้านสื่อสารต้องปรับตัวไปสู่การเป็น "Solution and Aggregation Provider" เพราะต่อไปการให้บริการเครือข่ายต่างๆ จะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่ การเพิ่มมูลค่าให้กับทั้งธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรศัพท์พื้นฐาน

 

สำหรับบริการที่เรียกว่า aggregation จะครอบคลุมตั้งแต่ขั้นรวบรวมคอนเทนท์เข้ามาอยู่ในโครงข่าย ไปจนถึงบริการจัดการด้านการตลาด ไปจนถึงการส่งข้อมูลถึงมือลูกค้า ตลอดจนจัดเก็บค่าบริการ ซึ่งผู้ที่ให้บริการโครงข่ายจะมีศักยภาพความพร้อมอยู่แล้ว "ผู้ให้บริการ (โอเปอเรเตอร์) จะต้องเป็น aggregater เองจึงจะดี เพราะปัจจุบันสาเหตุที่คอนเทนท์ยังมีไม่มาก เพราะผู้พัฒนาไม่สามารถเก็บค่าบริการได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้บริการแวพไม่เกิด ในช่วงที่ผ่านมา" นายศุภชัย กล่าว

 

ได้แรงขับจากโทรศัพท์มือถือ

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า "โทรศัพท์เคลื่อนที่" จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำธุรกิจในรูปแบบดังกล่าว เนื่องจากเทคโนโลยีเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งเปลี่ยนแปลงไป จะเข้ามามีบทบาท โดยเครื่องจะออกมาในรุ่นที่เป็นจอสีมากขึ้น, รองรับการใช้บริการด้านข้อมูลมากขึ้น ขณะเดียวกัน โทรศัพท์รุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาจะเป็นโทรศัพท์เฉพาะบุคคลมากขึ้น (เพอร์ซันนัลไลซ์) โดยผู้ใช้จะรู้ว่าตัวเองสนใจอะไร และเครื่องโทรศัพท์จะเป็นอุปกรณ์ในการรับข้อมูลเข้ามาก รวมถึงเชื่อมต่อเราเข้าไปยังแหล่งข้อมูลเรื่องนั้นๆ

 

โดยปัจจุบันแม้จะมีคอนเทนท์สำหรับให้บริการแล้ว แต่ก็ยังมีการใช้งานไม่มาก แต่ในปีหน้าจะกระตุ้นให้มีการใช้มากขึ้น ทั้งจากปัจจัยของเทคโนโลยีเครื่องลูกข่ายข้างต้น ผนวกไปกับการให้ความรู้กับตลาดว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ใช่เพียงแต่สนับสนุนการใช้งานด้านเสียงเท่านั้น แต่ยังเข้าไปสู่คอนเทนท์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ด้วย โดยมีคอนเทนท์ให้เข้าไปดูมากขึ้น ทำให้เป็นคอมมูนิตี้มากขึ้น เนื่องจากลูกค้าจะมีปฏิสัมพันธ์ (อินเตอร์แอคทีฟ) กันเองผ่านเครือข่ายให้บริการสื่อสารที่ใช้อยู่ และยังเป็นการติดต่อกันด้วยเรื่องที่เป็นความสนใจเฉพาะกลุ่ม ทำให้เกิดการใช้งานมาก เท่ากับการให้บริการของเราจะลงไปในแนวลึกมากขึ้น จากปัจจุบันที่เป็นแนวกว้างที่ให้บริการเหมือนๆ กันกับลูกค้าทุกคน "การเกิดคอมมูนิตี้ จะมีความสำคัญกับธุรกิจด้านสื่อสารโทรคมนาคม เพราะกระตุ้นให้เกิดการใช้งานมากขึ้น มีการใช้ประโยชน์จากเครือข่าย (ยูทิไลซ์ เน็ตเวิร์ค) มากขึ้น ทำให้รายได้จากเครือข่ายสูงขึ้นด้วย" นายศุภชัย กล่าว ขณะเดียวกัน ในส่วนของผู้ใช้บริการเอง จะลดต้นทุนการใช้จ่ายในการดำเนินธุรกรรม หรือเข้าไปถึงแหล่งข้อมูล เนื่องจากสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ผ่านเครือข่ายออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ในภาคธุรกิจอื่นๆ ก็คงจะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในส่วนนี้เช่นกัน

 

จาวาโฟน ตัวเร่งความสำเร็จ

ด้าน นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงษา ซีอีโอ บริษัท อาริยะ โซลูชั่นส์ อิงค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้าน Solution and content aggregater ให้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ "ไอ-โหมด" ในประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า เครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเทคโนโลยีจาวา (จาวาโฟน) ก็จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสร้างตลาดโมบาย คอนเทนท์ โดยยกตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนเครื่องลูกข่ายใหม่ๆ ประมาณ 40% ต่างรองรับเทคโนโลยีจาวาแล้ว โดยมียอดใช้งานถึง 30 ล้านเครื่อง ด้วยรุ่นที่หลากหลายมากกว่า 20 รุ่น

"จาวาโฟนค่อนข้างสอดคล้องกับสภาพของตลาดไทย ที่เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ เนื่องจากสามารถเก็บข้อมูลไว้ในเครื่อง เมื่ออยู่ในที่ซึ่งเครือข่ายสัญญาณไปไม่ถึง และเมื่อไปยังบริเวณที่มีสัญญาณแล้ว จึงค่อยเรียกออกมาใช้ได้" นายปุณณมาศ กล่าว ขณะที่ ผู้ให้บริการคอนเทนท์ก็ควรพัฒนาระบบที่สนับสนุนความสะดวกในการเข้าไปดาวน์โหลดข้อมูล หรือบริการ เช่น การเข้าถึงข้อมูลด้วยการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว (one click)

 

ต้องปรับรูปแบบการแบ่งรายได้

พร้อมกันนี้ ในการสร้างความสำเร็จให้กับบริการข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือโมบาย ดาต้า นั้น ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด (mind set) และพยายามสร้างแรงจูงใจ (อินเซนทีฟ) ให้คนเข้ามาขายคอนเทนท์ในเครือข่ายให้มากที่สุด เนื่องจากในมุมมองของเขาแล้ว "คอนเทนท์" จะเป็นโอกาสแรกสำหรับธุรกิจโมบาย ดาต้า นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำเป็นต้องให้การสนับสนุนด้านเทคนิค และการตลาดด้วย นอกเหนือจากผู้ผลิตเครื่อง ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการเติบโตให้กับตลาดในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าอาจเห็นความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนในราวไตรมาส 1 ปีหน้า

 

3 กุญแจสู่ความสำเร็จ

นายปุณณมาศ กล่าวว่า ความสำเร็จในการทำธุรกิจด้านนี้ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย เทคโนโลยี, รูปแบบธุรกิจ และการตลาด โดยในส่วนของรูปแบบธุรกิจนั้น ก็คือ วิธีการคิดค่าบริการ และจัดเก็บเงินผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งวิธีจัดเก็บเงินทำได้ 2 แนวทาง ได้แก่ จ่ายตามการดาวน์โหลด ซึ่งในญี่ปุ่นคิดค่าบริการประมาณ 3-100 บาทต่อครั้ง และคิดแบบรายเดือนในอัตราราว 30-100 บาทต่อเดือน ส่วนต้นทุนในการพัฒนา โดยประเมินจากกำลังคน แบ่งเป็นการใช้พนักงาน 3-4 คนต่อ 1 แอพพลิเคชั่น, 2 คน ในส่วนของซอฟต์แวร์, 1 คน สำหรับดูแลการวางแผนงาน และออกแบบ และอีก 1 คน รับผิดชอบงานสนับสนุน

 

ทีเอ พร้อมนำร่องปรับส่วนแบ่ง

นายศุภชัย กล่าวว่า จากความพร้อมของกลุ่มทีเอที่มีธุรกิจทั้ง 2 ด้าน ดังนั้น คอนเทนท์ที่มีผู้พัฒนาป้อนเข้ามาให้ จะสามารถให้บริการได้กับลูกค้าคนเดียวกัน ซึ่งใช้บริการทั้งสองบริการอยู่ โดยต่อไปเมื่อมีลูกค้าเข้ามาสมัครใช้บริการทีเอ ออเร้นจ์ ก็อาจลงทะเบียนข้อมูลในเรื่องความสนใจส่วนตัวเอาไว้ ดังนั้น ระหว่างวันเมื่อมีข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวก็สามารถส่งเป็นข้อความแจ้งไปยังเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของลูกค้ารายนั้น ซึ่งเมื่อกลับไปบ้านก็เข้าไปออนไลน์ดูข้อมูลนั้นๆ เพิ่มได้ "หรืออาจไปกับธุรกิจของยูบีซี เช่น เมื่อมีถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา ก็อาจมีการทำกิจกรรมโหวตผ่านโทรมือถือได้" ขณะเดียวกัน รูปแบบบริการดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การปรับรูปแบบจัดแบ่งผลตอบแทนรายได้ ระหว่างโอเปอเรเตอร์, ผู้พัฒนาคอนเทนท์ ซึ่งอาจปรับจากปัจจุบัน 50 ต่อ 50 เป็นการแบ่งรายได้ให้ผู้พัฒนาคอนเทนท์ในสัดส่วนที่สูงขึ้น เนื่องจากคอนเทนท์ประเภทหนึ่งๆ สามารถให้บริการลูกค้าได้หลากหลายช่องทางขึ้น ทำให้มีปริมาณการเข้ามาใช้งานมากขึ้น สร้างรายได้จากโครงข่ายกับผู้ให้บริการมากขึ้น รวมทั้งเป็น วิน วิน โซลูชั่น สำหรับทั้งโอเปอเรเตอร์, ผู้พัฒนาคอนเทนท์ และผู้บริโภค ที่จะมีบริการใหม่ๆ ออกมาเสริมความต้องการใช้งานอย่างต่อเนื่อง

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.