ชี้แล็บทอปปีหน้าเริ่มใช้เซลล์พลังงาน
นักวิทยาศาสตร์ เผยความคืบหน้า
เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงใกล้วางตลาด เตรียมใช้กับอุปกรณ์กลุ่มแล็บทอปเจ้าแรก
คาดป้อนพลังงานได้นานกว่า 10 ชั่วโมง แต่เชื่อยังใช้เวลานาน ก่อนทดแทนตลาดแบตเตอรี่เต็มรูปแบบ
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า
บริษัทเทคโนโลยีญี่ปุ่นหลายแห่ง กำลังเร่งพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงขนาดเล็ก
ที่หันมาใช้สารเมธานอลในการสร้างพลังงาน
เมธานอล เป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถลุกติดไฟได้เช่นเดียวกับแอลกอฮอล์ทั่วไป
แต่นายจอห์น กู๊ดแมน ประธานแผนกเซลล์เชื้อเพลิง บริษัทเอนเทอกริส กล่าวว่า เซลล์เชื้อเพลิงโดยปกติจะใช้สารละลายที่มีปริมาณเมธานอลไม่ถึง
24% จึงไม่มีปัญหาด้านความปลอดภัยขณะใช้งาน ตามที่นักวิจารณ์ได้ตั้งข้อสังเกต
อาทิ การพกขึ้นเครื่องบิน เซลล์เชื้อเพลิงสำหรับแล็บทอปได้มีการคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกโดยบริษัทโตชิบา
และเอ็นอีซี ซึ่งมีแผนที่จะวางจำหน่ายตามท้องตลาดในปีหน้า ขณะที่ บริษัทคาซิโอ โซนี่
ฮิตาชิ และซัมซุง ก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีตัวนี้อยู่เช่นกัน
นายกู๊ดแมน ทำนายว่า ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า
อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ จะสามารถพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงให้มีขนาดเล็กได้เท่ากับไฟแช็ก
และมีระยะเวลาทำงานต่อเนื่องนาน 10 ชั่วโมงขึ้นไป และคาดว่าจะมีราคาจำหน่ายเริ่มต้นราว
200 ดอลลาร์ (8,600 บาท) โดยในระยะแรก จะมีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้เป็นพลังงานสำรองสำหรับแบตเตอรี่ธรรมดาก่อน
แล้วจึงนำมาใช้แทนอย่างเต็มรูปแบบภายหลัง อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตชิพยักษ์ใหญ่ อินเทล ได้สาธิตแล็บทอปที่ใช้ต้นแบบเซลล์เชื้อเพลิงไปเป็นครั้งแรกแล้ว
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา "การมาถึงของยุคเทคโนโลยีไร้สาย
ทำให้เราต้องพัฒนาเทคโนโลยีกริส เช่นเดียวกับพลังงาน
เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องใช้สายเคเบิลอย่างแท้จริง" นายไมค์
รอคกี้ ผู้อำนวยการฝ่ายเงินทุนของอินเทล กล่าว
ด้านนักวิเคราะห์ เชื่อว่า
แล็บทอปจะเป็นอุปกรณ์ตัวแรกที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิง เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีนี้
ให้มีขนาดเล็กพอสำหรับมือถือ ยังต้องใช้เวลาค้นคว้าอีกระยะหนึ่ง
ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์และสถานีพลังงานนั้น จะต้องมีการแก้ปัญหาด้านโครงสร้างหลายอย่าง
จึงจะสามารถนำเซลล์พลังงานมาประยุกต์ใช้ได้ กลุ่มพันธมิตรธุรกิจคอมพิวเตอร์
ทำนายว่า ภายในปีหน้า จะมีแล็บทอปเพียง 2,000 เครื่องทั่วโลก
ที่หันมาใช้เซลล์พลังงาน และตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านเครื่องในปี
2551 และเพิ่มเป็น 120 ล้านเครื่อง
ก่อนปี 2554 โดยคิดเป็นมูลค่าตลาด 1,200 ล้านดอลลาร์
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 4 กันยายน 2546
|