"เวบ เซอร์วิส" เทคโนโลยีที่ต้องรอ

 

ระบุสาเหตุหลักบริษัทส่วนใหญ่ไร้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายด้านไอที

แม้วันหนึ่งในอนาคตข้างหน้า เวบ เซอร์วิส อาจกลายเป็นซอฟต์แวร์มาตรฐานชิ้นสำคัญของบริษัทชั้นนำ แต่จากผลการสำรวจพบ ในปัจจุบันยังไม่มีบริษัทใดต้องการทุ่มเม็ดเงินลงทุน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายทางเทคโนโลยี บรรดาผู้บริหารทางเทคโนโลยี และนักวิเคราะห์ ต่างเห็นตรงกันว่า เวบ เซอร์วิส สามารถยกระดับระบบปฏิบัติการซอฟต์แวร์ ด้วยการใช้อินเทอร์เน็ตในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อก่อให้เกิดระบบที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และสามารถสื่อสารกับอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้

 

นายคริส ทัทเติล นักวิเคราะห์ของบริษัทซาวด์วิว เทคโนโลยี กล่าวว่า ปัญหา ที่เกิดขึ้น คือ ผู้คนในแวดวงไอที ถูกทำให้สับสน ด้วยมาตรฐานที่หลากหลาย และความเชี่ยวชาญในการพัฒนากำลังจะย้ายไปอยู่กับกลุ่มผู้ค้าปลีก ซึ่งไม่มีใครให้ความวางใจ ส่วนผลที่ตามมา คือ ผู้ซื้อ จะตั้งตารอมาตรฐานเสริม พร้อมคุณสมบัติสามารถใช้งานร่วมกันได้ดี ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ต่อไป

 

ก่อนหน้านี้ แนวคิดเกี่ยวกับเวบ เซอร์วิสดังกล่าว อยู่ในความสนใจของผู้ค้าปลีกซอฟต์แวร์เกือบทุกราย ส่งผลให้เกิดการอ้างสิทธิใน 2 สถาปัตยกรรมที่ตรงข้ามกัน คือ แผนการดอทเน็ต (.Net) ของบริษัทไมโครซอฟท์ และเทคโนโลยีจาวา ของบริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ ซึ่งบริษัท ไอบีเอ็ม บริษัท บีอีเอ ซิสเต็มส์ และบริษัทต่างๆ ให้การสนับสนุน นักวิเคราะห์ กล่าวว่า แทนที่จะเลือกมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่ง แต่บริษัทส่วนใหญ่ กลับสนับสนุนทั้ง 2 มาตรการ ซึ่งนั่น หมายความว่า ประเด็นเกี่ยวกับความสามารถใช้งานร่วมกันได้ จำเป็นต้องเร่งมือสะสางให้เหลือเป็นปัญหาน้อยที่สุด

 

อุปสรรค

ขณะที่ ส่วนของมาตรฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิเช่น ภาษาเอ็กซ์เทนซิเบิล มาร์คอัพ หรือเอ็กซ์เอ็มแอล (XML) และมาตรฐานเอสโอเอพี (SOAP) ได้สร้างอุปสรรคในการสร้างเวบ เซอร์วิส เพื่อเชื่อมโยงการทำงานภายในและข้ามบริษัทได้ ส่งผลให้ความตั้งใจข้างต้น ยังคงอยู่ไกลเกินความจริง "ลูกค้าจำนวนมาก แสดงความสนใจเวบ เซอร์วิส แต่ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับเวบ เซอร์วิส กลับไม่น่าสนใจ" นายจอห์น แรดโก หัวหน้าสถาปัตยกรรมของบริษัท จีอี โกลบอล เอ็กซ์แชนจ์ เซอร์วิส ธุรกิจในเครือด้านซอฟต์แวร์แบบบีทูบี (business-to-business) ของบริษัทเจนเนอรัล อิเล็กทริก กล่าว

อย่างไรก็ดี จากผลการศึกษาล่าสุดของบริษัทฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ซ พบว่า โครงสร้างพื้นฐานที่รับรองความปลอดภัย ความเชื่อถือได้ และความมั่นคงของเวบ เซอร์วิส ยังไม่ปรากฏ ขณะที่อุปสรรคขัดขวางการยอมรับของผู้ใช้ จะรวมถึง การขาดมาตรฐานและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ผู้บริหารไม่เข้าใจข้อดีของเวบ เซอร์วิส และขาดทักษะการพัฒนาภายในองค์กร

นายไมค์ กิลพิน นักวิเคราะห์ของบริษัทกิกะ อินฟอร์เมชั่น กรุ๊ป เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัว เป็นตัวถ่วงการพัฒนาโครงการไอทีสำคัญๆ ซึ่งรวมถึงโครงการพัฒนาเวบ เซอร์วิส ด้วย ผลการสำรวจล่าสุดของบริษัทการ์ทเนอร์ และโกลด์แมน ชาชส์ ประเมินว่า การใช้จ่ายด้านไอทีในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2545 ลดลง โดยมีอัตราการเติบโต 1.5% นายกิลพิน กล่าวอีกว่า การใช้จ่ายด้านเวบ เซอร์วิส จะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป คิดเป็นสัดส่วนราว 5% ของการใช้จ่ายด้านการผสมรวมซอฟต์แวร์ในปี 2546 ซึ่งจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับ

 

ช้าแต่มั่นคง อย่างไรก็ดี แม้จะมีการให้คำนิยามปัจจัยสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานเวบ เซอร์วิส แต่ปัจจัยอื่นๆ ก็กำลังเป็นปัญหาในองค์กรกำหนดมาตรฐาน อย่าง สมาคมเวิลด์ ไวด์ เวบ และเอ็นจิเนียริง ทาส์ก ฟอร์ซ

นายบ็อบ เจอราร์ดิ ผู้จัดการแผนกบริการสำนักงานของบริษัทซีร็อกซ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ได้เดินมาถูกทางแล้ว สำหรับการสร้างมาตรฐานเวบ เซอร์วิส และผู้ซื้อเทคโนโลยี ซึ่งเล็งเห็นความจำเป็นของมาตรฐานเสริม ก็สามารถอดทนรอได้

นายเทด แชดเลอร์ นักวิเคราะห์ของบริษัทฟอร์เรสเตอร์ กล่าวว่า ผู้ค้าปลีก ไม่เต็มใจ จะแบ่งปันมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูล "อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั้งหมด มองเห็นแล้วว่า พวกเขาสามารถทำเงินได้ ด้วยการยอมให้ธุรกิจและผู้บริโภคแบ่งปันข้อมูลได้ โดยเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมที่เติบโตเต็มที่แล้ว ถูกบีบบังคับให้ทำ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ของตน สามารถทำงานร่วมกับสินค้าของทุกบริษัทได้" นายแชดเลอร์ กล่าว

แม้ว่า มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ค้าปลีก รวมถึงความไม่พอใจ ซึ่งมีมาอย่างยาวนานยังไม่ได้ลบทิ้งบริษัทไมโครซอฟท์ และบริษัทไอบีเอ็ม ได้ร่วมกับจัดตั้งองค์กรเวบ เซอร์วิส อินเตอร์โอเปอราบิลิตี้ หรือดับบลิวเอส-ไอ (WS-I) สนับสนุนการพัฒนามาตรฐานเวบ เซอร์วิส ด้วยการสร้างความมั่นใจว่า ซอฟต์แวร์จากผู้ผลิตเทคโนโลยีต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ ซึ่งมีบริษัทกว่า 100 แห่ง เข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยล่าสุดบริษัทซัน ไมโครซิสเต็มส์ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในครั้งแรก ได้ตอบตกลงยอมเข้าร่วมสมาคมพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยเวบ เซอร์วิสแล้ว หลังจากบริษัทไมโครซอฟท์ และบริษัทไอบีเอ็ม ยืนยันว่า สมาคมดังกล่าว จะไม่หารายได้ จากการเผยแพร่เทคโนโลยี ที่ได้จากพัฒนาในครั้งนี้ และยอมรับเงื่อนไขเผยแพร่ซอฟต์แวร์ต่อสาธารณชน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 4 กรกฎาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.