เจาะลึกนวัตกรรมพลิกโฉมอุตสาหกรรมพีซี

 

นิวยอร์ก - ในอนาคตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล อาจจะกลายสภาพเป็นอุปกรณ์ของใช้ในครัวเรือน เช่น เครื่องปิ้งขนมปังได้ แต่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของโลกหลายแห่ง กลับหวังลึกๆ ว่า แนวคิดใหม่ ทั้งแล็บท็อปใช้น้ำทำความเย็น พีซีซ่อมแซมตัวเองได้ และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะแบบติดผนัง จะสามารถ พลิกฟื้นอุตสาหกรรมนี้ได้

 

จากคำทำนายของผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรม ซึ่งระบุว่า ความตกต่ำในธุรกิจพีซี จะเป็นแหล่ง เฉพาะ นวัตกรรมนั้น ได้ผลักดันให้นักวิจัยของบริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด โค. (เอชพี) บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บิสซิเนส แมชีนส์ คอร์ป. (ไอบีเอ็ม) บริษัท เกตเวย์ อิงค์. และบริษัท โตชิบา คอร์ป. หันมาทุ่มความสนใจ ให้กับการพัฒนา เทคโนโลยีชนิดใหม่ ที่พวกเขาคาดหวังว่า จะช่วยฟื้น ตลาดคอมพิวเตอร์ ที่กำลัง ซบเซา อยู่ในขณะนี้ได้ เดิมพันดังกล่าว มีความเสี่ยงสูง ด้วยยอดขายพีซีที่ตกต่ำลงอย่างมากประกอบกับสงครามราคาที่รุนแรง ได้ทำลายสายผลิตภัณฑ์ระดับล่าง ของผู้ผลิต คอมพิวเตอร์เหล่านี้ ส่งผลให้หลายบริษัทต้องหาวิธีเพื่อต่ออายุในอุตสาหกรรมดังกล่าว หรือเลือกที่จะยอมรับว่าพีซีเป็นแค่ของ ใช้อย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน เท่านั้น "เท่าที่รู้มีประเด็นการพูดคุยเกี่ยวกับพีซีตั้งโต๊ะมากมาย และผมไม่คิดว่าสิ่งคาดการณ์ทั้งหมดจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้" นายคริสเตียน แลนดรี ผู้จัดการศูนย์ออกแบบ กลุ่มคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของบริษัทเอชพี กล่าว

 

ด้านนายไบรอัน จอลฟ์สัน ศาสตราจารย์ด้านการจัดการของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซสต์ กล่าวว่า การทุ่มงบวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยี ในปัจจุบันจะยังไม่สามารถทำกำไรได้ ดังจะเห็นได้จาก การเจาะตลาดของพีซีรุ่นใหม่ๆ ในทุกวันนี้ ประกอบกับเทคโนโลยีจำนวนมาก ซึ่งนักวิจัยกำลังศึกษาค้นคว้าอยู่ในขณะนี้ ไม่สามารถ ผลิตขึ้น เป็นสินค้าได้จริง แต่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ไม่กี่อย่าง ที่อาจจะพัฒนา ขึ้นเป็นสินค้าได้จริง เพื่อใช้ฟื้นฟูตลาดในระยะยาว ด้วยการเน้นที่กำลังในการประมวลผล และฮาร์ดดิสก์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และต่อไปนี้ คือ สิ่งที่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ชั้นนำ เชื่อมั่นว่า จะมีอยู่ในพีซีรุ่นใหม่ ที่จะเปิดตัว ในอนาคต อีกไม่นานนี้

 

คอมพิวเตอร์อัจฉริยะ

ต้นปีหน้า โน้ตบุ๊คและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะรุ่นใหม่ของไอบีเอ็มบางรุ่น จะวางตลาดโดยมาพร้อมกับโปรแกรมซอฟต์แวร์ ที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถ เข้าถึงข้อมูลสำคัญได้เมื่อระบบปฏิบัติขัดข้อง ซอฟต์แวร์ตัวใหม่ที่ว่านี้ คือ ไลฟ์โบท (Lifeboat) พัฒนาขึ้นตามแนวคิดการซ่อมแซมตัวเองของบริษัท ไอบีเอ็ม และตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า คอมพิวเตอร์มีความฉลาดพอที่จะแก้ไขซ่อมแซมตัวเองได้ นายไบรอัน คอนเนอร์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของไอบีเอ็ม กล่าวว่า การใช้งานไลฟ์โบท ผู้ใช้คอมพิวเตอร์จะต้องติดต่อกับฝ่ายเทคนิค (help desk) ของบริษัทผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สามารถใช้งานอีเมล หรือสแกนไฟล์บนฮาร์ดดิสก์ได้โดยไม่ต้องบูทเครื่องใหม่ นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ดังกล่าว ยังยอมให้เครื่องรันอุปกรณ์วินิจฉัย เพื่อหาตำแหน่งที่แน่นอนของปัญหา และทำการแก้ไข

 

เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพ

เช่นเดียวกับเอชพี ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยีในฝันหลายตัว ที่ช่วยเพิ่มกำลังการผลิต (productivity) ให้กับองค์กรได้ และหนึ่งในนั้น คือ "เอเธนส์" (Athens) แนวคิดพีซี ซึ่งทางเอชพีเปิดตัวไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา จากความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่รวมคุณสมบัติของคอมพิวเตอร์, โทรศัพท์, กล้องถ่ายภาพ, พร้อมทั้งซีดี-รอม ไดร์ฟเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสับเปลี่ยนการทำงานระหว่างโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์เคลื่อนที่, แฟกซ์, อีเมล, ข้อความทันใจ และการประชุมทางไกลภายใน คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวได้ และความสามารถที่ดึงดูดความสนใจจากบริษัทต่างๆ ได้มาก ก็คือ การแสดงข้อมูลลูกค้าที่โทรเข้ามาอย่างอัตโนมัติ

อีกแนวคิดพีซีของเอชพี คือ "Matisse" ที่จะนำเสนอทางเลือกเกี่ยวกับขนาดหน้าจอและความสามารถในการอัดประจุไฟ และการรวมอุปกรณ์ไร้สายเข้าไว้ด้วยกันโดยไม่ต้องใช้สาย Matisse ซึ่งยังอยู่ในระยะแนวคิดนั้น ประกอบด้วยจอแบน ที่มีให้เลือก 3 ขนาด คือ 14, 15, 17 นิ้ว และมีราง (rail) อิเล็กทรอนิกส์ล้อมรอบเครื่องพีซี เพื่อทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ชาร์จไฟให้กับอุปกรณ์ไร้สายทุกประเภท ทั้งเครื่องเล่นเอ็มพี 3 แป้นพิมพ์และเมาส์ เพียงแค่วางอุปกรณ์ไว้บนแท่นชาร์จที่เชื่อมต่อกับรางดังกล่าว เครื่องจะชาร์จไฟทันทีโดยไม่ต้องเสียบแบตเตอรี่

นอกจากนี้ Matisse ยังใช้ "knowledge pod" ฮาร์ดดิสก์แบบถอดได้ ในการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งถูกป้องกันไว้ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพจดจำลายมือ

 

ดับความร้อนด้วยน้ำ

ด้านนักวิจัยของบริษัท โตชิบา จากญี่ปุ่น และบริษัท เกตเวย์ ในเมืองโปเวย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย อยู่ระหว่างออกแบบแล็บท็อป ซึ่งทำความเย็นด้วยน้ำ จอภาพถอดได้ และคอมพิวเตอร์ที่สามารถแขวนไว้บนผนังได้ ประมาณปลายปีหน้า บริษัท โตชิบา จะเริ่มต้นขายแล็บท็อปทำความเย็นด้วยน้ำ ตัวแทนบริษัท และนักสังเกตการณ์ เปิดเผยว่า วิธีการทำความเย็นดังกล่าว จะทำให้เสียงดังน้อยกว่าพัดลม และใช้พลังประมวลผลของชิพได้เต็มที่สุด

นายมาซา โอคุมุระ ผู้อำนวยการวางแผนผลิตภัณฑ์ทั่วโลกของโตชิบา กล่าวว่า ต้นแบบโน้ตบุ๊คของโตชิบา ที่เก็บน้ำถูกจัดวางไว้ใกล้กับซีพียู และตัวประมวลผลกราฟฟิก ซึ่งเป็นชิพ 2 ตัวที่ปล่อยความร้อนส่วนใหญ่ และความร้อนที่ว่านี้ จะถูกระบายออกไปทางด้านหลังของจอแอลซีดี แต่เทคโนโลยีดังกล่าว มีจุดบกพร่อง กล่าวคือ น้ำจะเพิ่มน้ำหนัก และหากไม่รวมไว้อย่างถูกต้อง จะทำให้อายุการใช้อุปกรณ์ประกอบสั้นลง และยิ่งกว่านั้น ยังอาจฆ่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์ได้ด้วยกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม นายโอคุมารา กล่าวอีกว่า โตชิบา กำลังทดสอบของเหลวชนิดอื่น ซึ่งอาจมีน้ำหนักเบากว่า แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

โดดเด่นด้วยสไตล์ที่แตกต่าง

ขณะที่บริษัท เกตเวย์ ได้บริษัท ดีไซน์เวิร์คส์ ช่วยพัฒนาสายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ตามแนวคิดที่เน้นความมีสไตล์ ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงเท่านั้น แต่ยังดูดีอีกด้วย โดยหนึ่งในดีไซน์ตามแนวคิดดังกล่าว คือ พีซี ที่สามารถแขวนไว้ในบนผนังได้ และคาดว่า จะได้รับความสนใจจากผู้ที่ต้องการคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องรับแขก แต่ไม่ต้องการเครื่องขนาดใหญ่ ต้นแบบพีซีดังกล่าว จะมาพร้อมกับแป้นพิมพ์และเมาส์ไร้สาย แต่ไม่มีจอ

ตัวแทนเกตเวย์ เปิดเผยว่า พีซีติดผนัง สามารถแขวนไว้ใกล้ และเชื่อมต่อกับทีวีพลาสมา ซึ่งกำลังขายดีอยู่ในขณะนี้ได้ นอกจากนี้ เกตเวย์ ยังพัฒนาแล็บท็อป และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่มาพร้อมกับจอแบนไร้สาย ซึ่งสามารถถอดและพกพาไปใช้ในที่ต่างๆ ได้ สิ่งเหล่านี้ จะช่วยให้ประชาชนสามารถเปิดภาพยนตร์ดีวีดี ในสำนักงาน แต่นั่งดูในห้องนั่งเล่น หรือห้องนอนได้ กระนั้น ดีไซน์ของเกตเวย์ทั้งหมด ยังอยู่ในขั้นของแนวคิด และนายบ็อบ เบอร์เนตต์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของเกตเวย์ ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดการวางตลาดของสินค้าเหล่านี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เทคโนโลยีตัวนี้ อาจถูกนำมาใช้เป็นแนวคิดของการทำตลาดในทุกวันนี้

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.