เอเชียตะลุยพัฒนาทีวีดิจิทัลพกพา วาดฝันเปิดให้บริการได้ตามกำหนด

 

อาริยะ ชิตวงศ์

ที่มา : เอ็นอี เอเชีย ออนไลน์

 

ปรากฏการณ์ฮิตโทรศัพท์มือถือที่มาพร้อมกับฟังก์ชันทีวีดิจิทัลกำลังจะอุบัติขึ้นในไม่ช้านี้ หลังจากหลายฝ่ายเทงบก้อนโต เนรมิตบริการแพร่ภาพกระจายเสียงระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) และความก้าวหน้าของการพัฒนาสมรรถนะของมือถือมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากยุโรปและสหรัฐแล้ว ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ก็เป็นส่วนหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลก ที่เร่งพัฒนาโทรศัพท์มือถือ และเครื่องปลายทาง (terminal) สำหรับใช้ในรถยนต์ ให้มีฟังก์ชันรับสัญญาณทีวีดิจิทัลได้ และแม้ว่าประเทศต่างๆ อาจต้องใช้อุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิทัลแตกต่างกันออกไป อันเนื่องมาจาก สภาพแวดล้อม แต่หลายประเทศ ได้เริ่มทดลองใช้โทรศัพท์มือถือ และเครื่องรับทีวีในรถยนต์ที่มีฟังก์ชันทีวีกันบ้างแล้ว กระนั้น ทั้งหมดที่ว่ามานี้ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เนื่องจาก สิ่งสำคัญที่สุด คือ การพัฒนาอุปกรณ์และบริการ ให้เสร็จทันเส้นตายที่วาดฝันไว้ว่า จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการให้ได้ภายในปี 2548 หรือ 2549 อย่างไรก็ดี หลายบริษัททั่วโลก ก็เตรียมพร้อมเปิดให้บริการดังกล่าวมาแล้วกว่าครึ่งค่อนทาง

 

ความก้าวหน้าในญี่ปุ่น

ทางเรากำลังเร่งพัฒนาอุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิทัล โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การส่งออกขายในตลาดโลก วิศกรด้านวิจัยและพัฒนา (อาร์ แอนด์ ดี) ของบริษัทเอ็นอีซี คอร์ป. ในญี่ปุ่น กล่าว พร้อมเสริมว่า อุปกรณ์เหล่านี้ อาจมีคุณสมบัติแตกต่างกันในแต่ละประเทศ หรือภูมิภาค แต่ส่วนใหญ่ใช้องค์ประกอบเหมือนกัน อาทิ แผงวงจรไฟฟ้าประมวลผลการแพร่สัญญาณสดวิดีโอในเครื่องโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

 

ที่ผ่านมา ค่ายโทรศัพท์มือถือ บริษัทพัฒนาอุปกรณ์ในรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนในแดนซามูไรหลายแห่ง ได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องปลายทาง เพื่อรับสัญญาณจากบริการทีวีดิจิทัลของญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อ เทอร์เรสเทรียล อินติเกรทเต็ด เซอร์วิส ดิจิทัล บรอดคาสติ้ง หรือไอเอสดีบี-ที (Terrestrial Integrated Services Digital Broadcasting) อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ในฤดูร้อนของปีที่แล้ว ทั้งเอ็นอีซี และซันโย อิเล็กทริก โค. จำกัด ส่งโทรศัพท์มือถือที่มีฟังก์ชันรับสัญญาณไอเอสดีบี-ทีได้ ออกอวดโฉมในตลาด โดยตัวปรับสัญญาณ (จูนเนอร์) ไอเอสดีบี-ที ซึ่งมีขนาดเล็กมากพอที่จะใส่ไว้ในโทรศัพท์มือถือได้นั้น เป็นผลงานการพัฒนาของมัตสึชิตะ อิเล็กทรอนิก คอมโพเนนท์ส โค. จำกัด, โซนี่ คอร์ป., ซันโย อิเล็กทริก และชาร์ป คอร์ป. ส่วนต้นแบบเครื่องรับสัญญาณวิทยุในรถยนต์ พัฒนาขึ้น โดยเคนวูด คอร์ป. และมัตสึชิตะ อิเล็กทริก อินดัสเทรียล โค. จำกัด

 

ตลาดใหญ่ในจีน

ทางด้านพญามังกร อย่าง จีน เตรียมเปิดให้บริการทีวีดิจิทัลโดยใช้เทคโนโลยีเอชดีทีวีทั่วประเทศในปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกส์ ในกรุงปักกิ่ง โดยจะพัฒนามาตรฐานทีวีดิจิทัลให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2547 และนำร่องเปิดให้บริการบางพื้นที่ในปี 2548 ตัวแทนทางการจีน เผยว่า มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยหลายแห่ง ได้แข่งขันกันเสนอมาตรฐานทีวีดิจิทัล แต่มี 2 มาตรฐานที่มีโอกาสได้รับการคัดเลือกสูง คือ มาตรฐานดิจิทัล มัลติมีเดีย บรอดคาสต์-เทอร์เรสเทรียล หรือดีเอ็มบี-ที (Digital Multimedia Broadcast-Terrestrial) ของมหาวิทยาลัยซิงหัว ในกรุงปักกิ่ง และมาตรฐานแอดวานซ์ ดิจิทัล เทเลวิชั่น บรอดคาสต์-เทอร์เรสเทรียล หรือเอดีทีบี-ที (Advanced Digital Television Broadcast-Terrestrial) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจี่ยว ตง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดในญี่ปุ่น อธิบายถึงสาเหตุที่จีน สนับสนุนให้พัฒนามาตรฐานแพร่ภาพกระจายเสียงระบบดิจิทัลของตัวเอง ว่า เป็นเพราะปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของมาตรฐานดีวีดีระหว่างผู้ผลิตจีน และบริษัทจากญี่ปุ่น อเมริกา และยุโรป ซึ่งจบลงด้วยบริษัทจีนต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรเป็นเงินจำนวนมหาศาล

 

การพัฒนาเทคโนโลยีแพร่ภาพกระจายเสียงระบบดิจิทัลของตัวเอง นอกจากลดการจ่ายเงินซื้อสิทธิบัตรจากผู้ผลิตต่างชาติแล้ว ยังเพิ่มจำนวนเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในประเทศ สำหรับแข่งขันกับญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป ซึ่งเป็นผู้นำในการพัฒนามาตรฐานทีวีดิจิทัลได้อีกด้วย ประกอบกับ จีน เป็นตลาดใหญ่ ดังนั้น รัฐบาล จึงมั่นใจว่า แม้เทคโนโลยีทีวีดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นเอง จะใช้ได้เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่เนื่องจาก ตลาดผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกนั้น จะสนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองได้

 

มาตรฐานของเกาหลีใต้

ส่วนเกาหลีใต้เอง กำลังถกกันเรื่องเทคโนโลยีแพร่ภาพกระจายเสียงระบบดิจิทัลอย่างดุเดือด ที่ผ่านมา ทางการแดนโสมขาว ได้เปิดตัวมาตรฐานแอดวานซ์ เทเลวิชั่น ซิสเต็มส์ คอมมิตตี หรือเอทีเอสซี (Advanced Television Systems Committee) ที่ใช้กันอยู่ในสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ บริการเอทีเอสซี ได้เริ่มให้บริการไปแล้วในเกาหลีใต้ แต่ปัญหาคลื่นวิทยุที่ใช้ส่งกันไม่รับกับโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้ หลายฝ่าย เกรงว่า เทคโนโลยีดังกล่าว จะเป็นต้นเหตุให้ประเทศตกเป็นรองประเทศคู่แข่ง

เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น อุตสาหกรรมวิทยุโทรทัศน์ และผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเกาหลีใต้ จึงเปิดเจรจาเปลี่ยนจากเอทีเอสซี เป็นมาตรฐานดิจิทัล วิดีโอ บรอดคาสต์-เทอร์เรสเทรียล หรือดีวีบี-ที (digital video broadcasting-terrestrial) ซึ่งนิยมใช้กันในยุโรปแทน และรองรับระบบการทำงานของโทรศัพท์มือถือได้ดีกว่าเอทีเอสซี บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกาหลีใต้หลายแห่ง ให้เหตุผลว่า ในอนาคต หากทั่วโลกเปลี่ยนไปใช้มาตรฐานดีวีบี-ที ก็จะเป็นการง่ายที่จะซื้อเทคโนโลยีดังกล่าวมาปรับใช้ในประเทศได้

 

งัดกลยุทธ์พึ่งบริการดาวเทียม

ขณะเดียวกัน ทางการเกาหลีใต้ ก็ต้องการปกป้องผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ ที่วางตลาดเครื่องรับสัญญาณวิทยุทีวี ที่ใช้เทคโนโลยีเอทีเอสซีไปแล้ว แต่การเปลี่ยนมาตรฐานกลางคันไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น เรื่องนี้ จึงนำไปสู่แผนรวมมาตรฐานเอทีเอสซีและดีวีบี-ทีเข้าด้วยกัน และการตัดสินใจขั้นสุดท้าย จะมีขึ้นปลายปีนี้

ด้วยสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน สถานีวิทยุโทรทัศน์ และค่ายมือถือในเกาหลีใต้หลายแห่ง ได้พัฒนามาตรฐานของตัวเอง เพื่อใช้ในการแพร่ภาพกระจายเสียงสัญญาณทีวีไปยังทีวีในรถยนต์และโทรศัพท์มือถือ เคบีเอส และสถานีโทรทัศน์อีกหลายราย สนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัล ออดิโอ บรอดคาสติ้ง หรือดีเอบี (digital audio broadcasting) ซึ่งใช้ส่งสัญญาณวิทยุดิจิทัลกันในยุโรป ขณะที่เอสเค เทเลคอม โค. จำกัด รวมถึงค่ายมือถือเจ้าอื่น ให้บริการเผยแพร่สัญญาณวิดีโอผ่านดาวเทียม ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติการไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยบริการทีวีดิจิทัลมาตรฐานดีเอบี จะเปิดให้บริการอย่างเร็วปลายปีนี้ ส่วนบริการส่งสัญญาณวิดีโอผ่านดาวเทียม ได้รับการคาดหมายว่า เป็นช่วงฤดูร้อนของปีเดียวกัน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 22 เมษายน 2547

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.