รายงาน : "มือถือเอชดีทีวี" โทรทัศน์พกพาในฝันที่ (ใกล้) เป็นจริง
หลังจากประสบความสำเร็จในการปลุกปั้นให้โทรศัพท์มือถือใช้งานเป็นกล้องดิจิทัล, อุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
และเครื่องเล่นเพลงได้แล้ว ล่าสุดอุตสาหกรรมมือถือ มุ่งมั่นอย่างหนักเพื่อเปลี่ยนโฉม"เจ้าเครื่องโทรศัพท์ขนาดจิ๋ว" ให้สามารถรับสัญญาณภาพทีวีความคมชัดสูง
หรือ"เอชดีทีวี" ทางอากาศได้อีกหนึ่งฟังก์ชัน
เพื่อตอบรับกระแสดังกล่าว เท็กซัส อินสทรูเมนท์ส หรือทีไอ ในฐานะผู้ผลิตชิพ คอมพิวเตอร์สำหรับโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ของวงการ
ได้ออกมาประกาศชัดๆ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทางบริษัทกำลังพัฒนาชิพ "ฮอลลีวูด" ที่จะช่วยให้เครื่องลูกข่ายไร้สายสามารถรับช่องทีวีความคมชัดสูงได้หลายร้อยช่อง
"ทางบริษัทจะจัดส่งตัวอย่างชิพให้ลูกค้าในปี 2549 และคาดว่ามือถือที่ใช้ชิพตัวนี้จะวางตลาดได้ในปี 2550" ตัวแทนทีไอ กล่าว
ขณะที่ คู่แข่งตัวเอ้ อย่าง อินเทล คอร์ป. ค่ายผู้ผลิตชิพเบอร์
1 ของโลก ซึ่งเคยประกาศเปิดตัวชิพทีวีแอลคอส (liquid
crystal on silicon) ตามโครงการ "เคเลย์"
ในปลายปีนี้ กลางงานคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ โชว์ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น
ได้เปิดหมวกอำลาสนามยกเวทีให้กับทีไอไปเรียบร้อยแล้วในสัปดาห์เดียวกัน
"เนื่องจากต้นทุนที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาไม่คุ้มค่ากับรายได้ที่เกิดขึ้นในอนาคต
ทางบริษัทจึงตัดสินใจยุติโครงการที่ว่านี้" โฆษกหญิงของอินเทล
ให้เหตุผล อย่างไรก็ดี นอกจากทีไอแล้ว ผู้ผลิตชิพรายอื่น ที่หันมาทำธุรกิจชิพเอชดีทีวี
ยังรวมไปถึง "ควอลคอมม์" บริษัทผลิตชิพโทรศัพท์มือถืออันดับสองของโลก
ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาชิพที่ช่วยให้โทรศัพท์รับสัญญาณทีวีดิจิทัลได้เช่นเดียวกัน
ตัวแทนของทั้งทีไอ และควอลคอมม์ เห็นพ้องกันว่า
ทั่วโลก จะเริ่มทดสอบโทรศัพท์เอชดีทีวีกันได้ในปี 2549
โดยปัจจุบัน บริษัทโทรคมนาคมในเกาหลีใต้ อยู่ระหว่างทดสอบโทรศัพท์มือถือทีวีในกรุงโซล
มือถือที่ใช้ชิพใหม่ตัวนี้ จะรับสัญญาณทีวีได้อย่างต่อเนื่องแม้อยู่ระหว่างการเคลื่อนไหว
ทีไอ และผู้ผลิตชิพรายอื่น เชื่อว่า นอกจากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแล้ว ผู้บริโภค
ยังรับสัญญาณทีวีจากเครือข่ายอื่นได้ด้วย อาทิ เครือข่ายโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
เป็นต้น "ในอีก 3 หรือ 4 ปีข้างหน้า
ผู้บริโภคจะสามารถดูทีวี 200 ช่องบนมือถือของตัวเองได้"
นายมาร์ค เซตโต ผู้จัดการทั่วไปแผนกโทรศัพท์มือถือของทีไอ กล่าว
และคาดว่า น่าจะเรียกความสนใจจากผู้บริโภคที่ชื่นชอบฟุตบอล และข่าวสารได้เป็นพิเศษ
นักวิเคราะห์ และผู้บริหารบริษัทโทรศัพท์
กล่าวว่า ในส่วนของรายการทีวีนั้น จะเหมือนกับรายการทีวีปกติ
เพียงแต่ระยะเวลาต้องสั้นกว่าเท่านั้น นอกจากนี้ ผู้ผลิต
ยังต้องแก้ปัญหาทางเทคนิคให้ได้เสียก่อน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาโทรศัพท์มือถือที่มีอายุการใช้งานแบตเตอรี่นานพอ
ที่จะไม่ทำให้ผู้ใช้ต้องเลือกระหว่างการรับเข้าโทรออก หรือการดูทีวี อย่างไรก็ดี
เนื่องจาก ผู้ผลิตมือถือ และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้เพิ่มฟังก์ชัน
และคุณสมบัติใหม่ๆ อาทิ จอสี เข้าไปในตัวโทรศัพท์มือถือ จึงทำให้การพัฒนาฟังก์ชันทีวีมีความเสี่ยงน้อยลง
หรือหากมองจากจุดยืนทางธุรกิจแล้ว ความพยายามสร้างบริการใหม่เพื่อเรียกความสนใจผู้ใช้นั้น
นับว่า มีความสำคัญกับการเติบโตของธุรกิจมือถือ
แต่ในเรื่องของเทคโนโลยีทีวี
มีคำถามที่ยังไร้คำตอบอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างเช่น ลูกค้าจะจ่ายเงินดูรายการทีวีบนมือถือเหมือนการดูทีวีผ่านดาวเทียมหรือไม่
หรือพวกเขาจะต้องเสียค่าบริการเท่าไหร่เพื่อดูรายการทีวีเหล่านี้
สำหรับคำถามอื่นๆ คือ เมื่อไหร่ผู้บริโภค ซึ่งคุ้นเคยกับการดูทีวีบนจอขนาดใหญ่ที่บ้าน
จะหันมาสนใจดูทีวีบนจอเล็ก นายเซตโต บอกว่า
เขาไม่ได้คาดว่าเครื่องลูกข่ายเอชดีทีวี จะมีราคาสูงกว่าโทรศัพท์มือถือที่ขายอยู่ในตลาดขณะนี้
ขณะที่นายอัลเลน เลห์โบวิช นักวิเคราะห์เซมิคอนดักเตอร์ของบริษัทวิจัยไอดีซี ตั้งข้อสังเกตว่า
เทคโนโลยีดังกล่าว อาจจะเป็นอันตรายกับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่กำลังขับรถได้
แนวคิดทีวีจอเล็ก ไม่ใช่ของใหม่ โซนี่
เคยเปิดตัว วอทช์แมนไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เองก็วางตลาดทีวีพกพามาหลายปีแล้ว
แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากตลาดเท่าที่ควร นายริช เทมพลีตัน หัวหน้าฝ่ายบริหาร
ของทีไอ ยอมรับว่า การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กยังไม่แพร่หลายมากนัก
แต่เขา มั่นใจว่า ทีวีบนมือถือ มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากกว่า เนื่องจาก
ผู้ใช้ส่วนใหญ่ สามารถพกพาไปใช้ที่ไหนก็ได้ ด้านนายเจมส์ อี. แคทซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการประมวลผลบนอุปกรณ์พกพาของมหาวิทยาลัยรูตเจอร์
ซึ่งมีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์การทดสอบบริการส่งสัญญาณทีวีให้กับมือถือผ่านเครือข่ายที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันของเอสเค
เทเลคอม ผู้ให้บริการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ กล่าวว่า แม้จอจะเล็ก แต่ภาพและเสียงชัดใส
และสามารถดูรายการโปรดได้แม้นั่งอยู่ในร้านกาแฟ "อย่างไรก็ดี
ผมไม่แน่ใจว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันจะยอมรับเทคโนโลยีที่ว่านี้หรือไม่"
นายแคทซ์ กล่าว
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 26 ตุลาคม 2547
|