มาตรฐานเทคโนโลยีบรอดแบนด์
คอลัมน์ สนามรบไอซีที
ปารมี เรียบเรียง
เทคโนโลยีของบรอดแบนด์
หลายคนอาจจะหลงไปเข้าใจผิดว่าเป็นการอัพเกรดเทคโนโลยีที่มาจากสายไฟเบอร์ออปติกผสมกับสายทองแดงที่เป็นสายโทรศัพท์ตามบ้านแต่เพียงอย่างเดียว
ความจริงแล้วเทคโนโลยีของบรอดแบนด์สามารถนำมาใช้ได้หลายขนานด้วยกัน เพียงแต่เทคโนโลยีบรอดแบนด์ที่มากับสายโทรศัพท์สายทองแดงบนเทคโนโลยี
ADSL, XDSL, DSL ที่มีอยู่อย่างหลากหลายนั้นมันมีโครงสร้างพื้นฐานกระจายตัวรองรับในชุมชนเป็นวงกว้างอยู่ค่อนข้างพร้อมกว่าเทคโนโลยีอื่นๆ
ในราคาค่าลงทุนโครงสร้างที่ไม่ต้องไปอัพเกรดมากจนเกินไป จนเสี่ยงต่อการที่จะไม่ถึงจุดคุ้มทุน
ยังมีเทคโนโลยีของดาวเทียมที่สามารถส่งดาต้าสปีดด้วยความเร็วสูงส่งตรงลงมาจากท้องฟ้าแบบเคยูแบนด์
ซึ่งมีข้อได้เปรียบสองสามประการด้วยกันคือ สามารถให้บริการในพื้นที่ครอบคลุมได้ทั่วประเทศในพื้นที่ห่างไกลที่โครงข่ายพื้นฐานยังไปไม่ถึง
หรือไม่คุ้มค่าในการลงทุน และสามารถส่งดาต้าสปีดได้ในลักษณะที่มีความ เร็วสูงโดยไม่สูญเสียความเร็วเมื่อต้องแบ่งการใช้งานกับเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นจากพอร์ตเดียวกัน
แต่ข้อเสียก็คือระบบนี้ตัวอุปกรณ์ปลายทาง หรือที่เราเรียกกันว่าตัวโมเด็ม หรือตัวจากรับสัญญาณมีปริมาณการผลิตน้อย
ทำให้มีราคาค่อนข้างสูงเกินกว่าที่ชาวบ้านตาดำๆ อย่างพวกเราจะหามาใช้งานได้ ฉะนั้นเทคโนโลยีที่เป็นตัวเลือกตัวนี้จึงมีข้อด้อย
เหมาะกับการใช้งานในที่ห่างไกลความเจริญเท่านั้น
Teledesic ของ Criag McCaw กำลังวางแผนที่จะยิงดาวเทียม
30 ดวงที่มีวงโคจรหมุนรอบโลกอยู่ในระดับ Mid-earth ซึ่งอ้างว่าจะสามารถครอบคลุมให้บริการประชากรได้ประมาณ 3,000 ล้านคนทั่วทั้งโลก (หมายเหตุ Teledesic เป็นโครงการดาวเทียมคล้ายกับระบบดาวเทียมเหมือน iridium ที่ต้องล้มละลายไปเนื่องจากราคาและเงินลงทุนแข่งขันกับระบบโทรศัพท์มือถือจีเอสเอ็มไม่ได้
และไม่สามารถส่งดาต้าได้) ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า teledesic
จะประสบชะตากรรมเดียวกับ iridium หรือเปล่า
แต่บทเรียนจากโครงการ iridium น่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีในการปรับปรุงเทคโนโลยี
และแผนธุรกิจให้ดีขึ้นได้
เทคโนโลยีบรอดแบนด์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ขณะนี้เริ่มมีผู้ให้บริการหน้าใหม่
แต่เก๋ามาจากอุตสาหกรรมอื่นเริ่มมีการริเริ่มทดลองใช้อีกสองขนานก็คือ อุตสาหกรรมเคเบิลทีวี
ซึ่งมีการพยายามที่จะให้ลูกค้าเคเบิลทีวีใช้งานบรอดแบนด์ความเร็วสูงผ่านสายเคเบิลทีวี
แต่ก็พบกับปัญหาอุปสรรคในเรื่องของแถบความกว้างของความถี่ที่อยู่ในสายเคเบิลที่ต้องสูญเสียไปเพราะแรงเสียดทานและสูญเสียไประหว่างทางตามบ้านของลูกค้า
ทำให้ต้องมีการตั้งรีพีตเตอร์เป็นระยะๆเพื่อคงรักษาความเร็วของการรับส่งดาต้าไว้ให้ได้
ทำให้การรื้อปรับปรุงระบบเพื่อเพิ่มบริการบรอดแบนด์มีราคาค่อนข้างแพงและยุ่งยาก เปรียบเสมือนกับการออกแบบสร้างฐานรากไปแล้ว
และมาคิดเปลี่ยนใจภายหลังเพื่อปรับปรุงโครงสร้างอาคารเพิ่มเติม
เทคโนโลยีอีกขนานที่ผมจะเรียนให้ท่านผู้อ่านฟัง อันนี้ซิน่าสนใจ เทคโนโลยีนี้กำลังมีการทดลองเปิดให้บริการในสหรัฐอเมริกา
ที่เปิดให้บริการแข่งกับคู่แข่งบริษัทโทรคมนาคมเจ้าเก่า เป็นการให้บริการบรอดแบนด์ความเร็วสูงผ่านสายไฟฟ้า
หรือที่เรียกว่า broadband powerlines (BPL) โดยทฤษฎีสายไฟฟ้าแรงสูงสามารถส่งสัญญาณความถี่สูงระหว่าง
3-20 เมกะ เฮิรตซ์ได้ แล้วนำเทคโนโลยี IP มาดักที่หัวท้ายการรับส่งสัญญาณเราก็จะสามารถถอดสัญญาณออกมาเป็นดาต้าได้ ที่น่าสนใจก็คือ
องค์กรการไฟฟ้าทั้งหลายจะกลายเป็นคู่แข่งกับผู้ให้บริการบรอดแบนด์เจ้าเก่าทันที โดยที่ไม่ต้องลงทุนโครงข่ายเพิ่มมากมายแต่กระจายพื้นที่บริการได้ครอบคลุมมากว่าสายโทรศัพท์
หรือโครงข่ายสายไฟเบอร์ออปติกเสียอีก ที่ฮ่องกง กลุ่มบริษัท Hutchison
Global Communication (HGC) ได้เปิดให้บริการบรอดแบนด์ที่อยู่บนเทคโนโลยีสายไฟฟ้าแรงสูงนี้แล้ว
ภายใต้ชื่อการค้าว่า "Powercom Internet Technology"
ความสับสนของเทคโนโลยีบรอดแบนด์ ที่ต่างฝ่ายต่างพยายามแข่งขันสร้างเป็นมาตรฐานในอุตสาหกรรมให้ได้จึงเป็นอะไรที่น่าจับตามองชนิดที่ห้ามเผลอทีเดียว
เพราะถ้าแทงไพ่เลือกเทคโนโลยีผิด โอกาสมีแต่เจ๊งกับเจ๊าเท่านั้นครับ
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 19 เมษายน 2547
|