"ไมโครซอฟท์ โฮม" แปลงโฉมสู่โลกแห่งความจริง

 

เอกรัตน์ สาธุธรรม

คงไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมาย หากวันหนึ่งคุณเดินเข้าไปในบ้านแล้วสามารถสั่งการทุกอย่างภายในบ้านเพียงปลายนิ้วสัมผัส ด้วยรีโมต คอนโทรล ที่เตรียมกลายสภาพจากที่เคยสั่งงานได้แค่เครื่องใช้ไฟฟ้า มาเป็นผู้ควบคุมสั่งการทุกอย่างภายในบ้านได้อย่าง "อัจฉริยะ" ไม่เพียงแค่ "รีโมต คอนโทรล" ที่จะกลายเป็นเสมือนอุปกรณ์หลักสั่งงานภายในบ้านได้เท่านั้น เพราะต่อไปอาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ แต่การสั่งงานด้วย "เสียง" น่าจะเป็นอนาคตอันใกล้ ที่มาจะมาคู่กับการเป็น "บ้านอัจฉริยะ"

 

ความเคลื่อนไหวที่คึกคักมากขึ้นของแนวคิด "บ้านอัจฉริยะ" เกิดปรากฏการณ์ "ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์" มากที่สุดในปีนี้ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เจ้าของโครงการบ้านจัดสรรสุดหรูหลายโครงการ เจ้าของเทคโนโลยีทั้งด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ พร้อมตบเท้า "เสนอแนวคิด" พร้อม "สาธิตตัวอย่าง" บ้านอัจฉริยะ กันอย่างครึกครื้น แม้แต่ "บิล เกตส์" มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก และเจ้าของบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกอย่าง "ไมโครซอฟท์" ยังต้องยอม "ซูฮก" ให้กับเทคโนโลยี "บ้านอัจฉริยะ" ด้วยการแปลงบ้านที่อยู่อาศัยใน "ซีแอตเติล" มลรัฐวอชิงตัน ให้กลายเป็นบ้านสุดไฮเทคทั้งหลัง ควบคุมด้วยระบบปฏิบัติการ "วินโดว์ส เอ็กซ์พี มีเดีย เซ็นเตอร์" ในบ้านของ "เกตส์" อัจฉริยะขนาดที่ว่า ระบบของบ้านจะรู้ได้ทันที ที่เขาก้าวเข้ามาในบ้าน และรู้ใจอีกว่า เกตส์ต้องการให้อุณหภูมิของบ้านอยู่ในระดับเท่าไร และบ้านก็จะปรับอุณหภูมิไปตามนั้น ทุกอย่างภายในบ้านจะรันด้วยระบบปฏิบัติการ "วินโดว์ส" ทั้งหมด ขึ้นอยู่ที่ว่าอุปกรณ์ทั้งหลาย จะสนับสนุนการใช้งานวินโดว์สอะไร ซึ่งทุกอย่างจะสามารถเชื่อมต่อหากันได้ทั้งหมด ทุกอย่างในบ้านจะคุยภาษาเดียวกัน เกตส์ ใช้ระบบปฏิบัติการตัวนี้ "กรุยทาง" ทำตลาดอย่างครึกโครมในประเทศสหรัฐอเมริกามาระยะหนึ่งแล้ว

 

เมื่อไม่นานมานี้ ไมโครซอฟท์ "อิมพอร์ต" แนวคิด "บ้านอัจฉริยะ" ให้คนไทยได้สัมผัส พร้อมประกาศก้องว่าให้คนไทยเตรียมตัวรับกับ "เทคโนโลยีใหม่" ชนิดนี้ได้เลย โดยไมโครซอฟท์เตรียมนำเสนอให้ได้สัมผัสอย่างช้าไม่เกินปี 2548 แนวคิด "บ้านอัจฉริยะ" ของไมโครซอฟท์ ประกอบด้วยโซลูชั่นควบคุมการทำงานของบ้านภายใน ผ่านระบบปฏิบัติการ "วินโดว์ส เอ็กซ์พี มีเดีย เซ็นเตอร์" ที่จะเป็น "Core Technology" ที่จะเป็นตัวสั่งงานอุปกรณ์ที่อยู่ในบ้านได้ เช่น การดูโทรทัศน์แบบสั่งได้ (ออน ดีมานด์) ควบคุมระดับเสียงของวิทยุให้นุ่มหู หรือเลือกที่จะเล่นเกมยามว่าง ไม่เพียงแค่การใช้งานที่ออกแนว "เอ็นเตอร์เท้นท์" เท่านั้น ตู้เย็นอัจฉริยะก็เป็นอีกนวัตกรรม ที่ไมโครซอฟท์ได้นำเสนอ โดยสามารถตรวจเช็คได้ว่า ขณะนี้มีของอะไรอยู่ในตู้เย็นบ้าง และของเหล่านั้นถูกใช้ไปเท่าไร สมมติว่า มีไข่ในตู้เย็น 10 ฟอง ทันทีที่หยิบไข่ออกจากตู้เย็น 2 ฟอง ระบบจะรายงานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการควบคุมทันทีว่า มีไข่เหลือ 8 ฟอง ซึ่งหากต้องการสั่งซื้อของบางอย่างเพิ่ม ก็สามารถซื้อผ่านตู้เย็นได้ทันที รวมทั้งขอสูตรการทำอาหารรสเด็ดต่างๆ ได้ด้วย ถัดจากความ "อัจฉริยะ" ภายในห้องครัวแล้ว อนาคตอีกไม่ไกล คนไทยจะได้สัมผัสความ "มหัศจรรย์" ของห้องนอน ที่สามารถควบคุมแสง ด้วยการสั่งผ่าน "เสียง" เช่น ทันทีที่พูดว่า ต้องการให้แสงภายในห้องมืดลง แสงภายในห้องก็จะลดความสว่างลงโดยอัตโนมัติ ไมโครซอฟท์นำเสนอคุณสมบัตินี้ สำหรับแม่ที่ต้องการเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนอน ซึ่งสามารถกำหนดบรรยากาศให้เป็นไปตามต้องการได้

"ชาญชัย พันธุ์โสภา" ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารการตลาด บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า แนวคิด "บ้านอัจฉริยะ" โดยสั่งการผ่านระบบปฏิบัติการ "วินโดว์ส เอ็กซ์พี มีเดีย เซ็นเตอร์" นั้น เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐอเมริกา "ซอฟต์แวร์ตัวนี้ ไมโครซอฟท์ทำตลาดในสหรัฐอเมริกา เพราะที่นั่นโครงสร้างพื้นฐานพร้อมทั้งในส่วนของเทคโนโลยีด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ เอื้อให้คนสามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้สร้างความสะดวกสบายให้กับชีวิตได้ไม่ยาก ในสหรัฐอเมริการะบบปฏิบัติการนี้ขายดีมาก" ชาญชัยเล่า  จริงๆ แล้ว ไมโครซอฟท์พัฒนา "วินโดว์ส เอ็กซ์พี มีเดีย เซ็นเตอร์ เอดิชั่น" (Windows XP Media Center Edition) มานานหลายปีแล้ว และแต่ละปีก็พัฒนาเป็นเวอร์ชั่นต่างๆ เพิ่มขึ้น "วินโดว์ส เอ็กซ์พี มีเดีย เซ็นเตอร์" (Windows XP Media Center) เป็นโปรแกรมเสริมของระบบปฏิบัติการวินโดว์ส เอ็กซ์พี ซึ่งพัฒนาให้สามารถรับสัญญาณจากอุปกรณ์ควบคุมระยะไกล (Remote Control) ได้ เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์ มีคุณสมบัติเป็นศูนย์อุปกรณ์ความบันเทิงภายในบ้าน

 

ตัวแทนของไมโครซอฟท์ ที่ดูแลในส่วนธุรกิจอีโฮมของไมโครซอฟท์ เคยบอกว่า บริษัทเน้นเปิดตัวโปรแกรมดังกล่าว ในตลาดประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเกาหลีใต้ โดยเน้นที่สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหลัก ด้วยความพร้อมที่จะเข้าถึงทั้งในส่วนของ "ผู้ใช้" และ"ฮาร์ดแวร์" ระบบปฏิบัติการนี้ วางขายพร้อมกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่ออกแบบให้ใช้กับซอฟต์แวร์ดังกล่าวโดยเฉพาะ ซึ่งจะบรรจุโปรแกรมสำหรับเล่นเพลงดิจิทัล เครื่องเล่นวิดีโอ อุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ และเครื่องเล่นดีวีดีเอาไว้ ชุดคอมพิวเตอร์ดังกล่าว จะใช้อุปกรณ์ควบคุมระยะไกล เพื่อควบคุมการทำงานของเครื่อง ซึ่งจะประกอบด้วยปุ่มสั่งเริ่มทำงาน "start" เช่นเดียวกับการสั่งงานบนหน้าต่างวินโดว์สทั่วๆ ไป ส่วนจอคอมพิวเตอร์ จะได้รับการออกแบบให้มีลักษณะคล้ายจอภาพยนตร์ แทนที่จะใช้จอมาตรฐานของวินโดว์สตามปกติ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อไปยังคำสั่ง หรือโปรแกรมสื่อบันเทิงอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มเป้าหมายของศูนย์สื่อความบันเทิงระบบวินโดว์ส เอ็กซ์พีนี้ ได้แก่ ผู้นิยมใช้อุปกรณ์สื่อดิจิทัล หอพักนักศึกษาต่างๆ รวมทั้งกลุ่มวัยรุ่นทั่วไป

 

ระบบนี้ มีชื่อรหัสเดิมว่า "ฟรีสไตล์" เป็นชุดอุปกรณ์ดังกล่าว ที่รวมอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ และโปรแกรมสำหรับฟังเพลง ดูวิดีโอ รับส่งอีเมล และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นนักวิจารณ์จำนวนมากไม่เชื่อว่า ระบบปฏิบัติการนี้ของไมโครซอฟท์จะประสบความสำเร็จ เมื่อเทียบกับระบบปฏิบัติการวินโดว์สชุดอื่นๆ ที่ไมโครซอฟท์ทำออกมา แต่ถึงวันนี้นักวิเคราะห์รายนั้น อาจต้องเปลี่ยนคำพูด เพราะความนิยมที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา

 

"ชาญชัย" บอกว่า ในประเทศไทยคงต้องรออีกสักระยะ สำหรับซอฟต์แวร์ลักษณะนี้ แต่ช่วงนี้ถือว่า "เกือบเหมาะสม" แล้วในการเริ่มที่จะทำตลาด ด้วยความพร้อมที่เพิ่มขึ้นของทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึง "การรับรู้" ของคน "พรรณี จิรายุพัฒนา" ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เล่าว่า แนวคิดบ้านอัจฉริยะนี้ มาจากแนวความคิดของ "บิล เกตส์" ที่ต้องการทำงานในเชิงสังคม เพราะเชื่อว่า "สังคมที่ดี เริ่มต้นที่บ้าน" ทั้งนี้ สิ่งที่แตกต่างของซอฟต์แวร์วินโดว์ส มีเดีย เซ็นเตอร์ ในอเมริกานั้น อยู่ที่รายการโทรทัศน์ที่นั่นจะมีรูปแบบของการเป็น "มีเดีย ไกด์" ซึ่งจะแสดงรายการโทรทัศน์ที่จะออกฉายในวันนั้น อย่างเช่น ซีรีส์ดังๆ ดังนั้นผู้ชมสามารถตั้งระบบอัดแบบอัตโนมัติได้

 

"จริงๆ รูปแบบของการใช้งานระบบปฏิบัติการนี้ง่ายมาก เพราะหากมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สามารถสนับสนุนการทำงานของซอฟต์แวร์นี้ ก็จะสามารถใช้สายสัญญาณเชื่อมต่อไปยังด้านหลังของชุดคอมพิวเตอร์ ที่รันระบบปฏิบัติการนี้ พร้อมทั้งสั่งงานได้ทันที ง่ายเหมือนเราต่อเครื่องดีวีดีเข้ากับทีวี" พรรณี บรรยายสรรพคุณ  เธอบอกว่า ตอนนี้ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กำลังทำงานในส่วนของรายละเอียดอยู่ โดยเฉพาะกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ว่า จะมีใครสามารถมาสนับสนุนเทคโนโลยีนี้ได้บ้าง โดยเฉพาะผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าดิจิทัลทั้งหลาย

ส่วนราคาของโซลูชั่นนี้ เธอบอกว่ามีเงินแค่ 80,000 ก็จะสามารถได้เทคโนโลยีทั้งเซต คือ คอมพิวเตอร์ที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดว์ส มีเดีย เซ็นเตอร์ คีย์บอร์ด เมาส์ รีโมตคอนโทรล แต่ราคานี้ยังไม่รวมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ อย่างตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ที่จะต้องสนับสนุนการทำงานของ "โอเอส" ตัวนี้

 

"จริงๆ แล้วไมโครซอฟท์ต้องการให้คนได้เข้าถึงไมโครซอฟท์ให้มาก เหมือนเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเราเองมีสินค้าที่สนับสนุนการใช้ชีวิตของคนได้หลากหลายรูปแบบ เรียกว่าตั้งแต่ตื่นนอนมา ทำงาน กลับบ้าน จนถึงการนอน ก็จะเจอกับเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ แทบจะเรียกว่า ไมโครซอฟท์โฮม ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่บริษัทวางไว้สำหรับโอเอสตัวนี้ คือ ตลาดคอนซูเมอร์ ตอนนี้ เราเหมือนมีตัวโอเอสอยู่ แต่เราต้องหาฮาร์ดแวร์ประมาณเครื่องใช้ไฟฟ้าดิจิทัลก็ต้องรอดูว่า เขาจะเอาเข้ามาในไทยไหม เราต้องรอฮาร์ดแวร์ด้วย อย่างในเมืองนอกไม่มีปัญหาเลย เพราะฮาร์ดแวร์ที่จะเข้ามาสนับสนุนมีมาก ตอนนี้ แบรนด์เนมดังๆ ของเมืองนอกสามารถเชื่อมต่อระบบปฏิบัติการนี้ได้ทั้งหมด" เธอว่า พรรณี เล่าว่า อย่างไมโครซอฟท์สำนักงานใหญ่ ก็มีบริเวณที่เรียกว่า "ไมโครซอฟท์โฮม" แต่อาจจะมีบางอย่างที่ล้ำหน้ามากกว่าที่อื่น โดยตามผนังจะติดตั้งตัวพอคเก็ต พีซี หรือการสั่งงานในบ้านด้วย "เสียงคน" ชาญชัย บอกอีกว่า แนวคิด "บ้านอัจฉริยะ" ที่ไมโครซอฟท์ ประเทศไทยพูดถึงขึ้นถี่ในช่วงนี้ เป็นเพราะต้องการให้คนไทย "เตรียมรับ" เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เตรียมนำเข้ามาสร้าง "ความอัจฉริยะ" ให้เกิดขึ้นกับที่อยู่อาศัยของคนไทย ซึ่งเทคโนโลยีแบบนี้ ไมโครซอฟท์ไม่สามารถดำเนินการโดยลำพังได้อย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ เชื่อว่า บริษัท "ทรู คอร์ปอเรชั่น" ผู้ให้บริการเทคโนโลยี "อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง" หรือบรอดแบนด์ และเป็นบริษัทที่ปูทางทำ "บ้านอัจฉริยะ" มาก่อน น่าจะเป็นชื่อแรกๆ ที่จะเข้ามาเป็น "พันธมิตร" สร้างบ้านอัจฉริยะด้วยกันกับไมโครซอฟท์ หากยังถูก "เก็บงำ" รายละเอียดดังกล่าว แต่แหล่งข่าวในวงการคอมพิวเตอร์ ยืนยันว่า "มีความเป็นไปได้สูงมาก"

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.