ทำความรู้จักกับซี-คอมเมิร์ซ (c-Commerce)

ซี คอมเมิร์ซ (c-Commerce) หรือ Collaborative Commerce เป็นที่รู้จักกันในต่างประเทศได้เป็นเวลานานพอควรแล้วภายหลังจากการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต เนื่องจากได้สร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive advantage) แก่บริษัทที่นำไปใช้อย่างเห็นได้ชัด อุตสาหกรรมที่ริเริ่มใช้ ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมอากาศยาน และในปัจจุบันได้แพร่ขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง เครื่องจักร รวมไปถึงอุตสาหกรรมบริการต่างๆ

สำหรับในประเทศไทยซี-คอมเมิร์ซ เริ่มมีการกล่าวถึงมากขึ้น เนื่องจากการตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมในการต่อสู้กับสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดโลก และตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ Wasserstein Perella Securities, Inc. ได้ออกรายงานการศึกษาว่า นับจากนี้ไปถึง 5 ปีข้างหน้า บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งสามของสหรัฐอเมริกา จะสามารถ

1. ลดต้นทุนในการพัฒนารถยนต์ได้รวมกัน 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2. เวลาที่ใช้ในการพัฒนารถยนต์รุ่นหนึ่งๆ จะลดลง 50% 3. ต้นทุนการผลิตต่อคันจะลดลง 900 ถึง 1,300 ดอลลาร์สหรัฐ

Southwest Securities Inc. ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจและอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำจำกัดความของซี-คอมเมิร์ซไว้ว่า "A new business strategy that leverages the ubiquity of the Internet, allowing various members of the supply chain to collaboratively design, build, market and deploy products and services" ส่วนที่เหมือนกับอี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) ก็คือ การใช้ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตที่เป็นเครือข่ายพื้นฐานที่ครอบคลุมอยู่เกือบทุกส่วนทั่วโลกในการเชื่อมโยงสื่อสารระหว่างผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ความแตกต่าง อยู่ที่ข้อความถัดจากนั้น ที่กล่าวถึงการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ วิศวกรที่ดูแลการผลิต ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วน ฝ่ายขายฝ่ายการตลาด และอาจจะรวมไปถึงลูกค้าด้วยในกรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ตามสั่ง โดยการทำงานร่วมกันจะเริ่มตั้งแต่จุดกำเนิดของผลิตภัณฑ์ โดยการออกแบบ (Design) ไปจนตลอดวงจรชีวิต (Lifecycle) ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ อันได้แก่ การผลิต (Build), การตลาดรวมไปถึงการขาย (Sales) และการบริการหลังการขาย (After sales)

วัตถุประสงค์หลักของความพยายามให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสทำงานร่วมกันตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยต้องการลดเวลาที่ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด (Time to Market) เพราะในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ จำเป็นต้องประกอบด้วย ความรู้ความชำนาญในหลายสาขางาน นักออกแบบที่คำนึงถึงความสวยงามของรูปลักษณ์ภายนอก อาจจะไม่ได้นำปัจจัยที่จะเกี่ยวข้องกับการผลิตมาใช้ประกอบการออกแบบ เช่น ความพร้อมของเครื่องมือเครื่องจักร ความสามารถที่ซัพพลายเออร์จะผลิตหรือจัดหาชิ้นส่วนมาให้ได้ เมื่อมาถึงฝ่ายผลิต และฝ่ายจัดหาชิ้นส่วน ก็เลยจะต้องขอให้ปรับแก้แบบ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้เวลาที่ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดต้องยืดออกไป หากเวลายืดเยื้อออกนานจนเกินไป อาจทำให้สนองตอบความต้องการของผู้บริโภคไม่ทัน ทำให้เสียเปรียบทางธุรกิจได้ ในแง่ของต้นทุน มีผลการวิจัยจากหลายแห่งสอดคล้องกันว่า กว่า 70-80% ของต้นทุนผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ อยู่ในช่วงของออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพตั้งแต่ช่วงต้นๆ คือ การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ ย่อมจะหวังผลและลดต้นทุนได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่ามาเริ่มทำที่การซื้อการขาย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนั้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 10 มกราคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.