กิ๊ง ก่อง! บรอดแบนด์ส่งตรงถึงบ้านแล้วค่ะ

เอกรัตน์ สาธุธรรม

"แยงกี้ กรุ๊ป" ประมาณการผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ในเอเชียตั้งแต่ปี 2544 - 2553 (2001-2010) ว่า 30-50% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต จะใช้บริการบรอดแบนด์ โดยจะเริ่มต้นจากผู้ใช้ที่มีความต้องการเฉพาะ แล้วขยายเข้าไปในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปภายหลัง" "รายงานของทีเอสเอ เอเชียแปซิฟิก ประมาณการไว้ว่า ยอดผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ระหว่างปี 2544-2548 จะเติบโตขึ้น 2.7 เท่า"

 

"ตลาดกลุ่มผู้ใช้บรอดแบนด์จะใช้เวลาท่องโลกออนไลน์มากกว่าผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต แบบหมุน (ไดอัล อัพ) 4 เท่า ขณะที่ มูลค่าตลาดของบริการบรอดแบนด์ จะเติบโตถึงหลักหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ"  "300 ล้านครัวเรือน คือตัวเลขการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใน 20 ประเทศชั้นนำทั่วโลก ที่มีผู้ใช้บรอดแบนด์ในช่วง 36 เดือนที่ผ่านมา โดยกว่า 40 ล้านครัวเรือน และธุรกิจต่างเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และกว่า 100 ล้านคน เป็นสมาชิกบริการความเร็วสูง"  "แน่นอนว่า บรอดแบนด์ จะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มีการเติบโตสูงที่สุด โดยเฉพาะในบางประเทศ เช่น สหรัฐที่มีผู้ใช้บรอดแบนด์ 25% ของประชากร ถือเป็นการขยายตัวที่เร็วกว่าพีซีและการใช้โทรศัพท์มือถือ"

....................................................................................

ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นดูเหมือนจะบอกถึงความ "ตื่นเต้น" และ "ตื่นตัว" กับเทคโนโลยีที่ว่ากันว่าจะเข้ามา "พลิก" การใช้งานอินเทอร์เน็ตจากปัจจุบัน "ความเร็ว" คือคำนิยามของเทคโนโลยีนี้ "บรอดแบนด์" หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกำลังกลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกจับตา แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีคนพูดถึงบรอดแบนด์กันหนาหู แต่ช่วงนี้ถือว่า "หนาหูกว่า" ที่ผ่านมา วงสนทนาไอทีมักจะพูดถึง "บรอดแบนด์" ว่าเป็นเทคโนโลยีราคาแพง น่าจะมีประโยชน์อย่างสูงสุดกับกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นองค์กรธุรกิจมากกว่า ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงบรอดแบนด์ในมุมมองของ "ผู้บริโภค" (Consumer) แบบเราๆ ท่านๆ กันแบบจริงจังกันเลยว่า บริการบรอดแบนด์ในรูปแบบไหน จะมาแรง สร้างความจูงใจให้กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปได้ใช้บริการ แต่จากนโยบายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) ที่เร่งให้หน่วยงานในสังกัดลดราคาค่าเช่าวงจร และค่าบริการรายเดือนของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ลงนั้น จะเป็นตัวกระตุ้นการใช้งานมหาศาล

 

บรอดแบนด์อีกทางเลือกโฮมยูส

นายตฤณ ตัณฑเศรษฐี กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า บริการบรอดแบนด์ในมุมของผู้ใช้ทั่วไป ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ใช้ที่ต้องการความเร็ว ความมีประสิทธิภาพมากขึ้นของการใช้อินเทอร์เน็ต "เมืองไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย ใครจะเลือกอะไรใช้อะไรก็เลือกได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องใช้แค่ในกลุ่มธุรกิจ ยูสเซอร์ทั่วไปก็ใช้ได้ ถ้ามีสายโทรศัพท์เข้าถึงตรงไหนก็สามารถใช้งานบรอดแบนด์ได้ เป็นทางเลือกของผู้ใช้ แต่ถ้าบริการบรอดแบนด์ไปถึงแล้ว จะเลือกใช้หรือไม่ ก็แล้วแต่ยูสเซอร์ ถ้าค่าบริการ 1,000 บาทต่อเดือน แพงไปก็จ่ายไดอัล อัพ ก็ได้ เพราะมันถูกมาก ถ้าใช้งานปกติไม่เป็นโรคจิต หรือใช้มากเกินไปนะ" นายตฤณ บอกตรงไปตรงมา

 

นายตฤณ บอกว่า โดยพื้นฐานการบริการบรอดแบนด์ของเมืองไทยปัจจุบัน ยังต้องอาศัยสายโทรศัพท์พื้นฐาน (Fix Line) ซึ่งไทยยังขยายตัวไม่มาก ขณะนี้บ้านเรามีเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานอยู่ 6 ล้าน 6 แสนเลขหมาย และของ บมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่น อีก 5 แสนเลขหมาย รวมทั้งประเทศมีประมาณ 7 ล้าน 1 แสนเลขหมาย เมื่อเทียบกับประชากร 63 ล้านคน ก็ต้องถือว่าไม่สูงนัก "บริการบรอดแบนด์เป็นบริการที่ต้องอิงกับโทรศัพท์พื้นฐาน แต่การที่ขณะนี้เรามีความพยายามจะกระตุ้นตรงนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่โดยส่วนตัวผมมองว่า บิสซิเนส โมเดล หรือรูปแบบธุรกิจที่จะพลิกเกมทั้งหมดนั้น จะเกิดขึ้นหลังจากที่เกิด กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ) ขึ้นมา หลังจาก ที่มีการออกใบอนุญาตแล้วเอาความถี่ต่างๆ ไปใช้ได้ เมื่อถึงตอนนั้นผมเชื่อว่า การบริการบรอดแบนด์จะขยายกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ไม่กระจุกตัว อยู่แค่องค์กรธุรกิจ แต่ผู้บริโภคแบบเราๆ ก็จะมีบริการจากบรอดแบนด์ให้เลือกใช้ได้มากขึ้น และจะไม่กระจุกตัวอยู่แค่พื้นที่ ที่มีเฉพาะโทรศัพท์พื้นฐานอยู่ มันจะเป็นรูปแบบเดียวกันกับการเติบโตของโทรศัพท์พื้นฐาน กับ โทรศัพท์มือถือ" นายตฤณ บอกว่า บริการบรอดแบนด์ที่จะน่าจะเป็นบริการที่เหมาะกับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป และเป็นแอพพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนี้มากที่สุดจะเป็น บริการข้อมูลแบบเรียลไทม์ แอพพลิเคชั่นด้านเอ็นเตอร์เทนเมนท์ รวมถึงบริการที่จะช่วยให้ลูกค้าลดเวลา ค่าใช้จ่าย ส่วนถ้าเป็นแอพพลิเคชั่นในแบบเรียกดู หรือแชทนั้น เขาบอกว่ายังไม่เวิร์ค

 

ทีเอดันบรอดแบนด์สู่บ้าน

นายไพบูลย์ ต.ศิริวานิช ผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไปด้านคอนซูเมอร์ บริษัทเทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า ขณะนี้ ทีเอเองมีบริการบรอดแบนด์ที่รองรับผู้ใช้งานในระดับโฮมยูสอยู่หลายบริการ และที่ดูจะได้รับความนิยม ยังคงอยู่ที่การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เกมออนไลน์ ส่วนบริการที่เหลืออย่าง ทีเอ อีเอนทรานซ์ ซึ่งทำร่วมกับบมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย จะมีรูปแบบของซีมูเลชั่น เทสต์ (Simulation Test) ให้กับผู้ใช้งานด้วย "อย่างในตอนนี้ผมมองว่า สิ่งที่จะมารองรับบรอดแบนด์ได้ดี และตรงจุดที่สุดน่าจะเป็นเกมออนไลน์ ดูได้จากเกมแร็กนาร็อคที่บริษัทจับมือกับทางบีเอ็ม มีเดียเปิดให้ผู้ใช้สายของทีเอสามารถเล่นเกมได้ทันทีที่เชื่อมต่อเข้ามา ซึ่งผลปรากฏว่า คนเข้ามาเล่นเยอะมาก นั่นหมายถึงความตื่นตัว ของการสร้างประสบการณ์ในเทคโนโลยีบรอดแบนด์ของผู้ใช้งานที่เป็นโฮมยูส" นายไพบูลย์ กล่าว

 

นอกจากนี้ ทีเอยังมีโครงการดันบริการบรอดแบนด์สู่กลุ่มโฮมยูส ด้วยโครงการ "ไซเบอร์ วิลเลจ" โดยได้เริ่มที่โครงการบ้านชินณิชา วิลล์ ซึ่งทีเอได้ใส่ เทคโนโลยี เข้าสู่ตัวบ้านในโครงการนี้กว่า 188 หลัง ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายภายในบ้านที่เป็นไวไฟ ความเร็วสูง สายเคเบิลทีวี รวมถึงแอคเซสพ้อยต์ ที่จะถูกติดตั้งอยู่ในภายในบ้าน ซึ่งทางผู้บริหารทีเอบอกว่า เป็นวิธีสำคัญที่จะทำให้ผู้บริโภคทั่วไปเข้าถึงบริการบรอดแบนด์ได้มากขึ้น "สำหรับโครงการนี้จะต้องขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านด้วยว่าต้องการเทคโนโลยีเหล่านี้ประมาณไหน หากต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูง หรืออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ (Broadband Internet) เจ้าของบ้านจะต้องเสียค่าโมเด็ม เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งแตกต่างจากโมเด็ม ที่ใช้ท่องอินเทอร์เน็ตความเร็วปกติทั่วไป ที่มีราคาประมาณ 1,800 บาทต่อตัว และจะต้องเสียค่าบริการรายเดือน ที่จะเกิดจากการใช้บริการเชื่อมต่ออีกด้วย โดยในเรื่องนี้เจ้าของโครงการจะประสานงานกับเจ้าของบ้าน เพื่อติดต่อของบริการนี้จากทีเอ" นายไพบูลย์ กล่าว โครงการนี้จะมีการพัฒนาต่อเนื่องจนเสร็จสมบูรณ์ในราวกลางปี 2547 ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น สิ่งที่เจ้าของบ้าน จะได้รับจากบริการนี้ อาจจะสามารถสั่งเปิด-ปิดไฟ สั่งเปิดแอร์ สามารถดูข่าวได้ทันที ทุกอย่างเป็นออนดีมานด์ สามารถเลือกดูได้ ไม่เพียงเท่านั้น เพราะทีเอยังอยู่ระหว่างความร่วมมือ ประเภทเดียวกันนี้กับผู้พัฒนาโครงการอีก 3 แห่ง

 

นายไพบูลย์ บอกถึงทิศทางของบริการบรอดแบนด์ในปีหน้าทั้งปีว่า ภาพรวมของคนใช้งานในกลุ่มโฮมยูสจะการเติบโตเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาล เข้ามาสนับสนุนทั้งในส่วนของการผลักดันให้เกิดคอนเทนท์ภายในประเทศ และการผลักดันให้ระดับราคาบริการบรอดแบนด์ให้ลดลง "ในปีหน้า ผมมองแนวโน้มของบริการบรอดแบนด์ทั้งปีจะโตขึ้นมาก โดยในฝั่งของผู้ใช้งานทั่วไปเนี่ยจะโตสูงถึง 70-80% เลยทีเดียว ส่วนที่เหลือจะเป็น ฝั่งขององค์กรธุรกิจ ที่บอกว่าฝั่งผู้ใช้งานทั่วไปจะมีสัดส่วนการใช้บริการสูง เพราะเป็นแนวโน้มที่มาจากต่างประเทศ และเมื่อแนวโน้มในต่างประเทศมา จะเป็นตัวผลักดันให้ผู้ให้บริการดันบริการไปสู่กลุ่มลูกค้าทั่วไปมากขึ้น ปีหน้า บริการบรอดแบนด์ที่จะฮิตสุดๆ ในกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปจะเป็นบริการบรอดแบนด์ คาราโอเกะ เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนท์แบบออนดีมานด์"

 

ผุดบ้านไอเอสดีเอ็น

ความตื่นตัวของบรอดแบนด์ที่คืบคลานเข้าไปใกล้กลุ่มผู้ใช้ตามบ้านไม่หมดแค่นี้ ยังมีความพยายามของบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับบริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้ดำเนินโครงการบางกอก บูเลอวาร์ด ผุด "ไอโฮม คอนเซ็ปท์" (ihome Concept) บนถนนรามอินรา-วงแหวน-นวมินทร์ โดยนำระบบบรอดแบนด์ติดตั้งในบ้านทุกหลัง โดยภายในโครงการ ทศท จะติดตั้งเลขหมายไอเอสดีเอ็นขนาด 128เค จำนวน 350 เลขหมาย เอดีเอสแอล 50 เลขหมาย ลีสด์ไลน์ 2 เอ็น 64 กิโลบิตต่อวินาที ขนาด 2 เมกะไบต์ต่อวินาที จำนวน 1 วงจร โทรศัพท์พื้นฐานจำนวน 500 เลขหมาย และโทรศัพท์สาธารณะจำนวน 20 เลขหมาย "บริการไอเอสดีเอ็น ซึ่งเป็นบริการสื่อสารร่วมระบบดิจิทัลที่ทำให้เลขหมายโทรศัพท์เพียงเลขหมายเดียวสามารถใช้โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต และโทรสารได้ในคราวเดียวกัน ส่วนบริการเอดีเอสแอลนั้น เป็นเน็ตความเร็วสูงที่เหมาะกับการทำงาน และใช้ในชีวิตประจำวันที่ต้องการความเร็วรับ-ส่งข้อมูลทางเน็ต ส่วนบริการลีสด์ไลน์นั้นจะเป็นเครือข่ายส่วนบุคคลสำหรับ รับ-ส่งสัญญาณภาพ เสียง และข้อมูลระหว่างสถานที่ 2 แห่ง ได้อย่างรวดเร็ว เช่น บริการเอทีเอ็ม การโอนถ่ายข้อมูลทางการเงินของธนาคาร โทรศัพท์พื้นบาน และโทรศัพท์สาธารณะ ทั้งหมดนี้เป็นบริการที่จะให้กับเจ้าของบ้านทั้งสิ้น" นายวิเชียร นาคสีนวล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทศท อธิบาย

 

ทีเอชี้แนวโน้มบรอดแบนด์ไทย

ด้านนายไพบูลย์ ยังบอกด้วยว่า ถ้าจะพูดถึงภาพของผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ในปีหน้านั้นประมาณ 70% จะใช้อินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่ออยู่แล้ว และอีก 30% จะเป็นบริการทางด้านเนื้อหา โดยภายใน 3-5 ปี ภาพจะกลับกัน ผู้ใช้บริการด้านเนื้อหาที่วิ่งอยู่บนเครือข่ายบรอดแบนด์จะมีมากถึง 70% ของผู้ใช้งาน และอีก 30% จะเป็นการใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบทั่วไป "ผมมองว่า การจะทำให้บริการบรอดแบนด์ในไทยเกิดขึ้นได้เร็วนั้น สิ่งหนึ่งคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบ้านเราจะต้องเข้ามาผลักดัน และมีแรงจูงใจที่จะทำให้เกิดผู้พัฒนาคอนเทนท์ในด้านนี้มากๆ เหมือนอย่างเกมออนไลน์ที่เกาหลีผลักดันจนกลายเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล และก็ส่งผลไปถึงอัตราการเติบโตของบรอดแบนด์พุ่งตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องใช้เวลาสักระยะในการจะทำให้บริการติดตลาด ซึ่งเรื่องแบบนี้เกาหลีทำมาแล้ว" นายไพบูลย์ ตั้งความหวัง

 

นายไพบูลย์ บอกว่า นอกเหนือไปจากเกมออนไลน์แล้ว สิ่งหนึ่งที่จะเป็นตัวผลักดันให้ตลาดเกิด คือ การเกิดขึ้นของโมบาย คอนเทนท์ หรือเนื้อหาบนอุปกรณ์ ไร้สาย โดยเฉพาะกับโทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงเทคโนโลยี 3 จี บนโทรศัพท์ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้เกิดเนื้อหาในประเทศ (Local Content) เพิ่มมากขึ้น เขาบอกด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญ หากบริการบรอดแบนด์เกิดขึ้นนั่นคือ เรื่องของ "อัตราค่าบริการ" ซึ่งแนวโน้มของระดับราคาจะมีหลายปัจจัยเป็นตัวกำหนด ไม่ว่าจะเป็นค่าเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศที่ บมจ. กสท โทรคมนาคม ดูแลอยู่ ซึ่งควรจะมีอัตราลดลง เพราะปัจจุบันเนื้อหาในประเทศยังมีน้อย และถ้ากระทรวงไอซีทีผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ราคาค่าบริการน่าจะอยู่ประมาณ 500-2,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละแพ็คเกจ "สำหรับแอพพลิเคชั่นที่จะดันบรอดแบนด์ในปีหน้า ผมยังยืนยันว่าเป็นเกมออนไลน์ ปีหน้าแตะ 1,000 ล้านบาทแน่นอน ส่วนแอพพลิเคชั่นอื่นที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นการใช้งานบรอดแบนด์ในระดับผู้บริโภคทั่วไปนอกจากเกมแล้ว ผมว่าจะอยู่ที่บริการใน 2 ประเภทนี้ คือ การเล่นหุ้น กับบริการด้านเอ็นเตอร์เทนท์ อย่างเพลงออนไลน์ ซึ่งในตอนนี้ตลาดผู้ใช้บรอดแบนด์ในไทยมีอยู่ประมาณ 12,000 ราย ซึ่งในปีหน้าผมว่าอย่างน้อยน่าจะขึ้นไปแตะถึง 60,000 ราย" นายไพบูลย์ แสดงความเห็น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.