VoIP เสียงตามสายราคาประหยัด
อัจฉรา สาสุข
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคที่การสื่อสารแบบครองเมือง
วอยซ์ โอเวอร์ ไอพี หรือ VoIP
คือเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามาลบขีดจำกัดในเรื่องระยะทางของการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ทางไกล
ที่หากเป็นการโทรผ่านชุมสาย ราคาค่าโทรจะพุ่งกระฉูดหยุดไม่อยู่ หากเป็นแบบวีโอไอพี
ข้อมูลเสียงจะวิ่งไปบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถึงเป็นการโทรระหว่างประเทศ ราคาต่อนาทียังไม่ถึง
10 บาทด้วยซ้ำ
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์
ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย)
จำกัด เล่าถึงการใช้งานวีโอไอพีในไทยว่ามีอยู่ 2 รูปแบบ คือ ในรูปแบบของโทรศัพท์ที่มีผู้ให้บริการ อย่างเช่น กสท ทศท ที่ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศราคาถูก
คือ ในการโทรข้อมูลเสียงจะวิ่งไปที่เกตเวย์ (gateway) แล้วเกตเวย์จะแปลงข้อมูลเสียงเป็นไอพีเพื่อส่งไปยังเกตเวย์ปลายทาง
ซึ่งในการโทรนั้นคือ การกดหมายเลขเหมือนปกติ อย่างเช่น อีโฟนของ กสท ซึ่งกด 009
แล้วตามด้วยรหัสและหมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งในการโทรแบบนี้ผู้โทรนั้นจะไม่รู้เลยว่าเสียงวิ่งผ่านไปบนเครือข่ายไอพี
รู้แต่ว่ากดเบอร์นี้แล้วโทรทางไกลประหยัด
ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ
สำหรับใช้งานภายในองค์กร ซึ่งอย่างหลังเรียกว่า ไอพี เทเลโฟนี
ส่งข้อมูลเสียงในองค์กรผ่านสายแลน ซึ่งคุณวัตสัน เล่าว่า "ในไทยมีการใช้งานแบบไอพี เทเลโฟนีค่อนข้างเยอะ คือ จะใช้ติดต่อภายในองค์กร
และติดต่องานระหว่างสาขาย่อยกับสำนักงานใหญ่ อย่างเช่น ธนาคารสาขาที่เชียงใหม่โทรศัพท์มาที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ"
โดยในการโทรจากต่างสถานที่กันนั้นจะโทรผ่านเราเตอร์ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเกตเวย์
เชื่อมต่อกับสายเช่าจากองค์การโทรศัพท์ หรือต่อผ่านเอดีเอสแอลไปที่เราเตอร์อีกด้านหนึ่ง
ซึ่งการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้โทรในองค์กรจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมาก แทนที่จะต้องจ่ายเป็นค่าโทรทางไกล
กลับไม่เสียค่าใช้จ่าย เหมือนกับการโทรไปเบอร์ภายในองค์กร นอกจากนี้ ทางซิสโก้
ซีสเต็มส์ ยังมีโปรแกรมที่ช่วยให้ผู้ใช้โทรศัพท์ภายในองค์กรได้
แม้จะอยู่นอกสถานที่ก็ตาม โดยมีเพียงโน้ตบุ๊คที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถล็อกอินเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอินทราเน็ตภายในองค์กรได้โดยเป็นระบบเครือข่ายเสมือนจริงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะ
ซึ่งจะทำให้เรียกสายหรือรับสายได้เหมือนกับนั่งโทรศัพท์ในออฟฟิศ
การใช้เทคโนโลยีวีโอไอพีสำหรับโทรภายในองค์กรนั้น
คุณวัตสัน ว่าไม่น่าจะผิดกฎหมาย เพราะเป็นเหมือนการโทรภายในทั่วไป
แม้จะอยู่ต่างสถานที่ก็ตาม แต่หากใช้เทคโนโลยีนี้แล้วทำตัวเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เสียเองนี้ผิดแน่ๆ
เพราะไทยยังไม่เปิดเสรีด้านโทรคมนาคม คุณวัตสัน คาดว่าอีก 2 ปีน่าจะเปิดเสรีให้เอกชนอื่นๆ หรือให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ โดยต้องรอดูสัญญาระหว่างประเทศระหว่างองค์การค้าโลก
(WTO) ทั้งยังต้องรอให้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กำหนดระเบียบข้อบังคับหรือกติกาต่างๆ เสียก่อน
แต่ถ้าลองมองการใช้เทคโนโลยีวีโอไอพีในประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียแล้วละก็ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคจากซิสโก้
ซีสเต็มส์ ว่า "มีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กันมาก โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ
อย่างจีน หรือประเทศที่เจริญแล้วอย่าง เกาหลี ทั้งในส่วนของการใช้ในองค์กรเองและการใช้เป็นระบบโทรศัพท์แบบสาธารณะ
ซึ่งจีนนี้นับว่าเป็นประเทศที่มีการโทรแบบวีโอไอพีที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว หรืออย่างระบบโทรศัพท์ในสหรัฐเองก็เป็นแบบวีโอไอพี"
ส่วนประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง
สิงคโปร์ และมาเลเซีย นั้นถึงจะมีการเปิดเสรีในเรื่องการสื่อสารแบบวีโอไอพีแล้วก็ตาม
แต่หากมองถึงอัตราการใช้เป็นโทรศัพท์ระหว่างประเทศนั้น คุณวัตสัน ว่าไทยมีอัตราการใช้งานมากกว่า
แต่หากดูถึงการใช้ในองค์กรแล้ว สองประเทศนี้ใช้มากกว่าไทยเยอะทีเดียว
เมื่อมองถึงแนวโน้มในอนาคต "อีกหน่อยโครงข่ายจะเป็นไอพีหมดแน่ๆ จะไม่มีสายโทรศัพท์อีกต่อไป
ชุมสายโทรศัพท์จะหายไป โทรศัพท์จะไม่เป็นเพียงโทรศัพท์ที่ใช้สื่อสารด้วยเสียง แต่โทรศัพท์จะกลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สื่อสาร
เป็นระบบการสื่อสารผ่านไอพี (ไอพี คอมมิวนิเคชั่น) ซึ่งจะมีแอพพลิเคชั่นเกิดขึ้นอีกมากมาย โทรศัพท์ที่เป็นไอพีโฟนอาจจะสามารถจองตั๋วเครื่องบินได้
โทรศัพท์จะกลายเป็นเหมือนคอมพิวเตอร์เล็กๆ ให้กับผู้ใช้ "หรืออาจจะใช้ทำโพรโมชันโฆษณาต่างๆ
ได้ เช่น ส่งข้อมูลไปขึ้นที่หน้าจอโทรศัพท์ของผู้ใช้ ช่วยเป็นเครื่องมือให้เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง
หรือจะประชุมผ่านโทรศัพท์แบบวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์"
เมื่อเทคโนโลยีพร้อม
ไม่ว่าจะวีโอไอพี อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โลกเราก็ถูกย่อให้เหลือแคบนิดเดียว
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(SciTech) ฉบับวันที่ 16 กันยายน 2547
|