อี-คอมเมิร์ซ ในอนาคต

ธนิก ลิ้มเจริญTanikMails@yahoo.com
เมื่อครั้งที่ อินเทอร์เน็ตอยู่ในยุคเฟื่องฟู เคยมีความเชื่อเก่าๆ ว่าธุรกิจที่เป็นธุรกิจแบบเก่า (Brick and Mortar) จะถูกแทนที่ด้วยธุรกิจดอทคอม (Click and Click) ซึ่ง ณ วันนี้แนวคิดนี้ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น

มาถึงวันนี้ ความเชื่อได้เปลี่ยนไป แนวโน้มในอนาคต ธุรกิจจะเป็นการนำเอา เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของธุรกิจเดิม (Brick and Mortar) คือเป็นธุรกิจที่ธุรกิจเดิม ไม่ได้ล้มหายไปไหนจนหมด เคยมีหน้าร้านก็ยังคงมีหน้าร้านอยู่ แต่อาจมีการเปลี่ยนระบบเพื่อให้ทำงานร่วมกันกับอี-คอมเมิร์ซได้สอดคล้องขึ้น แนวคิดนี้เห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะกับสินค้าที่เป็นวัตถุจับต้องได้ แต่หากเป็นสินค้าประเภทซอฟต์แวร์ ที่สามารถดาวโหลดผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ความสำคัญของหน้าร้านหรือระบบกระจายสินค้าต่างๆ โดยจริงๆ แล้วก็ไม่มีความจำเป็น หากแต่รอเวลาให้ผู้บริโภคปรับตัวรับระบบอี-คอมเมิร์ซกันอย่างเต็มที่ หน้าร้านหรือระบบกระจายสินค้า ก็จะหมดความจำเป็นไปในที่สุด

ถึงแม้ช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นการปิดตัวลงของธุรกิจดอทคอมมากมาย แต่นั้นไม่ได้หมายความว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซนั้นหมดอนาคต จริงๆ แล้วผมมองว่า มันเป็นกฎธรรมชาติ ที่เมื่ออะไรที่มันขึ้นเลยเกินความเป็นจริง โดยที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานธุรกิจที่สอดคล้องตามความเป็นจริง เมื่อถึงเวลาก็ต้องปรับเข้าสู่จุดที่มันควรจะเป็น พวกที่ไม่ใช่ของจริงก็ต้องออกจากธุรกิจไป คงเหลือแต่ธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของธุรกิจ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและหารายได้ เพื่อมาหล่อเลี้ยงธุรกิจได้จริงๆ และธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดหลังจากนี้ ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของธุรกิจที่สร้างรายได้และผลกำไรจากตัวธุรกิจเอง ไม่ใช่หวังจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์

เราพูดกันถึงภาพกว้างๆ กันมาพอสมควรแล้ว ลองมาดูกันในรายละเอียดของแนวโน้มในอนาคตของเวบไซต์อี-คอมเมิร์ซกันว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนากันไปในทิศทางใด

แนวโน้มของเวบไซต์อี-คอมเมิร์ซนั้น เชื่อกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในแนวหลักๆ อยู่ 5 ประการด้วยกันคือ

1. เวบไซต์อี-คอมเมิร์ซในอนาคต จะบริการท่านเหมือนรู้จักท่านเป็นการส่วนตัว (Personalization) เวบไซต์จะเก็บข้อมูลท่านจากข้อมูลส่วนตัวที่ท่านให้ หรือจากพฤติกรรมการท่องเวบ หรือการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ จากเวบไซต์ในอดีตที่ผ่านมา เพื่อมาประมวลผลว่าท่านชอบอะไร และปรับเปลี่ยนการนำเสนอ นับตั้งแต่หน้าตาเวบไซต์ เนื้อหา ไปจนถึงเสนอสินค้าหรือบริการที่คิดว่าท่านน่าจะสนใจ จริงๆ แล้วระบบนี้ก็ได้นำมาใช้ในเวบไซต์อี-คอมเมิร์ซชั้นนำหลายๆ แห่งอยู่แล้ว แต่ในอนาคตจะมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ประกอบกับเทคโนโลยีจะมีความสลับซับซ้อน และสามารถตอบสนองการบริการแบบส่วนตัวนั้นได้อย่างดียิ่งขึ้น

2. มีระบบจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถจัดส่งให้ภายในวันเดียวกันกับที่ท่านสั่งสินค้าได้ (e-logistic) โดยเวบไซต์อี-คอมเมิร์ซขนาดใหญ่ มีแนวโน้มที่จะลงทุนสร้างคลังสินค้า หรือระบบส่งสินค้าในพื้นที่ท้องถิ่น เพื่อให้สามารถจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้าได้เร็วที่สุด และประหยัดค่าขนส่งที่สุด โดยอาจเป็นการลงทุนเอง หรืออาจใช้บริการจากผู้ให้บริการด้าน Logistic เมื่อมีคำสั่งซื้อจากลูกค้าเข้ามาทางเวบไซต์ ระบบจะแจ้งไปยังคลังสินค้าที่ใกล้ที่สุด สินค้าจะถูกส่งจากคลังสินค้าที่ใกล้ที่สุดถึงมือลูกค้าภายในไม่กี่ชั่วโมง

3. เวบไซต์อี-คอมเมิร์ซในอนาคต จะสามารถปรับราคาให้แตกต่างไปตามลูกค้าแต่ละราย (Customer Pricing) โดยอาจขึ้นอยู่กับปริมาณการซื้อของลูกค้ารายนั้นในอดีต หรือเปลี่ยนไปตามจากแบนเนอร์โฆษณาไหน หรือเวบไซต์ไหนที่ลูกค้าคลิกเข้ามา หรือเปลี่ยนไปตามจำนวนเพื่อนที่มีการแนะนำต่อๆ กันมา หรืออาจเปลี่ยนไปตามภูมิภาคที่ลูกค้ารายนั้นอยู่หรือเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในการกำหนดราคา และสร้างความภักดีของลูกค้าได้ เช่นในกรณีที่ลูกค้ามีการซื้อสินค้าสะสมจากเวบไซต์เป็นปริมาณมาก เมื่อเข้ามาซื้อในครั้งต่อๆ ไป ทางเวบไซต์จะแสดงส่วนลดราคาพิเศษไว้ให้ เป็นต้น

4. แนวโน้มในอนาคต ลูกค้าจะสามารถซื้อสินค้าทางอี-คอมเมิร์ซได้ทุกที่ทุกเวลา โดยสามารถซื้อผ่านสื่อต่างๆ ได้หลากหลาย นับตั้งแต่มือถือ เครื่องปาล์ม ทีวีอินเตอร์แอ็คทีฟ หรือแม้กระทั่งเครื่องเล่นเกม หรือเครื่องมืออื่นๆ ในอนาคต ที่สามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้ ทำให้เวบไซต์ด้านนี้ในอนาคต ต้องมีการพัฒนาเพื่อรองรับการเข้าถึงจากหลายๆ รูปแบบ

5. ในอนาคตจะมีการใช้โปรแกรมอัจฉริยะ (Intelligent Agent) กันมากขึ้น โปรแกรมเหล่านี้สามารถค้นหาสินค้า หรือบริการให้กับผู้ซื้อจากเวบไซต์ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้ได้เงื่อนไขและราคาที่ดีที่สุดในขณะนั้นๆ หรือคอยเฝ้าติดตามราคาหรือเงื่อนไข และจะทำการซื้อสินค้าหรือบริการนั้นๆ ทันที เมื่อราคาหรือเงื่อนไขลงมาถึงระดับที่ต้องการ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 ธันวาคม 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.