ไอทีไร้พรมแดน / ระบบความปลอดภัยกับไบโอเมทริกซ์

นาวิก นำเสียง
ในช่วงการประชุมเอเปค 2003 ของ 21 ผู้นำเขตเศรษฐกิจโลก เราคงได้เห็นการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด แนวโน้มการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ และการป้องกันการก่อการร้ายข้ามชาติ ได้เปลี่ยนแปลงจากการใช้รหัสผ่าน (พาสเวิร์ด) มาเป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์แทน

 

ผู้ที่เจาะเข้าสู่ฐานข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่เรามักเรียกกันว่า แฮคเกอร์ ได้พัฒนาเทคนิคในการเจาะทะลุผ่านระบบรักษาความปลอดภัยไฟร์วอลล์ ที่มักตรวจสอบความเป็นบุคคลก่อนอนุญาตให้เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลได้ การตรวจสอบโดยทั่วไปก็จะใช้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่าน ซึ่งบรรดาแฮคเกอร์ทั้งหลาย ก็จะพัฒนาเครื่องมือที่จะค้นหารหัสผ่าน (Password-Cracking Tool) แล้วเจาะเข้าสู่ระบบอย่างง่ายดาย นั่นคือปัญหาหลักของการใช้รหัสผ่าน นอกจากนี้ยังมีปัญหาของผู้ใช้งานที่เข้าสู่ระบบได้ โดยไม่ได้ตั้งใจและการลืมรหัสผ่านบ่อยๆ ข้อมูลการศึกษาเรื่องปัญหาการลืมรหัสผ่าน พบว่า ต้นทุนในการให้รหัสผ่านใหม่กับผู้ใช้ที่ชอบลืมรหัสผ่านจะสูงถึง 300 ดอลลาร์ต่อปีต่อคน

 

เทคโนโลยีใหม่ที่ว่าก็คือ การเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยด้วยการยืนยันบุคคลผ่านสื่อ เช่น บัตรสมาร์ทการ์ด ที่บรรจุรหัสส่วนตัวดิจิทัล และจะต้องจับคู่เข้ากับไบโอเมทริกซ์ที่ตรวจวัดบุคคลทางชีวภาพ ได้แก่ โครงสร้างใบหน้า รูปแบบเสียงพูด ดวงตา และลายนิ้วมือ คราวนี้ ผู้ใช้งานคงจะไม่ลืมดวงตาหรือลายนิ้วมือของตนเองแน่ ประมาณมูลค่าของตลาดโดยรวมของระบบไบโอเมทริกซ์อยู่ที่ 119 ล้านดอลลาร์ต่อปี จึงเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้ผลิตและผู้วางระบบ

 

อย่างไรก็ตาม การนำมาใช้ของไบโอเมทริกซ์ ยังเป็นเพียงแค่แนวความคิดอยู่ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปี กว่าที่จะได้เห็นระบบไบโอเมทริกซ์อย่างแพร่หลาย เพราะว่าถ้าคุณต้องเห็นทุกคนส่วนใหญ่ใช้ระบบไบโอเมทริกซ์

ผู้ผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ต้องร่วมมือกันการเชื่อมต่อโปรแกรมกับเครื่องมือวัดไบโอเมทริกซ์ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มพัฒนานี้ได้ตกลงร่วมมือกันมากว่า 2 ปี และอยู่ระหว่างการพัฒนาตามความร่วมมือนี้อยู่

อีกหนึ่งความท้าทายในการใช้ระบบไบโอเมทริกซ์ขององค์กร คือต้นทุนที่ยังสูงอยู่มาก และยิ่งมีการนำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในองค์กรแล้ว ก็นับว่าเป็นต้นทุนที่มหาศาล ดังนั้น เราจึงยังไม่เห็นการนำมาใช้ภายในองค์กรมากนัก แต่กลุ่มรัฐบาลกลับเป็นผู้ที่นำระบบไบโอเมทริกซ์ มาใช้กันมากที่สุด โดยได้มีการใช้งานมานานกว่า 20 ปี แล้ว

 

อย่างโครงการหนังสือเดินทางชีวภาพ หรือพาสปอร์ต ไบโอเมทริกซ์ ของประเทศสหรัฐและยุโรป ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ของภาครัฐ ด้วยการบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ลายนิ้วมือ โครงร่างมือ ม่านตา เป็นต้น ลงในสื่อขนาดเล็ก อย่าง สมาร์ทการ์ด เพื่อที่จะยืนยันบุคคลนั้นจริงๆ เมื่อผ่านเครื่องอ่านที่ติดตั้งที่สนามบินนานาชาติ

 

ประเทศที่จะเริ่มใช้ระบบพาสปอร์ตชีวภาพนี้ก็คือ สหรัฐและออสเตรเลีย จากนั้นก็จะครอบคลุมไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย และไม่เพียงแต่พาสปอร์ตเท่านั้น อนาคตเราคงจะเห็นระบบไบโอเมทริกซ์ ในใบขับขี่ บัตรประชาชน ด้วย ท่ามกลางความสลับซับซ้อนของการใช้ระบบไบโอเมทริกซ์ ก็ยังไม่มีข้อตกลงกันแน่ชัดว่า เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์กับใบหน้า ม่านตา เยื่อตา ลายมือ หรือเสียง อะไรที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งก็ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อไป

ถึงแม้การประชุมเอเปคครั้งนี้ ยังไม่เห็นการใช้ระบบไบโอเมทริกซ์ แต่เชื่อว่าการประชุมสุดยอดในอนาคตอันใกล้ จะต้องพูดถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญแน่

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.