รายงาน : พีซีโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์เพิ่มชีวิตชีวาคอมพ์ใหม่
นับจาก "แอปเปิล คอมพิวเตอร์" ได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่โลกของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ด้วยการแปลงโฉมพีซีในนาม "ไอแมค" ให้มีรูปลักษณ์ที่ดูแปลกตา
และหลุดออกจากกรอบเดิมๆ ในวันนี้สิ่งหนึ่งที่กำลังจะเข้าไปสร้างมาตรฐานใหม่ให้พีซีดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง
คือการรวมเทคโนโลยีด้านเอวี (Audio and Video) ลงในพีซี
หรือจะพูดกันให้ง่ายๆ คือ การนำฟังก์ชันการใช้งานทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ดีวีดี เอ็มพี
3 มารวมกันอยู่ในคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว
หลายคนอาจค้านว่า พีซีที่รวมเทคโนโลยีดังกล่าวไว้ด้วยกันนั้น
ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาหากใครต้องการคุณสมบัติดังกล่าวก็สามารถหาซื้อฟังก์ชันต่างๆ
นี้มาใส่เพิ่มในคอมพิวเตอร์เองได้ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกนัก
ด้วยความใหม่ของมันอยู่ที่ปัจจุบันผู้ค้าคอมพิวเตอร์หลายรายในตลาดไทยได้นำฟังก์ชันเหล่านี้
เข้ามารวมอยู่คอมพิวเตอร์ที่พร้อมจะขายให้กับลูกค้าเป็นชุดๆ และดูเหมือนว่า ฟังก์ชันเหล่านี้ก็จะกลายเป็นพื้นฐานของคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ
ที่กำลังจ่อคิวออกมาอวดโฉมในตลาด
เอเซอร์ชี้พีซีเอ็นเตอร์เทนเมนท์มาแรง
นายอลัน เจียง ผู้จัดการทั่วไปบริษัท เอเซอร์
คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ฟังก์ชันของโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์จะกลายเป็นมาตรฐานของคอมพิวเตอร์พีซีในช่วงครึ่งปีหลัง
ด้วยคุณสมบัติที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกใช้งานได้ตามความชอบ ไม่ว่าจะเป็นโหมดของการเล่นวิดีโอซีดี
หรือดีวีดี ที่ติดมากับตัวเครื่อง โหมดการชมโทรทัศน์บนพีซี
โหมดการเปิดดูภาพจากสื่อดิจิทัลรุ่นใหม่ โหมดการเล่นแผ่นซีดีเพลง และไฟล์เอ็มพี 3
โหมดภาครับวิทยุเอฟเอ็ม และสุดท้ายคือโหมดของพีซีและฟังก์ชันการทำงานแบบนี้
จะควบคุมด้วยระบบรีโมท คอนโทรล "อย่างที่ผ่านมา
บริษัทได้เปิดตัวพีซีในฟังก์ชันดังกล่าวตระกูลแอสไปร์ RC 900 โดยมีจุดเด่นที่ผนวกการใช้งานพีซี เข้ากับใช้เพื่อความบันเทิง ควบคุมการทำงานทุกระบบด้วยรีโมท
คอนโทรล พร้อมทั้งปุ่มหมุนพิเศษ (Super Dial) ซึ่งบริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ราว
2,000 เครื่องต่อเดือน"
นายอลัน กล่าวว่า การวางตลาดเอเซอร์ แอสไปร์ อาร์ซี
900 ถือเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของเอเซอร์ ในตลาดโฮมยูส ระดับไฮเอนด์ และเป็นแนวทางการทำตลาดของบริษัท
ที่เน้นนำเสนอเทคโนโลยีทันสมัยให้กับผู้ใช้ แม้ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ราคาถูก
จะเป็นกระแสหลักในตลาดไอทีของไทย แต่คาดว่าพีซีรุ่นนี้จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงมาตรฐานในช่วงครึ่งปีหลัง
และทำให้เอเซอร์ครองส่วนแบ่งตลาดพีซีระดับบนได้เป็นที่ 1
อีกครั้ง ไม่เพียงแต่เอเซอร์ คอมพิวเตอร์เท่านั้นที่มองเห็นถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
พีซีค่ายไทยๆ อย่างเบลต้า คอมพิวเตอร์ เองก็มองถึงทิศทางนี้ด้วยเช่นกัน
เบลต้าขยับเตรียมเข็นลงตลาดรับกระแส
นายพิสิฐ พฤกษานุศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
บริษัท เบลต้า คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า พีซีในรูปแบบของดิจิทัล
โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์จะมีตลาดเฉพาะ โดยเฉพาะกลุ่มคอนซูเมอร์ต้องการใช้งานด้านความบันเทิงจากคอมพิวเตอร์มากกว่าการใช้งานด้านอื่นทั่วๆ
ไป ซึ่งถือว่าคอมพิวเตอร์รูปแบบนี้จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถเติมเต็มความต้องการของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันได้ "ปัจจุบัน
กลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์ก็สามารถใช้งานด้านความบันเทิงจากคอมพ์ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตลาดได้อยู่แล้ว
เพราะด้วยฟังก์ชันและเทคโนโลยีที่สามารถรองรับการใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่คอมพิวเตอร์กว่า
50% ในตลาดก็สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้าพีซีที่ถูกออกแบบมาให้เป็นศูนย์รวมของความบันเทิงดิจิทัลโฮม
เอ็นเตอร์เทนเมนท์โดยเฉพาะ ขณะนี้สัดส่วนตลาดน่าจะอยู่ที่ 25% ของตลาดคอมพิวเตอร์โดยรวม ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจของการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของพีซีในช่วงครึ่งปีหลัง
ซึ่งเบลต้าเองก็คงจะมีคอมพิวเตอร์ลักษณะนี้ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง" นายพิสิฐ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์โดยภาพรวมแล้ว แม้ว่าตลาดครึ่งปีหลังจะมีหรือไม่มีพีซีในรูปแบบของโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนท์ก็ตาม
การเติบโตของการใช้พีซีในบ้านเราก็ยังคงเติบโตขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 20% โดยจากการคาดการณ์ของบริษัท
เออาร์ รีเสิร์ช จำกัด ที่เพิ่งเปิดผลวิจัยของตลาดคอมพิวเตอร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
แสดงว่าจะมีคอมพิวเตอร์ทั้งในส่วนของตั้งโต๊ะ และโน้ตบุ๊คอยู่ในตลาดถึง 1,200,000
เครื่อง หรือคิดเป็นมูลค่า 33,000 ล้านบาท จาก
800,000 เครื่องในปีที่แล้ว โดยครึ่งแรกของปีนี้มี 450,000 เครื่อง โดย 80% เป็นเครื่องตั้งโต๊ะ ที่เหลือเป็นโน้ตบุ๊ค
ส่วนครึ่งปีหลังตลาดจะมีเกือบ 800,000 เครื่อง
สำนักวิจัยแห่งนี้ ยังวิจัยด้วยว่าในปี 2547 คาดว่าตลาดคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยจะตกลงจากแรงซื้อล่วงหน้าที่เกิดในปีนี้
และกระแสการตื่นตัวคอมพ์ไอซีทีจะลดเหลือ 1,100,000 เครื่อง
และจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2548 มีเครื่องประมาณ 1,400,000 เครื่อง ในปี 2549 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยของพีซี
ปี 2546-2549 ที่ 7%
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2546
|