รายงาน : ยุคทองการพัฒนาหุ่นยนต์ เพื่อใช้งานจริง

"หุ่นยนต์ในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเพียงของเล่น หรือผลงานวิชาการ ของนักวิทยาศาสตร์อีกต่อไป แต่กำลังมีการนำไปใช้ ในกลุ่มผู้บริโภคตามบ้าน อย่างแท้จริง โดยหุ่นยนต์ยุคใหม่ ได้รับการพัฒนา ให้เป็นได้ทั้งเพื่อน, ผู้ดูแลเด็ก หรือผู้ส่งข่าว"

 

ในอดีตเราสามารถเห็นหุ่นยนต์คนใช้ หุ่นยนต์บุตร หุ่นยนต์เพื่อน หุ่นยนต์ต้นแบบ หุ่นยนต์สำรวจ และหุ่นยนต์ของเล่น ได้จากภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่มาในวันนี้ หุ่นยนต์ในจินตนาการเหล่านั้น ได้มารวมตัวกันที่เมืองโยโกฮามา เพื่อประชันโฉมกันที่งาน "โรโบเด็กซ์" โดยเน้นคุณสมบัติหลักสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง ด้านนักวิเคราะห์ชี้ถึงยุคเจาะตลาดผู้บริโภคตามบ้าน ขณะที่ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ยันยอดขายเป็นที่น่าพอใจ

 

สำนักข่าวเอพี รายงานว่า นิทรรศการ "โรโบเด็กซ์" (Robodex) งานแสดงหุ่นยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่นประจำปีนี้ ได้เปิดแสดงให้ผู้สื่อข่าวเข้าชมเป็นวันแรกเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2 เม..) โดยมีผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ร่วมงานกันอย่างคับคั่ง อาทิ โซนี่ คอร์ป., มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรีส์, โตชิบา คอร์ป. รวมทั้งบริษัทอื่นๆ หุ่นยนต์ที่นำมาจัดแสดงในงานนี้มีทั้งหมดราว 95 ชนิด นับตั้งแต่เครื่องจักรที่มีรูปร่างคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน ไปจนถึงหุ่นทรงลูกโลกที่อยู่บนล้อเลื่อน

 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ ให้ความเห็นว่า นิทรรศการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหุ่นยนต์ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงของเล่นหรือผลงานวิชาการของนักวิทยาศาสตร์อีกต่อไป แต่กำลังมีการนำไปใช้ในกลุ่มผู้บริโภคตามบ้านอย่างแท้จริง โดยหุ่นยนต์ยุคใหม่ได้รับการพัฒนาให้เป็นได้ทั้งเพื่อน, ผู้ดูแลเด็ก หรือผู้ส่งข่าว "จุดประสงค์ของงานโรโบเด็กซ์คือ การสร้างอุตสาหกรรมใหม่สำหรับศตวรรษที่ 21 อุตสาหกรรมใหม่ที่จะถือกำเนิดขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น" นายทาดาโตชิ โดอิ ผู้พัฒนาหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยงไอโบ (Aibo) ของโซนี่ กล่าว

 

ดาวดวงเด่นตัวหนึ่งของนิทรรศการนี้ ได้แก่ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยภายในบ้าน "บันริว" (Banryu) ของบริษัททีม์ซุค ซึ่งมีรูปร่างคล้ายเต่า ยาว 90 เซนติเมตร หรือราว 3 ฟุต และสามารถคลานสี่ขาได้เหมือนสุนัข ทางบริษัทได้วางจำหน่ายไปแล้วในประเทศญี่ปุ่นด้วยราคาราว 16,600 ดอลลาร์ หรือ 713,800 บาท ทั้งนี้ หุ่นดังกล่าว จะสามารถถ่ายภาพบริเวณต่างๆภายในบ้านด้วยระบบดิจิทัล และส่งไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ เพื่อให้เจ้าของใช้ในการตรวจสอบความเรียบร้อยภายในบ้าน และจะส่งเสียงระบบอิเล็กทรอนิกส์หากเห็นคนแปลกหน้า

 

ตัวแทนทีม์ซุค เปิดเผยว่านับตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นมา ทางบริษัทได้รับใบสั่งซื้อหุ่นยนต์รุ่นนี้ไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนที่มีการผลิตเพื่อวางจำหน่ายทั้งหมด 50 ตัว "เราคิดว่ายอดขายค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับราคา" นายยาซูอากิ ฮิยาม่า โฆษกบริษัท กล่าว

 

หุ่นยอดนิยมอีกตัวหนึ่ง ได้แก่ หุ่นยนต์มารอน-1 (Maron-1) ของบริษัทฟูจิตสึ ซึ่งได้เริ่มวางจำหน่ายไปตั้งแต่เดือนที่แล้ว ด้วยราคา 2,500 ดอลลาร์ หรือราว 107,500 บาท โดยหุ่นยนต์มารอน-1 มีรูปร่างคล้ายเครื่องดูดฝุ่น และสามารถตรวจสอบความเรียบร้อยภายในบ้านได้ผ่านกล้องถ่ายรูปในเครื่อง หุ่นสามารถควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆได้ในระยะไกล รวมทั้งใช้เป็นโทรศัพท์ไร้สายภายในบ้านได้ด้วย ขณะที่จะส่งเสียงร้องเตือนเมื่อตรวจพบผู้บุกรุกเช่นกัน ขณะที่ผู้ใช้ยังสามารถสั่งงานหุ่นได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ

 

นอกจากนี้ บริษัทมิตซูบิชิ ยังเปิดตัว หุ่นยนต์วาคามารุ (Wakamaru) ซึ่งมีความยาวราว 100 เซนติเมตรและมีรูปร่างคล้ายมนุษย์ โดยศีรษะจะเป็นทรงกลมและมีตา 2 ตา หุ่นสามารถโต้ตอบบทสนทนาง่ายๆ รวมทั้งตรวจพื้นที่ภายในบ้าน และค้นหาข้อมูลทั่วไปบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ โดยในงานสาธิต เมื่อวันพุธที่ผ่านมา หุ่นยนต์ได้แสดงความสามารถในการกล่าวเตือนเจ้าของว่า วันรุ่งขึ้นจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูดอกเชอรี่บาน รวมทั้งทำการนัดหมายแพทย์ทางอินเทอร์เน็ตด้วย นอกจากนี้ หุ่นยังได้รับการตั้งโปรแกรมให้ชาร์จแบตเตอรี่ได้เองโดยอัตโนมัติ ตัวแทนมิตซูบิชิเปิด กล่าวว่า ทางบริษัทจะวางจำหน่ายหุ่นวาคามารุภายในปีนี้ โดยตั้งราคาไว้ที่ 8,000 ดอลลาร์ หรือ 344,000 บาท

 

งานแสดงครั้งนี้ ยังเป็นการเปิดตัวหุ่นยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่กำลังอยู่ในขั้นค้นคว้าพัฒนาเช่นกัน อาทิ หุ่นยนต์ฮอสปิ (Hospi) ของบริษัทมัตสึชิตะ ซึ่งเป็นหุ่นติดล้อเลื่อนที่ใช้สำหรับถือชาร์ททางการแพทย์ในโรงพยาบาล รวมถึงหุ่นเอพริอัลฟา (ApriAlpha) ของโตชิบา ซึ่งสามารถควบคุมอุปกรณ์ภายในบ้านได้จากระยะไกล และหุ่นแฟลตทรู (Flatthru) ของซันโย ซึ่งมีรูปร่างคล้ายโต๊ะบนล้อเลื่อน โดยหุ่นสามารถถือเครื่องดื่มบนพื้นที่ไม่เรียบได้โดยไม่ทำหก

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 เมษายน 2546

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.