เปิดโฉมโอเอสแห่งอนาคต
เป้าหมายของ "บิล เกตส์" หัวหน้าฝ่ายสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ ของไมโครซอฟท์ ที่กล่าวว่า "อนาคตของการประมวลผล คือ คอมพิวเตอร์จะสามารถพูด ฟัง มองเห็นและเรียนรู้ได้"
หมายความว่าอย่างไรกันแน่ ...
"กรุงเทพ-ไอที"
ฉบับนี้จะพาท่านไปพบกับความหมาย และความพยายามที่จะให้ฝันเป็นจริง
และแน่นอน ฝันที่ว่านั้นก็จะต้องช่วยให้การตลาดของผลิตภัณฑ์ไมโครซอฟท์อย่าง "ระบบปฏิบัติการ" มีมูลค่าเพิ่มมากพอที่ลูกค้าจะยอม
"เปลี่ยนรุ่น" ให้ดีขึ้น
กำหนดเป้าหมาย
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ "ฉลาด"
เท่ากับ หรือน้อยกว่าความคิดของคนที่พัฒนาโปรแกรมนั้นขึ้นมา ดังนั้น
เพื่อให้ซอฟต์แวร์ฉลาดมากขึ้น จึงต้องใช้คนฉลาดมากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ จะต้องใช้ทีมนักวิจัย
และพัฒนาด้านคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย ไมโครซอฟท์ ก็ต้องทำเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน จึงตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ขึ้นในจีน
ตามข้อตกลง เพื่อแลกกับการเข้าตลาดจีน แนวคิดของการวิจัยค้นคว้า ก็คือ หาวิธีทำให้คอมพิวเตอร์สามารถช่วยงานผู้ใช้ได้มากขึ้น
ดีขึ้น และง่ายขึ้น ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นได้
ก็หมายถึงความสำเร็จทางการตลาดที่จะรออยู่ข้างหน้า จากการเพิ่มจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์มากขึ้น
ในฐานะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้งาน และตอบสนองกับวิถีชีวิตยุคใหม่
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนการศึกษา ที่ผู้สอนและผู้เรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นโดยมีคอมพิวเตอร์สื่อ
ตลอดจนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
ปัจจัยรอบด้าน
ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่อยู่ในตลาดซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
และผู้เล่นทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นประเภท "จับตาย" ทั้งสิ้น บริษัทผู้นำตลาดอย่างไมโครซอฟท์ จึงจำเป็นที่จะต้อง "มองไปข้างหน้า" และมองเผื่อเทคโนโลยีอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ด้วย สิ่งเหล่านี้ ได้แก่ พลังในการประมวลผลที่เพิ่มความเร็ว
2 เท่าทุกๆ 18 เดือน, การประมวลผล และแสดงผลกราฟฟิกเก่งขึ้น 5 เท่าทุกๆ ปี,
อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลจุเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกๆ
ปี และระบบเครือข่ายเร็วขึ้น 4 เท่าทุกๆ ปี นอกจากนี้
อุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ ที่สามารถเป็นทั้งคู่แข่ง และส่วนเสริมอันหลากหลายก็เข้าตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
ได้แก่ กล้องดิจิทัล, จอแสดงผลแบบเคลื่อนที่ได้ (โมบาย สกรีน), กระดานชนวนคอมพิวเตอร์ (Tablet
PC), หรือแม้แต่โทรศัพท์เคลื่อนที่
ที่กำลังกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันนั้น อุปกรณ์ใหม่ๆ
เหล่านี้ ก็ยังอาศัยการเชื่อมต่อ แบบไร้สาย และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
ระบบปฏิบัติการแห่งอนาคต
นายริค ราชิด รองประธานอาวุโส ไมโครซอฟท์
รีเสิร์ช กล่าวว่า ระบบปฏิบัติการ (โอเอส) ของไมโครซอฟท์ในอีก
5-10 ปีข้างหน้า จะต้องทำให้คอมพิวเตอร์ฉลาดขึ้น โดยเน้นความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน
(User Centric computing) และจะให้ความสำคัญกับการประมวลผล "งาน" ของผู้ใช้มากกว่าจะมองเป็นโปรแกรมๆ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ระบบปฏิบัติการยังต้องสามารถให้คำตอบกับผู้ใช้งานได้ทันที ในลักษณะของการถาม-ตอบ (Query) โดยดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลที่ตัวมันจะสร้างขึ้น
ต่างจากปัจจุบันที่ผู้ใช้ต้องค้นหาข้อมูลเอง เช่น การหาไฟล์ ผู้ใช้จะต้องไล่ไปเรื่อยๆ
ตามหลักการจัดระบบแฟ้มข้อมูลที่แบ่งเป็นโฟลเดอร์ (Hierarchy) โดยขณะนี้ ไมโครซอฟท์ กำลังทำวิจัยในโครงการ "AskMSR:
Automatic question Answering" ซึ่งเป็นโปรแกรม
ที่จะหาคำตอบให้กับผู้ใช้แบบอัตโนมัติ ในลักษณะของ "สารสนเทศ"
ตามที่ผู้ใช้ต้องการ แทนการค้นหาคำตอบแบบเดิมที่ให้ผู้ใช้ต้องพิมพ์ข้อมูลสำคัญเพื่อการค้นหาลงไปเอง
แล้วโปรแกรมจึงค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกันผ่านคำค้นหา (Keyword) โดยใช้โปรแกรมค้นหา (search engine) ดังในระบบปัจจุบัน
วิธีนี้จะทำให้การใช้งานรวดเร็วขึ้น เช่น
ผู้ใช้พิมพ์คำถามเข้าไปในระบบว่า "อับบราฮัม ลินคอน ถูกยิงเมื่อใด?"
ก็จะได้คำตอบขึ้นมาว่า "14 เมษายน 1865
- คำตอบแม่นยำ และถูกต้อง 86%" เป็นต้น
โดยคุณสมบัตินี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของ "MSN Search" ที่คาดว่าจะทำได้ในปีหน้าด้วย
นายราชิด กล่าว
นอกจากนี้
ระบบคอมพิวเตอร์จะจำลักษณะการใช้งานของผู้ใช้ (Modeling human Behavior) เอาไว้ เหมือนเป็นการเรียนรู้ลักษณะการใช้งานของแต่ละคนที่แตกต่างกันเอาไว้
ทำให้สามารถตอบสนองพฤติกรรมของผู้ใช้ได้แบบเฉพาะตัวมากขึ้น ซึ่งต่างจากปัจจุบัน ที่โปรแกรมจะตอบสนองพฤติกรรมของผู้ใช้งานเหมือนกันหมด
ทั้งนี้ความสามารถในการเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้นั้น จะทำให้ระบบปฏิบัติการสามารถคาดคะเนความต้องการของผู้ใช้งานได้
จากข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้ในอดีตที่ผ่านมา เพื่อจะทำให้คอมพิวเตอร์เป็นผู้ช่วยของมนุษย์ได้มากขึ้น
ซึ่งก็ทำให้ผู้ใช้สามารถทำงานได้ดีขึ้นนั่นเอง
วิธีการที่คอมพิวเตอร์สร้างรูปแบบการใช้งาน และเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งานนั้นจะกำหนดลำดับความสำคัญของงาน
(Priority) ได้ด้วย เพื่อจะได้รู้ว่างานไหนเร่งด่วนโดยเรียนรู้ความสำคัญจากอุปกรณ์ที่ป้อนข้อมูล
และเนื้อหา เช่น ข้อมูลที่เข้ามาจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ พีซี และพีดีเอ จะมีความสำคัญไม่เท่ากัน
หรือการจัดลำดับเนื้อหาว่าอีเมลใดเร่งด่วน และต้องการให้มีระบบเตือน
อีกทั้งต้องเข้าใจได้ว่าผู้ใช้งานนั้นกำลังทำอะไรอยู่ และรู้ว่า "เมื่อใด" และ "อย่างไร"
ที่จะป้อนข้อมูลใหม่ "แทรก" การใช้งานของผู้ใช้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ คอมพิวเตอร์ต้องสามารถจดจำ และติดตามได้ว่าผู้ใช้มองโปรแกรมใดในหน้าจอ
และทำงานอะไรที่ผ่านมา มีอะไรในระบบที่เกี่ยวข้องกับงานของผู้ใช้ที่กำลังทำอยู่
ใครที่ผู้ใช้งานด้วย และคนเหล่านั้นทำอะไร และข้อมูลอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสารสนเทศหรืองานที่ทำอยู่
ตัวอย่างเช่น ระหว่างผู้ใช้กำลังพิมพ์งานใดงานหนึ่ง ระบบก็จะค้นเอกสารที่ได้เคยดูไว้แล้วได้ทันที
(Instant retrieval) และมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับงานที่กำลังพิมพ์ได้อัตโนมัติ
โดยผู้ใช้ไม่ต้องสั่ง หรือนั่งทบทวนว่า เอกสารที่เคยดูไว้อยู่ที่ใดในเครื่อง ไม่ว่าเอกสารนั้นจะเป็นหน้าเวบ
เอกสารข้อมูล อีเมล ไม่เพียงแต่เอกสารเท่านั้น แต่โปรแกรมจะค้นลึกลงไปถึง "คน" ที่เกี่ยวข้องกับงานที่ผู้ใช้กำลังทำอยู่ด้วย
เช่น เมื่อพิมพ์งานในโครงการหนึ่ง ระหว่างทำงานระบบก็จะแสดงรายชื่อคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
พร้อมเบอร์ติดต่อหรืออีเมลออกมาด้วย หากเป็นคนที่อยู่ในรายชื่อของบริการข้อความทันใจ
ก็อาจปรากฏโปรแกรมข้อความทันใจขึ้นให้อัตโนมัติ เอื้ออำนวยให้ทำงานร่วมกันได้มากขึ้น
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ในสำนักงานระหว่างผู้ใช้กำลังทำงานหน้าจอเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่
คอมพิวเตอร์จะทราบและจำได้ว่าทำงานอะไรในหน้าจอนั้น และจะรู้ว่า ผู้ใช้อาจทิ้งงานที่กำลังทำอยู่
และไปรับโทรศัพท์ หรือเดินไปสนทนากับเพื่อนร่วมงานในระยะที่ไกลออกไปจากเครื่อง หากมีข้อมูลเร่งด่วนเข้ามา
เช่น อีเมลของผู้ส่งที่ผู้ใช้กำหนดว่าเป็นจดหมายสำคัญ (Priority) คอมพิวเตอร์อาจจะส่งระบบเตือน
หรือแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ได้โดยอัตโนมัติ รวมถึงความสามารถที่จะคาดการณ์ได้ว่า
ผู้ใช้นั้นอยู่ในที่ทำงานหรือนอกสถานที่ และอุปกรณ์ที่ผู้ใช้ติดต่อ เช่น
ผู้ใช้ต้องการสั่งซื้อเกมคอมพิวเตอร์ผ่านเวบไซต์ โดยใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ฉบับกระเป๋า
เมื่อผู้ใช้กรอกข้อมูลผ่านคอมพิวเตอร์ไประดับหนึ่งแล้ว ก็กลับบ้าน เมื่อถึงบ้านผู้ใช้สามารถเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ
คอมพิวเตอร์ก็จะนำหน้าจอเวบไซต์เดิมที่กรอกข้อมูลค้างไว้ขึ้น ให้ผู้ใช้สามารถทำงานต่อโดยผู้ใช้ไม่ต้องกรอกข้อมูลใหม่
ติดต่อกับคอมพิวเตอร์ง่ายขึ้น
นายยา ชิง จาง กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์
รีเสิร์ช เอเชีย กล่าวว่า นอกจากนั้นการติดต่อระหว่างคอมพิวเตอร์กับผู้ใช้งาน (User Interface) ก็จะสะดวก และทำได้คล่องตัวมากขึ้น
โดยโอเอสในอนาคตจะสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์รับข้อมูลใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นแป้นพิมพ์,
เมาส์, กระดานชนวนคอมพิวเตอร์, คอมพิวเตอร์ฉบับกระเป๋า (พอคเก็ตพีซี) หรือแม้แต่โทรศัพท์เคลื่อนที่ (โฟน พีซี) สามารถสั่งการด้วยเสียง ปากกา และดิจิทัล อิงค์ ที่พิมพ์แก้ไข
ประมวลผลข้อมูลจากลายมือเขียนของผู้ใช้ได้ (Handwriting) อย่างใกล้ชิดธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น
เขายกตัวอย่างงานวิจัยหนึ่งในห้องปฏิบัติของไมโครซอฟท์ เอเชีย "โครงการ Mulan" ที่แปลงข้อความให้เป็นเสียงพูดอัตโนมัติ
(Text to Speech) ที่พูดสลับสองภาษา อังกฤษ-จีนแมนดาริน โดยเป็นเสียงใกล้เคียงกับเสียงมนุษย์มาก ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง
ทั้งการฟังข้อความในอีเมลที่ส่งเข้ามาแทนการอ่าน การใช้บริการคอลล์ เซ็นเตอร์ ระบบทำบทพูดสนทนา
(Spoken Dialog System) และเวบไซต์ที่สามารถออกเสียงข้อมูลในเวบได้
(Voice enable web)
ห้องเรียนยุคศตวรรษที่ 21
ในเร็วๆ นี้ชั้นเรียนของ Messausatte Institute of
Technology และ Carnegie Mellon จะมีการติดตั้งระบบการเรียนการสอนสมัยใหม่
ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ชั้นเรียนมีปฏิสัมพันธ์หรือ Interactive มากขึ้นระหว่างผู้เรียนและผู้สอน รวมถึงผู้เรียนที่อยู่ห่างไกล หรือรีโมท เลิร์นนิ่ง
โดยทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์ ภาพจำลองง่ายๆ ของชั้นเรียนดังกล่าว ผู้เรียนในห้องเรียนจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของตัวเอง
ต่อเชื่อมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านระบบไวร์เลส แลน ระหว่างที่อาจารย์สอน ก็สามารถดูพาวเวอร์พอยท์หรือเลคเชอร์ในวิชาที่กำลังสอน
หากไม่เข้าใจส่วนใดในเนื้อหา ก็สามารถส่งคำถามเรียลไทม์ไปที่ผู้ช่วยสอนหรืออาจารย์ได้
หรือผ่านบริการข้อความทันใจ (Instant Messaging) โดยผู้ช่วยอาจารย์อาจตอบให้ทันที
หรืออาจให้อาจารย์ตอบในชั้นเรียนระหว่างที่สอนก็ได้
ส่วนผู้สอนเองก็มีอุปกรณ์แท็บเล็ท พีซี
ที่สามารถถือเดินไปมาในชั้นเรียน ดูข้อมูลที่เตรียมไว้ทั้งเลคเชอร์และเพาเวอร์พอยท์เพื่อประกอบการสอน
และดูคำถามที่ส่งมาผ่านโปรแกรมไอเอ็ม ขณะเดียวกัน ในชั้นเรียนจะมีระบบประชุมภาพทางไกลแบบหลายจุดที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่อยู่สถาบันหรือชั้นเรียนอื่นสามารถเรียนในวิชานั้นๆ
ได้ และส่งคำถามผ่านบริการข้อความทันใจมายังผู้สอน และผู้ช่วยสอนได้ทันที ทั้งหมดเป็นการประสานองค์ประกอบเทคโนโลยีปัจจุบันเข้ามาประยุกต์ในห้องเรียน
เปลี่ยนวิถีรูปแบบการเรียนแบบดั้งเดิมที่ผู้สอนจัดทำแผ่นใส่ฉายโปรเจ็คเตอร์ในห้อง และลดข้อจำกัดที่นักศึกษาอาจไม่กล้าถามในชั้นเรียนระหว่างที่อาจารย์สอนให้มาส่งถำถามที่เป็นออนไลน์แชทได้ทันที
ตอบสนองแนวคิดการเรียนสมัยใหม่ที่มุ่งผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 31 ตุลาคม 2545
|