EDGE : เครือข่ายขัดตาทัพก่อนมุ่งสู่ 3 จี

ในช่วงที่ผ่านมา ฝ่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างวาดลวดลาย ทางการตลาดและธุรกิจ งัดกลเม็ดเด็ดพรายทุกรูปแบบ ร่ายวิทยายุทธดุจเซียนเหยียบเมฆ ด้วยหวังช่วงชิงลูกค้า ให้แปรพักตร์และภักดีอยู่กับบริการของตน และสิ่งที่หลีกเลี่ยง ไม่ได้มากที่สุดก็คือ สงครามราคา แต่วันนี้ สงครามราคากำลังจะสงบลง พร้อมเสียงคอรัสประสานจากผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ บิ๊กๆ ว่า ปีนี้ต้องเพิ่มรายได้จากนอนวอยซ์ให้มากขึ้น หลังจากกระแสดาวน์โหลดเสียงเรียก(เงิน)เข้า(กระเป๋า)มาแรงแซงหน้าโลโก้ และสกรีนเซฟเวอร์ ตลอดจนบริการข้อมูลในลักษณะอื่น ไม่เว้นแม้แต่การส่งข้อความเอสเอ็มเอส

 

จากยุคเต่าคลานสู่ยุคเต่าซิ่ง

อย่างไรก็ดี ในโลกสื่อสารไร้สาย GSM ยุค 2 จี ที่ให้อัตราการรับส่งข้อมูลเพียง 9.6 กิโลไบต์ต่อวินาที สามารถส่งข้อความภาษาอังกฤษได้เพียง 140 ตัวอักษร ถ้าเป็นภาษาไทยสามารถส่งได้น้อยลงเหลือ 70 ตัวอักษร ลูกเล่นในการจูงใจให้ผู้ใช้โทรศัพท์จึงจำเจอยู่กับการดาวน์โหลดเสียงโมโนโทน กับภาพกราฟฟิกขาวดำหยาบๆ ซึ่งอีกไม่นาน มุขเก่าๆ นี้คงจะเป็นที่เบื่อหน่ายต่อผู้ใช้  ในที่สุด ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่วิสัยทัศน์ไกลจึงต้องควักกระเป๋าลงทุนพัฒนาระบบเครือข่ายไปสู่ยุคที่สามารถให้บริการรับส่งข้อมูลในอัตราที่เร็วขึ้นด้วยมาตรฐาน GPRS (General Packet Radio Service) ซึ่งการรับส่งข้อมูลจะถูกตัดแบ่งออกเป็นส่วนๆ หรือมักเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไอทีว่า Packet ด้วยมาตรฐานใหม่นี้ ส่งให้ผู้ให้บริการสามารถคิด "มุขใหม่ๆ" เพิ่มเติม และสามารถหารายได้จากการให้บริการข้อมูลจากมาตรฐานความเร็วใหม่นี้ได้มากขึ้น แน่นอน ปัจจัยหนุนที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันมาใช้บริการข้อมูลมากขึ้นคงหนีไม่พ้นความสามารถของตัวโทรศัพท์เอง ซึ่งโทรศัพท์หลายรุ่นในยุคหลังๆ เริ่มติดตั้งกล้องดิจิทัล เพื่อใช้บันทึกภาพลงเครื่อง และส่งข้อมูลผ่านจีพีอาร์เอส ซึ่งคิดบริการตามขนาดของข้อมูลที่ส่ง

 

ไม่เพียงแต่ในเรื่องของการส่งภาพ คลิปวิดีโอ ไฟล์เสียง ผ่านโทรศัพท์ที่มีคุณสมบัติเหล่านี้เท่านั้น มาตรฐานจีพีอาร์เอสยังเปิดช่องทาง ให้นักพัฒนาเกมออกเกมใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างเยิ่งเกมที่พัฒนาบนพื้นฐานของภาษาจาวา เพื่อเปิดให้ดาวน์โหลดไว้เล่นบนเครื่องโทรศัพท์แทนเกมเก่าๆ ที่ลดความท้าทายลงไปตามกาลเวลา มาตรฐานจีพีอาร์เอสยังได้เปิดมิติใหม่ในการใช้งานโทรศัพท์เป็นเครื่องรับโทรทัศน์ได้ด้วย เพียงแต่ความเร็วในปัจจุบันที่ 40 kbps ซึ่งในบางครั้งอาจต่ำกว่านี้เมื่อมีผู้ใช้มากขึ้น ยังไม่เพียงพอที่จะใช้รับส่งไฟล์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่เพื่อการแสดงผลที่ราบรื่น ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงต้องเตรียมวางแผนในอนาคตสำหรับการปรับปรุงเครือข่าย และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อ มารองรับมาตรฐานในการรับส่งข้อมูลในอนาคตที่ความเร็วสูงอย่าง 3 จี

 

The Edge ร่างทรง 3 G

เหตุผลสำคัญที่บรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์ไร้สายในไทยต้องวางแผนก้าวสู่การให้บริการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงก็คือ สมมติฐานที่ว่า ความต้องการบริการข้อมูลในรูปแบบไร้สายจะเพิ่มสูงขึ้น แต่นั่นยังคงเป็นเพียงแค่ข้อสมมติฐาน ซึ่งยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างแท้จริง ทำให้หลายฝ่ายลังเลที่จะปรับปรุงระบบใหม่หมด ซึ่งต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาลเพื่อก้าวสู่ยุค 3 จี

 

ในปัจจุบัน ระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในยุคที่ 3 (Third-generation Wireless ; 3G) เป็นระบบเครือข่ายที่หลายๆ ประเทศทั่วโลก กำลังให้ความสนใจมากที่สุด และหลายประเทศก็เริ่มให้บริการโทรศัพท์ภายใต้เครือข่ายนี้กันแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, จีน, สหรัฐอเมริกา, เกาหลี รวมจนถึงไทย ในนามของน้องใหม่อย่าง Hutch การเข้ามาทำตลาดของ Hutch เป็นการเริ่มต้นที่ได้เปรียบตรงที่เริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด โดยเลือกวางระบบเครือข่าย 3 จี ด้วยการเปิดตัวเครือข่ายซีดีเอ็มเอ 2000 วันเอ็กซ์ (CDMA 2000 1X) และหันมาโฆษณาประชาสัมพันธ์ความสามารถ หรือศักยภาพที่สูงขึ้นของการสื่อสารผ่านมือถือ โดยเฉพาะความสามารถในการรองรับงานทางด้านมัลติมีเดีย ทั้งการใช้ส่งภาพและเสียง วิดีโอ ผ่านมือถือ อย่างที่เรียกกันว่า เอ็มเอ็มเอส (Multimedia Messaging Service : MMS) ที่กำลังฮิตมากในหมู่ผู้ใช้มือถือทั่วโลก โดยทำการประชาสัมพันธ์ตลาดอย่างหนัก ไม่ว่าจะทั้งการจัดกิจกรรมและการใช้สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์และป้ายโฆษณา อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากค่าบริการที่อยู่ในอัตราที่สูงกว่าระบบ GSM และการใช้งานด้านมัลติมีเดียที่จำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่ใช้เทคโนโลยี Hutch ทำให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์ไร้สายยุคสามยังคงเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปเมื่อเทียบกับอัตราการใช้บริการ GSM ทั้งแบบ Pre-paid และ Post-paid

 

หันกลับมาดูเอไอเอส ซึ่ง ณ วันนี้ยังคงมุ่งกระตุ้นให้ตลาดหันมาใช้และทำความคุ้นเคยกับการสื่อสารผ่านเครือข่ายจีพีอาร์เอสมากกว่า (General Packet Radio Services : GPRS) โดยเอไอเอสวางแผนว่าจะสามารถวางเครือข่ายจีพีอาร์เอสได้ครอบคลุมทั้งประเทศ พร้อมกับชูศักยภาพ ของการให้บริการเสริมประเภทข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการ ด้วยการเปิดตัว "mobileLIFE" รูปแบบของการให้บริการเสริมไปเป็น ที่เรียบร้อยแล้ว นับว่าสร้างความสามารถและการใช้งานของเครือข่ายจีพีอาร์เอสได้อย่างคุ้มทุนที่ลงไปกว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐทีเดียว ขณะที่ ดีแทคของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ซึ่งกำลังเริ่มโหมโครงการให้บริการสื่อสารข้อมูลผ่านเครือข่ายจีพีอาร์เอสมากขึ้นเช่นกัน ได้เตรียมลู่ทางที่จะก้าวสู่ยุค 2.75 ภายใต้ชื่อเทคโนโลยี EDGE เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับการก้าวเข้ามารับตำแหน่ง Co-CEO ของ ซิคเว่ เบรคเก้ ผู้บริหารจากเทเลนอร์ บริษัทร่วมทุนรายสำคัญของแทค

 

การย้ายมาใช้เทคโนโลยี EDGE เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ให้บริการที่ใช้ระบบ GSM เนื่องจากไม่ต้องใช้เงินมาก เพื่อปรับปรุงโครงข่ายเหมือนกับการวางเครือข่าย 3 จี แต่ให้ผลที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพเครือข่ายให้เหนือยิ่งขึ้น คล้ายคลึงกับการวางเครือข่ายจีพีอาร์เอสของเอไอเอส แต่ศักยภาพของ EDGE ด้านการส่งถ่ายข้อมูลเหนือกว่าจีพีอาร์เอสอยู่หลายขุมทีเดียว และเชื่อกันว่าอีกไม่นานข้างหน้านี้ ดีแทคจะโชว์ความสามารถในการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายมือถือที่ใกล้เคียง 3 จี ได้เช่นเดียวกัน ความแตกต่างของเครือข่ายทั้ง 3 นั้น นอกจากจะอยู่ที่การที่ต้องเสียเงินลงทุนในการวางระบบใหม่ที่แตกต่างกันสุดขั้วแล้ว ยังอยู่ที่ความสามารถในการส่งถ่ายข้อมูลผ่านมือถือ โดยถ้าจะให้จัดอันดับให้พอเห็นภาพแล้วจะได้ดังนี้

1.GPRS มีความสามารถในการส่งถ่ายข้อมูลสูงสุดอยู่ที่ 114 กิโลบิตต่อวินาที (Kbps)

2.EDGE ความสามารถในการส่งถ่ายข้อมูลสูงสุดอยู่ที่ 384 กิโลบิตต่อวินาที

3.3 จี มีความสามารถในการส่งถ่ายข้อมูลสูงสุดอยู่ที่ 2 เมกะไบต์ต่อวินาที

 

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายเดียวกันของค่ายมือถือทั่วโลก ก็คือการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ให้บริการภายใต้เครือข่าย 3 จี นั่นเอง ซึ่งถ้าเป็นการพัฒนา จากเครือข่ายจีเอสเอ็ม จะเป็นการก้าวสู่ระบบยูเอ็มทีเอส" (Universal Mobile Telecommunications System ; UMTS) คือทั่วโลกสามารถใช้มือถือได้เครื่องเดียว โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องถ้าหากจะเดินทางข้ามประเทศไปที่ไหนก็ตาม เนื่องจากเป็นเครือข่ายเดียวกันหมดแล้ว เพียงแต่ว่าจะเป็นเมื่อใดที่ค่ายนั้นจะพร้อมเท่านั้นเอง

 

EDGE แทน 3 จี ได้จริงหรือ?

EDGE (Enhanced Data rates for Global Evolution) ถือว่าเป็นอีกพัฒนาการหนึ่งของระบบโทรศัพท์จีเอสเอ็ม (Global System for Mobile communication GSM) ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นระบบเครือข่ายในยุค 2.75 จี ต่อจากระบบเครือข่ายจีพีอาร์เอส ซึ่งอยู่ในยุค 2.5 จี (ส่วน 2 จี ก็คือ GSM นั่นเอง) ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยบริษัท อีริคสัน เมื่อปีพ..2538 ด้วยความหวังที่จะช่วยให้ค่ายมือถือที่ยังไม่พร้อมในการวางเครือข่าย 3 จี ทั่วโลก โดยยกประสิทธิภาพของการบริหารจัดการการส่งสัญญาณผ่านช่องความถี่ให้ดียิ่งขึ้น และเป็นเพิ่มความสามารถในการส่งถ่ายข้อมูลให้มากกว่าเดิม โดย EDGE นั้นมีความสามารถในการส่งถ่ายข้อมูลตามทฤษฎีแล้ว มีค่าสูงถึง 473.6 กิโลบิตต่อวินาที แต่ในความจริงอาจจะอยู่ที่ 384 กิโลบิตต่อวินาที โดยอีริคสันให้ชื่อเรียก EDGE เป็นทางการอีกอย่างหนึ่งว่า GSM384

 

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ด้วยข้อจำกัดเรื่องของความพร้อมและการลงทุนที่มากมายหลายหมื่นล้านบาท ที่จะต้องใช้ในการวางเครือข่าย 3 จี ซึ่งต้องโละระบบเก่าที่มีอยู่ทิ้งหมด และวางระบบเสียใหม่ การหันมาลงระบบ EDGE เป็นทัพหนุนก่อนที่จะไปถึง 3 จี ก็เป็นเรื่องที่หลายค่าย พิจารณาและเริ่มลงมือไปแล้วเช่นกัน เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการวางระบบใหม่ทั้งหมด เพียงแค่เพิ่มช่องทางหรือเพิ่มศักยภาพ ในการส่งถ่ายข้อมูลให้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ทำให้ผู้ประกอบการและเจ้าของค่ายมือถือหันมา ให้ความสำคัญในการวางโครงข่าย EDGE เพื่อช่วยชะลอการลงทุนใหม่ที่ต้องใช้เงินมาก แต่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารที่ดีได้เทียบเท่ากับเครือข่าย 3 จี เช่นกัน

 

ในการวางเครือข่าย EDGE ของดีแทคได้บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่างโนเกียเข้ามาช่วยในการวางโครงข่ายให้ โดยโนเกียได้รับความไว้ใจจาก บริษัทต่างๆ กว่า 36 ค่าย จากทั้งหมด 23 ประเทศแล้ว ในการวางเครือข่ายให้

ขณะที่ นายสุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ ผู้จัดการสำนักธุรกิจบริการเสริม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ค่ายมือถืออันดับหนึ่งของเมืองไทย เปิดเผยเมื่อเดือนที่แล้ว ระหว่างเปิดตัวกิจกรรม "mobileLIFE" เมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า ทางบริษัทวางกำหนดการ ในการเดินทางเยี่ยมชมประสิทธิภาพของระบบเครือข่าย WCDMA (wideband code-division multiple access) ซึ่งเครือข่าย 3 จี ที่บริษัท NTT DoCoMo ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เอาไว้แล้ว โดยการเดินทางไปเยี่ยมชมในครั้งนี้ จะนำมาใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจ และการบริหารจัดเครือข่ายของบริษัทในอนาคต

 

แต่สำหรับวันนี้ ผู้บริหารของเอไอเอส มองว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะลงเครือข่าย EDGE ต่อจาก GPRS เหมือนอย่างดีแทค เพราะเห็นว่าเครื่องลูกค่าย หรือเครื่องมือถือ ที่รองรับเครือข่าย EDGE ยังไม่มีมากนัก โดยผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังไม่ผลิตมือถือ ที่รองรับเครือข่ายนี้ออกมารองรับความต่องการมากนัก ทำให้ผู้ใช้หรือลูกค้า ใช้งานจากการวางโครงข่ายดังกล่าวได้ไม่มากนัก ดังนั้น ทางบริษัทจึงเห็นความสำคัญของการหารายได้จากบริการเสริม จากโครงข่ายจีเอสเอ็มยังเป็นหนทางที่ดีที่ควรจะทำอยู่เท่านั้นเอง และเชื่อว่าด้วยประสิทธิภาพของเครือข่ายจีพีอาร์เอสที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และการมีเครื่องลูกข่ายมากมายให้ลูกค้าได้ตัดสินใจ เลือกซื้อก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วในปัจจุบัน และทางบริษัทเองยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเครือข่ายใหม่เมื่อใด ถึงแม้ว่าในวันนี้ จะยังไม่มีรายใดได้เปรียบและเสียเปรียบจากการแข่งขันบนพื้นฐานความเร็วระดับ 2.5 จี ของ จีพีอาร์เอส แต่เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า การแข่งขันในอนาคต ไม่ช้าก็เร็วเป็นการแข่งกันในเรื่องของความเร็ว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 22 พฤษภาคม 2546

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.