ไบโอแมทริกซ์ ชีวิตดิจิทัลสมบูรณ์แบบ

หยาดพิรุณ นุตสถาปนา

ไบโอแมทริกซ์ ชื่อแปลกที่ฟังดูแล้วไม่น่าจะเป็นภาคต่อของภาพยนตร์เรื่อง "แมทริกซ์ เดอะ เรฟเวลูชั่น" ฟังอีกที อาจคิดว่าเป็นสูตรขจัดคราบแบบใหม่ของผงซักฟอกยี่ห้อหนึ่งที่โฆษณาทางทีวี แท้จริงแล้ว ไบโอแมทริกซ์ เป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยถูกนำมาใช้เพื่อความปลอดภัย และใช้ระบุ ตัวบุคคลได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัวต่างกัน

 

เทคโนโลยีดังกล่าวมีให้เห็นกันเกร่อในภาพยนตร์แนวไซ-ไฟ หลายเรื่อง อาทิ การสแกนม่านตาในหนังเรื่อง "ไมนอริตี้ รีพอร์ต" หรือการสแกนลายนิ้วมือในภาพยนตร์สืบสวนสอบสวน ที่อิงกับการใช้งานจริงในซีไอเอ หน่วยงานข่าวกรองของสหรัฐ และสำนักงานสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ สหรัฐ (เอฟบีไอ) ซึ่งมีใช้มากว่า 25 ปี ภายใต้ชื่อที่เรียกว่า เอฟิส (Automate Fingerprint Identification Systems : AFIS) บางคนไม่เชื่อว่าเทคโนโลยีชั้นสูงระดับนั้นจะโน้มกิ่งลงมาให้คนธรรมดาสามัญอย่างเราๆ ได้สัมผัส แต่จากคำยืนยันของผู้เชี่ยวชาญ ในแวดวงทำให้รู้ว่าไบโอแมทริกซ์กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน และถือเป็นช่องทางทำเงินที่น่าจับตา

 

หมดยุคตอกบัตร

รุ่งคุณ มัยฤทธินาท เจ้าของธุรกิจสตูดิโอถ่ายภาพ และขายส่งอุปกรณ์ถ่ายภาพ บริษัท บิ๊กฟิล์ม เทรดดิ้ง จำกัด เป็นผู้หนึ่งที่หยิบเอาเทคโนโลยีสแกน ลายพิมพ์นิ้วมือเข้ามาใช้ในธุรกิจ "ปัญหาคือพนักงานผมชอบตอกบัตรลงเวลาแทนกัน พอดีไปเจอโฆษณาในนิตยสารว่ามีระบบลงเวลาแบบใหม่ใช้ลายนิ้วมือแทนบัตร ก็เลยลองติดต่อเอามาใช้ดู ตอนนี้ใช้มาได้เกือบ 2 เดือนแล้ว ปัญหาจุกจิกรำคาญใจก็หายไป" นอกจากนี้ ระบบยังสามารถจัดทำรายงานที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารกำลังคน ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณชั่วโมงทำงาน หรือจำนวนวันขาดวันลา จึงไม่แปลกที่รุ่งคุณมีแผนขยายการใช้งานไปอีก 4 สาขาที่มีอยู่

 

บิ๊กฟิล์มเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นของธุรกิจทั่วไปที่เห็นประโยชน์และความสะดวกของเทคโนโลยีใหม่ๆ บริษัทในไทยหลายแห่งหันมาติดตั้ง ระบบลงเวลาด้วยการสแกนลายพิมพ์นิ้วมือแทนการตอกบัตรแบบดั้งเดิมกันแล้ว ด้วยเหตุที่ว่าแก้ปัญหาตอกบัตรแทนกันได้ อีกทั้งยังเสริมภาพพจน์ที่ดีให้กับองค์กรได้อีกต่างหาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เริ่มใช้งานระบบลงเวลารูปแบบใหม่นี้แล้ว ตั้งแต่ก่อนงานประชุมเอเปค 2003 โดยออกแบบเป็นช่องทางเข้า-ออก 3 ช่องเหมือนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ต่างกันตรงที่ไม่ต้องใช้บัตร แต่ใช้นิ้วมือแปะลงไปแทน

 

ไบโอแมทริกซ์ คืออะไร?

บางคนอาจคิดว่าไบโอแมทริกซ์จำกัดวงเฉพาะการใช้ลายพิมพ์นิ้วมือเท่านั้นหรือ จริงๆ แล้ว ไบโอแมทริกซ์ (biometrics) คือ วิธีการใช้ข้อมูลทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะเฉพาะทางกายภาพหรือพฤติกรรม มาใช้ในการตรวจสอบสิทธิหรือแสดงตน เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ ฝ่ามือ เสียง ม่านตา เรตินา ใบหน้า ดีเอ็นเอ และลายเซ็น

สำหรับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ตัวอ่าน หรือตัวสแกน และซอฟต์แวร์ ซึ่งจะแปลงข้อมูลที่สแกนได้ให้อยู่ในรูปดิจิทัล และจัดเก็บลงในฐานข้อมูล จากนั้นเมื่อมีการสแกนข้อมูลเข้าไปใหม่ ระบบจะทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบค่ากับข้อมูลที่บันทึกก่อนหน้านี้ว่าตรงกันหรือไม่ด้วยการใช้ตรรกะทางคณิตศาสตร์เป็นผู้ช่วยสำคัญ การใช้ประโยชน์ไบโอแมทริกซ์ สามารถใช้งานได้เพียงลำพัง หรืออาจใช้ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น เช่น สมาร์ทการ์ด ตัวเลขรหัสผ่าน และลายเซ็นดิจิทัล โดยแอพพลิเคชั่นที่มีให้เห็นแล้วในบ้านเราขณะนี้ ได้แก่ การใช้ลายนิ้วมือแทนกุญแจปลดล็อกประตู เปิด-ปิดไฟ แทนรหัสผ่านเข้าใช้งานพีซี หรือ พีดีเอ และในเร็วๆ นี้ รถยนต์รุ่นใหม่ก็จะมีการนำลายนิ้วมือมาใช้แทนกุญแจปลดล็อกประตูเช่นกัน

 

การที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่เลือกใช้ลายนิ้วมือมาประยุกต์ใช้งานก่อนนั้น ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอทีเวิร์คส์ จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ลงเวลาด้วยลายพิมพ์นิ้วมือ มองว่าเนื่องจากลายนิ้วมือมีข้อดีตรงที่เทคโนโลยีนี้พัฒนาไปจนสุดแล้ว และเป็นระบบความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือและมีราคาถูก "เห็นๆ เลยว่าคอมพิวเตอร์ พีดีเอ เลือกใช้ลายนิ้วมือมาเป็นฟีเจอร์เสริมใช้ล็อกอินก่อนไบโอแมทริกซ์ตัวอื่น เป็นเพราะเทคโนโลยีมันเริ่มถูก ทั้งเซ็นเซอร์ และตัวพีซีเองที่ถูกจนทำตลาดได้กว้างขึ้น และในแง่ความน่าเชื่อถือ ลายนิ้วมือก็อยู่ในระดับที่ยอมรับได้"

 

ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด มหาชน (เอ็มเฟค) ผู้ให้บริการ คำปรึกษา พัฒนา วางระบบ คอมพิวเตอร์ เห็นด้วยว่าเทคโนโลยีลายพิมพ์นิ้วมือมีแนวโน้มที่ชัดเจนที่สุด เพราะต้นทุนไม่แพง ใช้งานง่าย มีแอพพลิเคชั่นหลากหลาย ขณะที่ต้นทุนของข้อมูลชีวภาพตัวอื่นยังแพงอยู่ อาจด้วยแอพพลิเคชั่นมีน้อย ผู้ใช้จึงยังเข้าไม่ถึง  ถ้าดูทิศทางการเติบโตของเทคโนโลยีเชิงกราฟ “เราจะเห็นว่าในรูประฆังคว่ำ ลายพิมพ์นิ้วมือจะอยู่ต้นๆ มาก่อนเพื่อน ส่วนอย่างอื่น เช่น เรตินา ใบหน้าจะตามมาทีหลัง อาจใช้เวลาไล่ตามสัก 1-2 ปี”

 

ศิริวัฒน์ เชื่อว่าอีกไม่นานเทคโนโลยีไบโอแมทริกซ์จะเข้าไปแทนที่ระบบความปลอดภัยแบบเดิมอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นยูสเซอร์ไอดี หรือรหัสผ่าน ด้วยเหตุนี้ การขยายธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย อาทิ ระบบสแกนลายนิ้วมือ และม่านตา จึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP) ที่บริษัทให้ความสำคัญ  ธุรกิจเดิมที่เรามีอยู่ อาจไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมได้ แต่หากเรามีธุรกิจไอพีมาเสริม จะช่วยให้เรารักษาความสามารถ ในการทำกำไรได้อย่างที่ต้องการ เนื่องจากตัวไอพีสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับแอพพลิเคชั่นที่เราทำอยู่ได้

 

เทคโนโลยีลายนิ้วมือ

สำหรับเทคโนโลยีสแกนลายพิมพ์นิ้วมือที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) บอกว่าโดยทั่วไปแล้วอาจแบ่งได้ 3 ลักษณะ ได้แก่ เซ็นเซอร์ประจุไฟฟ้า (capacitive sensor) เซ็นเซอร์อุณหภูมิ (thermal sensor) และเซ็นเซอร์แสง (optical sensor) เทคโนโลยีสองแบบแรก ผู้ใช้ต้องแตะไปที่เซ็นเซอร์โดยตรง ทำให้อายุใช้งานสั้น และมีปัญหาด้านการบำรุงรักษา โดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีอากาศหนาว จะเกิดไฟฟ้าสถิตทำลายผิวเซ็นเซอร์ได้ ขณะที่แบบแสงจะมีความทนทานกว่า และมีคุณสมบัติรวมของเทคโนโลยีอื่นมาไว้ด้วย ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยเจ้าของสแกนเนอร์ลายพิมพ์นิ้วมือสัญชาติไทย ที่กำลังเจรจาร่วมเอกชนนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด จึงตัดสินใจเลือกเทคนิคแสงมาใช้ในชิ้นงานของตน

 

หลักการทำงานของเซ็นเซอร์แสง คือการสะท้อนกลับหมดของแสง ด้วยการอาศัยแสงสีแดงส่องลายนิ้วมือที่วางอยู่บนเลนส์สะท้อนกับตัวหัวเซ็นเซอร์ เช่นเดียวกับการใช้นิ้วจับแก้วที่มีน้ำอยู่ภายใน ซึ่งการสะท้อนของแสงทำให้เรามองเห็นลายนิ้วมือได้อย่างชัดเจน และจากการศึกษาสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้อง ดร.ศรัณย์ พบว่ามีงานวิจัยเรื่องแสงจำภาพลายนิ้วมือ มาตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่ยังมีบางปัญหาที่ยังไม่มีใครสามารถแก้ได้  ปัญหาที่ว่าคือภาพมีกำลังขยายไม่เพียงพอ มองด้วยตาเปล่าไม่ชัดเจน บางแห่งอาจแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มอุปกรณ์พิเศษเข้าไป ทำให้ตัวกล่องใหญ่ขึ้น และต้นทุนก็สูงขึ้น แต่เทคนิคของเราทำให้ความบิดเบือนภาพหายไปได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดตัวอุปกรณ์ แม้ ดร.ศรัณย์จะไม่เปิดเผยเทคนิคพิเศษที่ค้นพบ เพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนของการจดสิทธิบัตร แต่ที่แน่ๆ ราคาถูกกว่าในท้องตลาดหลายเท่าตัว จากที่มีขายในระดับ 4-5 หมื่นบาท อาจลดเหลือเพียงไม่กี่พันบาทเท่านั้น ส่วนซอฟต์แวร์ที่ใช้คู่กันเป็นหน้าที่ของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเนคเทคให้ทุนสนับสนุนอยู่ โดยคณะทำงานกำลังพัฒนาอัลกอริธึ่มในการแปลภาพลายนิ้วมือออกมาเป็นรหัส ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบและปรับแต่งให้ดีขึ้น

 

มุมมองที่แตกต่าง

ถ้าเทียบกับการพัฒนาของภาคเอกชนแล้ว การพัฒนาของภาคเอกชนกำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยพัฒนาออกมาใช้งานคู่กับตัวสแกนเนอร์ได้แล้ว แต่ในด้านตัวฮาร์ดแวร์ยังต้องพึ่งการนำเข้าเป็นหลัก “อย่าง ไอทีเวิร์คส์ ก็เอามาแต่เฉพาะตัวเซ็นเซอร์ ส่วนโปรแกรมใช้งานนั้นพัฒนาขึ้นมาเอง เราเลือกใช้เซ็นเซอร์แบบออฟติคัล เพราะราคาถูก และเชื่อถือได้ ที่สำคัญดีกว่าแบบอื่นๆ ที่ใช้อุณหภูมิ หรือใช้ไฟฟ้า เพราะถ้าเปียก หรือมีไฟฟ้าสถิตเกิดขึ้น ก็จะใช้การไม่ได้เลย” ณัฐวุฒิ กล่าว และเสริมว่าเทคโนโลยีที่เอามา ใช้หลักการเก็บข้อมูลเดียวกับเทคโนโลยีตำรวจ เพียงแต่การเก็บจุดบนนิ้วอาจไม่ละเอียดเท่า ผมมองว่าสิ่งสำคัญคือเรื่องความเร็วในการค้นหาข้อมูลมากกว่า เราจึงเน้นพัฒนาอัลกอริธึ่มให้สามารถสร้างรหัสจากรูปภาพนิ้วที่ได้ ออกมาให้ยาวกว่า 500 ตัว และให้สามารถคำนวณเปรียบเทียบข้อมูลใหม่กับที่มีอยู่ในฐานข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

 

สำหรับแกนหลัก (คอร์) ซอฟต์แวร์นั้น ทีมงานเขียนด้วยภาษาซี ส่วนรูปลักษณ์และลูกเล่นภายนอกเลือกใช้บอร์แลนด์ เดลไฟ แต่ในปีหน้ามีแผนจะเปลี่ยนไปใช้ไมโครซอฟท์ดอทเน็ตแทน ขณะที่เอ็มเฟคกลับเลือกใช้เทคโนโลยี ไฮสปีด เทมเพอราเจอร์ เซ็นเซอร์  ซึ่งใช้การวัดอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างกระเปาะอากาศของลายเส้นนิ้วมือกับผิว ศิริวัฒน์ให้เหตุผลว่าเทคโนโลยีนี้ ลบจุดอ่อนสแกนเนอร์แบบแสงได้ไม่น้อยทีเดียว ปัญหาของออฟติคัลคือทุกครั้งที่ใช้ไป จะทิ้งคราบเอาไว้ ทำให้เสี่ยงต่อการก๊อบปี้ลายนิ้วมือได้ หรือหากมีการเอาลายนิ้วมือคนตายมาใช้ ออฟติคัลจะยอมให้ผ่านได้ แต่สำหรับเทคโนโลยีนี้ หากนิ้วไม่มีอุณหภูมิ ระบบจะไม่ยอมโดยเด็ดขาด ศิริวัฒน์เชื่อว่าเทคโนโลยีออฟติคัลพัฒนามาถึงจุดหนึ่งแล้ว การมองหาเทคโนโลยีอื่นเพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันได้ อย่างเจ้าไฮสปีด เทมเพอราเจอร์ เซ็นเซอร์ ตัวนี้ ก็น่าจะเป็นไปได้

 

ไบโอแมทริกซ์มาแน่..!!

ตอนนี้ตลาดยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ผมคาดการณ์สัก 1-2 ปีข้างหน้า ถ้าสายการบินต่างๆ รวมถึงหนังสือเดินทางหันมาใช้ข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือ ตลาดจะเริ่มขยายตัวมากขึ้น ถ้าเราศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีนี้อย่างครบถ้วน และไปจับช่องว่างตรงนั้นได้ โอกาสชิงส่วนแบ่งตลาดได้ก่อนจะมีมากกว่ารายอื่น ผมมองว่าพวกนี้เป็นเทรนด์ที่ต้องมาแน่นอน บังคับมาด้วยนะ เช่นเดียวกับกรรมการผู้จัดการไอทีเวิร์คส์ ที่เห็นว่าต้องเข้าตลาดให้เร็วที่สุด และต้องดูด้วยว่าเทคโนโลยีไหนที่จะทำให้เราสามารถแข่งขันได้ตั้งแต่เริ่มต้น ?ผมไปดูงานซีบิตที่เยอรมนีทุกปี เห็นได้ชัดว่าเทรนด์ตัวนี้มาแรงมาก และจากการทำตลาดผลิตภัณฑ์ไบโอแมทริกซ์ของเรา พบว่ายอดขายเฉพาะตัวนี้ เกินครึ่งหนึ่งของรายได้ที่บริษัททำทั้งหมด ทั้งที่ทำแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น

 

ณัฐวุฒิ คาดว่าในอนาคต 1-2 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีนี้จะแพร่หลายมากขึ้น โดยจะมีแอพพลิเคชั่นมากมายออกมาสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ลายนิ้วมือแทนกุญแจรถยนต์ การปลดล็อกตู้เซฟ ใช้ผ่านเข้าออกและใช้บริการสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะการใช้แทนบัตรสมาชิก อย่าง สถานพยาบาล ร้านเช่าวิดีโอ ห้องสมุด และสนามกอล์ฟ เทคโนโลยีนี้มาเร็วมาก ผมว่าในเร็วๆ นี้ เราจะเห็นการประยุกต์ใช้งานเยอะขึ้น อย่างตอนนี้โน้ตบุ๊ค และพีดีเอบางตัวก็เอาลายนิ้วมือมาใช้แล้ว อีกหน่อยอาจติดอยู่หลังโทรศัพท์มือถือเลยก็ได้ แค่ถือมันไว้ ก็รู้เลยว่าเป็นตัวคุณ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.