เทคโนโลยี "ป้ายอัจฉริยะ" สร้างสินค้าพูดได้

 

ป้ายประเภทต่างๆ ซึ่งนำไปใช้ในการติดตามรถ และสัมภาระ รวมถึงการใช้ทางด่วนเป็นต้น

นักวิจัยสหรัฐ ใช้เทคโนโลยีเครื่องส่งวิทยุ ของเครื่องบินขับไล่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 พัฒนา "ป้ายอัจฉริยะ" แจ้งเตือนวันหมดอายุของสินค้าให้กับผู้บริโภค

 

กลุ่มนักวิจัย ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากผู้ค้าปลีกชั้นนำบางแห่ง อยู่ระหว่างปรับปรุงเทคโนโลยีบ่งชี้คลื่นวิทยุ ที่พัฒนาสำหรับนักบินเครื่องบินต่อสู้สหรัฐ เมื่อทศวรรษ ที่ 1940 มาใช้ในการสร้าง "ป้ายอัจฉริยะ" (Smart labels) ซึ่งเป็นป้ายประมวลผลขนาดเล็ก ที่ติดอยู่บนสินค้า ซึ่งจะบอกผู้บริโภคได้ว่า เมื่อใดไข่ หรือนมจะเสีย กลุ่มนักวิจัยและผู้ค้าปลีก เปิดเผยว่า ป้ายดังกล่าว ซึ่งเป็นเครื่องส่งวิทยุขนาดเล็ก ประกอบด้วยไมโครชิพ และเสาอากาศจิ๋ว ที่อาจทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตในศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และห้องครัวง่ายกว่าที่คิด

 

ก่อนหน้านี้ บริษัท ยิลเลตต์ บริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล บริษัท ทาร์เก็ต รวมถึงบริษัท วอล-มาร์ท และรัฐบาลกลาง ให้เงินลงทุนในโครงการค้นคว้า และพัฒนาป้ายอัจฉริยะของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ คิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 300,000 ดอลลาร์

 

ร่นเวลาตรวจสอบสินค้า

กระนั้น บรรดาผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย ต่างมั่นใจว่า ป้ายอัจฉริยะ จะสามารถลดปัญหาเส้นทางการจัดส่งสินค้า ด้วยการติดตามตั้งแต่สนามบินไปจนถึงตู้เก็บอาหารของผู้บริโภค ด้านเวนดี้ จาเควซ โฆษกหญิงของบริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ป้ายอัจฉริยะ อาจทำให้ผู้บริโภคใช้เวลาน้อยลง ในการตรวจสอบสินค้าบนรถบรรทุกที่เต็มไปด้วยสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบมาแล้วครั้งหนึ่ง ขณะที่ ห้องครัวในอนาคต ตู้เย็นเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สามารถบอกผู้บริโภคได้ว่า เมื่อใดนมจะเสีย ขณะที่ เตาไมโครเวฟ จะจัดเตรียมอาหารเย็นได้ด้วยตัวเอง

 

คุณสมบัติดีกว่าบาร์โค้ด

พร้อมกันนี้ ปัจจุบันป้ายอัจฉริยะ ได้รับการพัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีความฉลาดมากกว่าบาร์โค้ด เนื่องจากมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลมากถึง 64 เท่า ทำให้สามารถถ่ายโอนข้อมูลไปให้ผู้ค้าได้เร็วกว่าเดิมถึง 40 เท่า และเครื่องสแกนเนอร์ สามารถอ่านป้ายอัจฉริยะได้จากระยะไกล 5 ฟุต นอกจากนี้ ข้อมูลบนป้ายดังกล่าว ยังสามารถตั้งโปรแกรมใหม่ได้อีกด้วย เทคโนโลยีดังกล่าว ที่ใช้ในการปรับปรุงป้ายอัจฉริยะ พัฒนาขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะผลพลอยได้จากเรดาร์ หลังจากฝ่ายพันธมิตร ประดิษฐ์เครื่องบินที่มาพร้อมเครื่องส่งวิทยุ ซึ่งช่างเทคนิคเรดาร์ สามารถแยกแยะเครื่องบินของฝ่ายศัตรูได้ ต่อมานักบินเครื่องบินขับไล่ และผู้ควบคุมการบิน ได้นำเทคโนโลยีดังกล่าว ไปใช้ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน สำหรับการใช้งานบนพื้นดิน มีการนำป้ายอัจฉริยะ ไปใช้งานในทศวรรษที่ 1970 ด้วยการประทับตราโคและกระบือ และล่าสุดพบว่า มีการนำไปใช้ที่ด่านเก็บค่าทางด่วน และสถานีแก๊ส นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าว ยังเคยใช้ฝังในแมว สุนัข ตลอดถึงป้ายสัมภาระต่างๆ เพื่อความสะดวกในการติดตามและลงทะเบียน

 

อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานที่ผ่านมา นักวิจัยของมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก ได้พัฒนา วิธีสร้างเสาอากาศขนาด 3 นิ้ว บนชิพซิลิคอนขนาด 2 มิลลิมิเตอร์ โดยเบียดบังพื้นที่วงจรคอมพิวเตอร์ ระหว่างนั้น บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เปเปอร์ ได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทในอิสราเอล เพื่อทำตลาดแบตเตอรี่รุ่นบางเฉียบ ซึ่งสามารถใช้สั่งพิมพ์งานบนกระดาษได้ โดยอุปกรณ์ทั้ง 2 ชิ้น น่าจะเพิ่มประสิทธิภาพของป้ายอัจฉริยะได้

 

หลายฝ่ายหวั่นราคาแพงเกินไป

นายไมค์ ไลอาร์ด นักวิเคราะห์ของเวนเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ บริษัทที่ปรึกษาในเมืองนาติก รัฐแมสซาชูเซตส์ เผยว่า ในทศวรรษหน้า หรือนานกว่านั้น เทคโนโลยีป้ายอัจฉริยะ อาจมีราคาแพงเกินไปสำหรับผู้ผลิตกระป๋องใส่สบู่ หรือหลอดใส่ยาสีฟัน ทั้งนี้ ป้ายอัจฉริยะ มีราคาตั้งแต่ 40 เซนต์ จนถึง 4 ดอลลาร์ต่อชิ้น ซึ่งอาจจะดูไม่มากนัก แต่จะเพิ่มต้นทุนมหาศาลให้กับผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่าย นายสตีฟ ฮัลลิเดย์ รองประธานฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัทเอไอเอ็ม ในเมืองพิตส์เบิร์ก กล่าวว่า ป้ายอัจฉริยะราคาถูก จะเพิ่มราคาของหมากฝรั่งขึ้นเป็น 2 เท่า ขณะที่ ตัวแทนร้านค้าปลีกและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ กล่าวว่า ราคาดังกล่าวจะลดลง ก่อนที่ป้ายอัจฉริยะจะวางขายในท้องตลาด

 

คาดติดตลาดอย่างรวดเร็ว

บาร์โค้ด จดสิทธิบัตรเมื่อปี พ.. 2495 และใช้เวลาราว 22 ปี กว่าสินค้าชนิดแรกที่ประกอบด้วยบาร์โค้ด จะวางขาย และต้องรอจนถึงปี พ.. 2527 กว่าร้านขายเครื่องเขียนนำเครื่องสแกนเนอร์บาร์โค้ดไปใช้งาน สำหรับป้ายอัจฉริยะ นายเจมส์ เฟลส์ ผู้อำนวยการศูนย์ออโตเมติก ไอเดนติฟิเคชั่น ของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ กล่าวว่า จะได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถประยุกต์ใช้กับสิ่งของต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้ ป้ายอัจฉริยะจะได้รับการสนับสนุนเร็วขึ้น หากบริษัทผู้ผลิต หรือร้านค้าปลีกชั้นนำ นำไปใช้ในการเพิ่มผลิตผลและลดต้นทุนของบริษัท

 

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.