Embeded Linux : ลินิกซ์ในเครื่องใช้ไฟฟ้า
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
ผมเคยเขียนเรื่อง
ลินิกซ์ในตลาดอุปกรณ์ฝังตัว (ภาษาอังกฤษเรียกว่า embeded)
ซึ่งหมายถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วๆ ไป
ที่ไม่ใช่พีซีมาครั้งหนึ่งแล้ว คราวที่แล้วเป็นเรื่องของโมโตโรล่า ที่ประกาศนำลินิกซ์มาใช้ในโทรศัพท์มือถือของตัวเอง
(ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ออกมาให้เห็น)
ตลาดอุปกรณ์ฝังตัวนั้นถือว่าเป็นตลาดที่อนาคตสดใสมาก
ตัวอย่างง่ายๆ มองไปรอบๆ ตัวเรา เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไฮเทคหน่อย
อย่างพวกเครื่องเล่นดีวีดี, เครื่องเล่นเกม, เครื่องถ่ายเอกสาร,
โทรศัพท์มือถือ, เครื่องสำรองไฟ UPS หรืออุปกรณ์โอเวอร์ๆ อย่าง ขีปนาวุธข้ามทวีป หรือรถสุดไฮเทคของเจมส์บอนด์
มีความฉลาดกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก และเจ้าอุปกรณ์พวกนี้ก็จำเป็นต้องมีระบบปฏิบัติการมาควบคุมการทำงานของมัน
ยิ่งไฮเทคมาก ซับซ้อนมาก ระบบปฏิบัติการก็ต้องเก่งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปริมาณของอุปกรณ์ฝังตัวพวกนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จนมากกว่าเครื่องพีซีในที่สุด (ตัวอย่างง่ายๆ
ก็คือโทรศัพท์มือถือ ที่จำนวนมากกว่าเครื่องพีซีไปนานแล้ว) และชิ้นปลามันในตลาดนี้ก็คือ
ระบบปฏิบัติการนั่นเองครับ
มีบริษัทจำนวนมากที่วิสัยทัศน์ยาวไกล
เข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้ ผู้นำตลาดคือ บริษัท Wind River ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ
VxWorks เก่งขนาดไหน ก็ดูได้จากที่นาซ่านำไปใช้ในยานสำรวจดาวอังคาร
หุ่นยนต์ ASIMO ที่เต้นๆ อยู่ในโฆษณาของฮอนด้า ก็ใช้ VxWorks
ที่ใกล้ตัวหน่อยอย่างแลนไร้สาย AirPort ของแอปเปิล
ที่ติดอยู่ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ก็ใช้ VxWorks เหมือนกัน ส่วนบริษัทคุ้นๆ
หน้าอย่างไมโครซอฟท์ก็ลงมาเล่นในตลาดนี้เหมือนกันด้วย WindowsCE ที่นอกจากจะเอาไปใช้กับ PocketPC ที่เรารู้จักกันดีแล้ว
เครื่องเล่นเกมอย่าง Dreamcast กับ X-Box ก็ใช้ WindowsCE ด้วย WindowsCE ทำรายได้ให้ไมโครซอฟท์ไปหลายตังค์นะครับ รายได้ในไตรมาสล่าสุดนั้นทำเงินให้ไมโครซอฟท์ถึง
38 ล้านดอลลาร์ทีเดียว
สำหรับลินิกซ์ของเรานั้น
ถึงแม้ในตอนนี้จะยังไม่โตมาก แต่ก็เป็นตลาดที่ลินิกซ์มีอนาคตสดใส
สาเหตุที่สำคัญสุดๆ เลย คือ ราคาครับ เพราะว่าอุปกรณ์ฝังตัวส่วนมากมีขนาดเล็ก
ราคาต่ำ ผู้ผลิตจึงต้องลดต้นทุนการผลิตลงให้มากที่สุด
เพื่อที่จะได้กำไรต่อหน่วยเยอะขึ้น ลินิกซ์จึงเข้ามาเป็นตัวเลือกแรกๆ ทันที
เพราะว่ามันฟรีหรือไม่ก็ราคาถูกนั่นเอง บริษัทดังๆ อย่าง Red Hat ถึงกับเปิดฝ่าย Embeded ขึ้นมา เพื่อทำการวิจัยลินิกซ์สำหรับตลาดนี้โดยเฉพาะ
แต่บริษัทที่เป็นผู้นำในเรื่อง Embeded Linux จริงๆ คือ
บริษัท Monta Vista ที่มีผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ๆ
อย่าง NEC, โมโตโรล่า, IBM, โตชิบา หนุนหลังอยู่
ลินิกซ์ของ MontaVista สนับสนุนฮาร์ดแวร์เยอะขนาดที่เรียกได้ว่า มากที่สุดในตอนนี้เลย
และล่าสุดนี้ กลุ่มบริษัทที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลก นำทีมโดย โซนี่ กับ
มัตสึชิตะ บริษัทแม่ของพานาโซนิค ตามมาด้วย NEC, ฟิลิปส์,
ซัมซุง, ชาร์ป และโตชิบา
ได้จับมือกันพัฒนาลินิกซ์เพื่อใช้ในสินค้าของตัวเอง โดยลงขันกันตั้ง Consumer
Electronics Linux Forum (CELF) ขึ้นมา ผลงานภายใต้การพัฒนาของ CELF
น่าจะออกมาภายในปีนี้ ตัวอย่างการพัฒนาที่น่าสนใจก็คือ ทำอย่างไรจะให้ลินิกซ์บูทตัวเองขึ้นมาโดยใช้เวลาน้อยกว่า
1 วินาที เพราะการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นต่างจากพีซี
จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาน้อยๆ ตอนเปิดหรือปิดเครื่อง
โซนี่นั้นใช้ลินิกซ์มานานแล้วนะครับ
อาจเป็นว่า ยักษ์ใหญ่ในด้านความบันเทิงอิเล็กทรอนิกส์ของโลก เหลือเพียง โซนี่
และไมโครซอฟท์ ที่มีความสามารถพอที่จะแย่งตลาดกันได้ โซนี่มีเครื่องเล่นเกม
เพลย์สเตชัน 2 ไมโครซอฟท์ก็ออก X-Box ที่มีความสามารถมากกว่าออกมา
โซนี่ก็แก้เกมด้วยการขายชุดการพัฒนาเครื่องเพลย์ 2 ด้วย Linux
ออกมาสู้ เครื่อง CoCoon ซึ่งโซนี่วางไว้ให้เป็นศูนย์กลางของเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
เพราะมันจะเป็นสื่อกลางระหว่างทีวี WEGA, เครื่องเกมเพลย์สเตชัน
2, โน้ตบุ๊ค VAIO และกล้องวิดีโอของโซนี่
ก็ใช้ลินิกซ์เป็นระบบปฏิบัติการเช่นเดียวกัน
ที่เอ่ยมาทั้งหมดนี้
อยากให้บริษัทคนไทย ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ฝังตัวอยู่ อาจจะไม่ต้องไฮเทคมากอย่างโซนี่เขา
แต่เป็นอุปกรณ์เฉพาะทาง อย่าง อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือ
ระบบควบคุมเครื่องจักรโรงงาน ที่อาจจะไม่มีปัญญาไปซื้อระบบปฏิบัติการของ Wind River มาใช้ได้ หันมาศึกษาการนำลินิกซ์มาใช้ในอุปกรณ์ด้านนี้กันบ้าง
ดูจากแนวโน้มที่ผ่านๆ มา และชื่อชั้นของบริษัทที่จับมือกันข้างต้นนั้น
บอกได้เลยว่า อีกไม่นาน ลินิกซ์ในตลาดฝังตัว มาแน่นอนครับ
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(SciTech) ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม 2546
|