บลูทูธ" เทคโนโลยีที่ยังไม่เห็นฝั่ง

เทคโนโลยีบลูทูธ (Bluetooth) คลื่นสัญญาณวิทยุที่ทำให้อุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ สามารถเชื่อมต่อถึงกันแบบไร้สายได้ในระยะสั้นๆ ดูเหมือนหนทางในการเดินสู่เป้าหมายที่ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ตั้งเอาไว้ค่อนข้างจะยาวไกลเหลือเกิน แม้เจ้าหน้าที่ของบลูทูธ สเปเชียล อินเทอเรสท์ กรุ๊ป (Bluetooth Special Interest Group) อ้างว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกบรรจุอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายล้านเครื่องในปี พ.ศ.2545 แต่ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังสงสัยกันว่า เวลาที่กำหนดไว้นั้นจะเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด

ปัจจุบัน บลูทูธได้รับการสนับสนุนจาก บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำ 9 แห่งของโลก ประกอบด้วย ทรีคอม, อีริคสัน, อินเทล, ไอบีเอ็ม, ลูเซ่น, ไมโครซอฟท์, โมโตโรล่า, โนเกีย และโตชิบา รวมถึงผู้ผลิตอื่นอีกราว 1,300 แห่งทั่วโลก ที่ร่วมลงนามเป็นสมาชิกในกลุ่มความร่วมมือดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน และกำลังคนของบรรดาองค์กรธุรกิจ ย่อมทำให้เกิดข้อกังขาว่า องค์กรธุรกิจและผู้บริโภคจะแห่กันซื้ออุปกรณ์ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่อย่างบลูทูธจริงหรือ

นอกจากนี้ ตัวเทคโนโลยีเองก็ยังเกิดปัญหาให้ตามแก้ไม่หยุดเช่นกัน สำหรับคุณสมบัติจำเพาะของบลูทูธ ประกอบด้วย อัตราความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลต่อครั้งอยู่ที่ 1 เมกะบิตต่อวินาทีบนช่องสัญญาณความถี่ขนาด 2.4 กิกะเฮิรตซ์ ส่วนรัศมีของการส่งผ่านข้อมูล อยู่ในระยะ 10 เมตร สำหรับการส่งแบบปกติ และได้ไกลถึงระยะ 100 เมตร หากมีการกำหนดค่าพิเศษ ขณะที่ โปรโตคอล ซึ่งใช้วิธีส่งข้อมูลแบบแพ็คเกจ สวิตชิ่ง (packet switching) มีความถี่ในการส่งอยู่ที่ 1,600 ฮอพส์ต่อวินาที ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีดังกล่าว ยังสนับสนุนการเชื่อมต่อทั้งแบบจุดต่อจุด (point-to-point) และจุดต่อหลายจุด (point-to-multipoint) ซึ่งพัฒนาบนพื้นฐานของโครงสร้างแบบมัลติเพิล พิโคเน็ต (multiple piconet structure) โดยอัตราการรับส่งข้อมูลภายในโครงสร้างดังกล่าวสูงสุดอยู่ที่ 10 รอบ ซึ่งแต่ละพิโคเน็ต อยู่ที่ราว 6 เมกะบิตต่อวินาที ด้วยคุณสมบัติจำเพาะเหล่านี้ ส่งผลให้เทคโนโลยีบลูทูธ ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้งานร่วมกับอุปกรณ์พกพาต่างๆ อย่างเช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรืออุปกรณ์เลขาฯ อิเล็กทรอนิกส์ (พีดีเอ)

อย่างไรก็ตาม นักออกแบบจำนวนมาก กล่าวถึงการนำ บลูทูธเข้าสู่การใช้งานบนผลิตภัณฑ์พกพาว่า อาจต้องยอมรับ ภาวะเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น หลังเดินหน้ารุกสู่อาณาจักรใหม่แห่งนี้ กระนั้น นักพัฒนาอ้างว่าเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถใช้งานได้ดี แม้จะดูใกล้เคียงกับคลื่นสัญญาณวิทยุที่พบเห็นกันทั่วไปก็ตาม โดยผลที่ได้ (output) จากคลื่นวิทยุซึ่งอยู่ในช่วงจำกัด ทำให้ตัวส่งสัญญาณสามารถดัดแปลงความแรงของสัญญาณสำหรับส่งต่อไปยังอุปกรณ์เครื่องรับได้

นอกจากนี้ ยังสามารถปรับการใช้พลังงานให้น้อยลงตามปริมาณการรับส่งข้อมูลที่ลดลงได้อีกด้วย โดยคลื่นวิทยุบลูทูธนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ใช้พลังงานเพียง 3% ของพลังงานที่ใช้กันอยู่ในเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ระบบรักษาความปลอดภัยจัดเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ยังต้องรอผ่านการทดสอบ โดยเฉพาะความวิตกเกี่ยวกับการจารกรรมข้อมูลที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจอย่างมาก และหากข้อมูลสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ระหว่างพีดีเอกับเครือข่าย นั่นย่อมหมายถึงว่า เทคโนโลยีนี้ทำให้เราไม่ต้องมานั่งเสียเวลาเรียนรู้วิธีการตั้งค่า เพื่อเลือกว่า จะเป็นพีดีเอหรือคอมพิวเตอร์สมุดพก

"เหตุผลสำคัญหลายอย่าง ที่ทำให้ไม่เห็นอุปกรณ์จุดเชื่อมต่อต่างๆ แพร่หลายอยู่ในตลาดทุกวันนี้ อยู่ที่การให้ความสนใจด้านออกแบบเชิงเศรษฐศาสตร์ที่น้อยเกินไป, ขาดการผนวกบลูทูธและเทคโนโลยีเครือข่ายอื่นเข้าด้วยกัน และมาตรฐานบลูทูธที่ยังหาจุดยืนแน่นอนไม่ได้" นายบูเลนท์ เซเลบี ประธานและหัวหน้าฝ่าย บริหารของยูบิคอม อิงค์. ผู้จัดป้อนตัวประมวลผลและซอฟต์แวร์เครือข่ายสำหรับอุปกรณ์บลูทูธ กล่าว บางทีการใช้งานส่วนใหญ่สำหรับโปรแกรมของบลูทูธ อาจพบเห็นได้ตามท้องถนนทั่วไป ครอบคลุมตั้งแต่ระบบควบคุมกระเป๋าเดินทางไปจนถึงโรงแรม ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนถ่าย ข้อมูลของโปรแกรม โดยขณะนี้ บลู แท็กส์ อยู่ระหว่างการทำงานเกี่ยวกับอุปกรณ์ควบคุมกระเป๋าเดินทาง ส่วนเรด-เอ็ม บริษัทน้องใหม่ในเว็กซ์ฟอร์ด สปริงของอังกฤษ ซึ่งจัดป้อนเครือข่ายสำหรับบลูทูธ คองเกรส (Bluetooth Congress) เมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ กำลังพัฒนาโปรแกรมสำหรับใช้งานตามสถานที่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการใช้งานตามบ้านและสำนักงาน บลูทูธคงต้องเผชิญกับการแข่งขันจากอีก 2 เทคโนโลยี ได้แก่ ไออีอีอี 802.11บี (IEEE802.11b) หรือที่เรียกกันว่า ไว-ไฟ (Wi-Fi) และเทคโนโลยีโฮมอาร์เอฟ (HomeRF) ซึ่งอวดศักยภาพที่น่าเกรงขามไว้ในงานคอมเด็กซ์เมื่อ ฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา โดยไว-ไฟ ได้รับการออกแบบมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพใช้งานให้กับโปรแกรมต่างๆ ขององค์กร ขณะที่ โฮมอาร์เอฟ มุ่งตอบสนองการ ใช้งานตามบ้าน ความแตกต่างเหล่านี้ย่อมทำให้เกิดข้อขัดแย้งทั้งในการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานและการแข่งด้านการ ขายอย่างรุนแรง โดยทั้งสามเทคโนโลยี คงต้องห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดในสนามให้บริการ ผ่านช่องความถี่ 2.4 กิกะเฮิรตซ์นี้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 7 กันยายน 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.