"เครือข่ายไร้สาย" นิยามใหม่เชื่อมโลกอนาคต

 

ถ้าจะบอกว่าปีนี้เป็นปีทองของเทคโนโลยีไร้สายก็คงไม่ผิดนัก ด้วยการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ที่กระหน่ำเดินแถวเข้าหาเครือข่ายไร้สายกันอย่างคึกคัก ความนิยมของโทรศัพท์เคลื่อนที่ กลายเป็นปรากฏการณ์ ที่คาดไม่ถึงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม การเปิดตัว คอมพิวเตอร์ ขนาดพกพา หลากหลายรุ่น ไปจนถึงเครื่องแทบเล็ตพีซี ของค่ายไมโครซอฟท์ รวมไปถึงโซลูชั่นที่ทำงานบน อุปกรณ์ไร้สาย เหล่านี้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ดูจะเป็นการรับประกันเบื้องต้นได้ว่า แนวโน้มของการใช้อุปกรณ์ขนาดพกพา ในรูปแบบไร้สาย น่าจะเข้ามาเขย่าวงการธุรกิจได้ไม่น้อย

 

นักสังเกตการณ์ในวงการอุตสาหกรรม ต่างประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ปัจจุบันถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว สำหรับการรุกเข้าสู่ตลาดบริการ เชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สาย โดยบริษัท Analysys Research บริษัทผู้นำที่ปรึกษาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในยุโรป ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรม เครือข่ายไร้สายอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด คาดการณ์ว่าจำนวนจุดเชื่อมต่อ แบบไร้สายจะเพิ่มเป็น 41,000 จุด ภายในปี 2550 เปรียบเทียบกับ 3,700 จุด ในปี 2545 นอกจากนั้น บริษัทวิจัยดังกล่าวยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2550 จะมีผู้ใช้ 21 ล้านคนที่เชื่อมต่อเครือข่ายสาธารณะแบบไร้สาย ในขณะที่ บริษัท รีเสิร์ช พอร์ทัล ดอทคอม (ResearchPortal.com) บริษัทวิจัยจากต่างประเทศ ก็ได้เผยผลสำรวจถึงการใช้จ่ายของภาคธุรกิจด้วยเรื่องของเครือข่ายไร้สายทั่วโลกว่า ธุรกิจในระดับเอ็นเตอร์ไพร์ซ จะใช้จ่ายเงินงบประมาณส่วนใหญ่ไปที่ฮาร์ดแวร์ที่จะเข้ามารองรับเครือข่ายไร้สายกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 58% ของการลงทุนด้านเทคโนโลยีไร้สายขององค์กรธุรกิจ แต่การลงทุนด้านซอฟต์แวร์จะอยู่ที่ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ทั้งนี้ การลงทุนขององค์กรธุรกิจด้านซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามารองรับ เทคโนโลยีไร้สายนั้นกำลังมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น และกลายเป็นการลงทุนด้านไอทีที่จำเป็นขององค์กรธุรกิจทั่วโลก โดยมีการ ประมาณการว่าองค์กรธุรกิจ ทั่วโลกจะลงทุนทั้งในส่วนของระบบปฏิบัติการ และแอพพลิเคชั่นในการเข้ามารองรับระบบเครือข่ายไร้สายในปี 2545 นี้ เกือบ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เลยทีเดียว ปัจจุบันนอกเหนือไปจากการใช้อุปกรณ์ไร้สายเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลแล้ว อุปกรณ์ไร้สายยังรุกคืบ เข้าไปสู่แวดวงธุรกิจในแบบที่ต้องมีการเชื่อมต่อเข้าหากันเป็นวงกว้าง ธุรกิจหลายๆ ประเภทต่างนำเอาอุปกรณ์ ไร้สายนี้เข้ามาไปช่วยบริหารธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร โรงพยาบาล ตลอดจนธุรกิจที่ต้องการความคล่องตัวในการบริหารงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจที่มีสาขาต่างๆ ทั่วโลก ต่างหันมาใช้อุปกรณ์ไร้สายเชื่อมโยงการบริหารงานแต่ละสาขาเข้าหากัน เพื่อความสะดวก และรวดเร็วของการทำงาน

 

บริษัทไอทียักษ์ใหญ่หลายต่อหลายบริษัทต่างพากันเข้าสู่ตลาดธุรกิจไร้สายกันอย่างคึกคักทั้งผลิตฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ที่ต้องใช้คู่กันออกมาชิมลางในตลาด ไม่เว้นแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่คอมพิวเตอร์อันดับ 1 แห่งหนึ่งของโลกอย่างบริษัทฮิวเลตต์-แพคการ์ด (เอชพี) ที่ไม่พลาด การร่วมขบวนในตลาดเครือข่ายไร้สาย ที่กำลังกลายเป็นอาหารเย็นมื้อสุดวิเศษของบริษัทด้านไอที ในรอบปี 2545 นี้จะเห็นได้ว่า เอชพี ได้ทยอยเปิดตัวพอคเก็ต พีซี ในหลากหลายรุ่น และที่สำคัญได้จับมือกับหลากหลาย พันธมิตรในการพัฒนาโซลูชั่นที่จะเข้ามาเป็นซอฟต์แวร์หลักเพื่อดันให้พอคเก็ต พีซี กลายเป็นพระเอกในตลาดเครือข่ายไร้สายที่มาพร้อมกับโซลูชั่นการทำงาน

 

ผู้ผลิตเน้นอุปกรณ์ไร้สาย

นายอโณทัย เวทยากร ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มธุรกิจเพอร์ซันแนล ซิสเต็มส์ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด จำกัด (ประเทศไทย) หรือ เอชพี กล่าวถึงแนวโน้มของโซลูชั่น และอุปกรณ์สื่อสารไร้สายว่า ในปี 2546 โซลูชั่นที่ใช้บนอุปกรณ์พกพา จะมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งในตลาดระดับองค์กร และผู้บริโภคทั่วไป รวมทั้ง คาดว่าจะมีการทำธุรกรรม (ทรานแซคชั่น) ผ่านโซลูชั่นบนอุปกรณ์พกพาในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของตลาดองค์กรนั้น จะเป็นโซลูชั่นด้านระบบสนับสนุนการขาย (Sales Force) ระบบการขายประกันภัย ระบบบริหารตามโรงพยาบาล ระบบงานร้านอาหาร ระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปจะเป็นโซลูชั่นด้านบันเทิง การส่งข้อความสั้น การส่งข้อความสั้นพร้อมภาพเป็นหลัก ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรที่เป็นผู้พัฒนาโซลูชั่น ซึ่งขณะนี้มีอยู่กว่า 30 ราย ซึ่งบริษัทจะเข้าไปสนับสนุนนักพัฒนาเหล่านี้ในเรื่องของอุปกรณ์พกพารุ่นใหม่ๆ ที่พันธมิตรสามารถนำไปทดสอบการใช้งานร่วมกับโซลูชั่นที่พัฒนาได้

 

ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้จังหวะเร่งพัฒนาโซลูชั่น

ด้านนายเถกิงลาภ กอวัฒนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัทผู้พัฒนาโซลูชั่นที่ใช้บนอุปกรณ์ไร้สาย บริษัท เคล็กส์เพิร์ท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจที่มีลักษณะแตกย่อยเป็นสาขา (Chain) กำลังมีแนวโน้มการขยายตัวค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกับธุรกิจร้านอาหารที่แตกสาขาออกไปนั้น ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องการเครื่องมือเข้ามาช่วยในการจัดการ บริหารระหว่างสาขาให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน และทำให้การบริหารงานมีความคล่องตัวมากขึ้น ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนาโซลูชั่นระบบการบริหารงาน เพื่อเข้ามารองรับธุรกิจที่มีสาขาดังกล่าว โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ฟาสต์ฟู้ด รวมถึงธุรกิจค้าปลีกประเภทมินิมาร์ท โดยลูกค้ากลุ่มใหญ่ของบริษัทจะอยู่ในส่วนของร้านอาหารนั้น ซึ่งบริษัทได้พัฒนาโซลูชั่นที่เรียกว่าเรสโทแรนต์ โอเปอเรชั่น โซลูชั่น (Restaurant Operation Solution) เป็นโซลูชั่นที่ใช้ในการบริหารร้านอาหาร ทำให้ผู้บริหารสามารถรับทราบข้อมูลในแต่ละวันของการบริการผ่านทางระบบหลังร้าน (Back office) ขณะเดียวกัน ทำให้ทราบถึงข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของผู้ที่เข้ามารับประทานอาหารในร้าน ข้อมูลของพนักงานบริการภายในร้าน โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกประมวลผลอย่างเรียลไทม์ในแต่ละวัน ทำให้ผู้บริหารสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผนในเชิงบริหาร หรือกลยุทธ์ทางการตลาดได้

อย่างไรก็ตาม โซลูชั่นนี้ทำให้การให้บริการภายในร้านมีความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้น โดยพนักงานบริการจะรับออเดอร์จากลูกค้า โดยการจดบันทึกลงบนอุปกรณ์สื่อสารอย่าง พอคเก็ต พีซี จากนั้นรายการอาหารจะถูกส่งไปตามเครือข่ายแลนที่วางระบบ ไว้รอบร้านวิ่งไปยังแคชเชียร์เพื่อรับทราบรายการอาหารที่ลูกค้าสั่ง รวมถึงในครัวที่จะมีเครื่องพริ้นเตอร์ พิมพ์รายการอาหารที่ลูกค้าสั่ง เพื่อให้พ่อครัวจัดการปรุงอาหารตามสั่งนั้นต่อไป ซึ่งระบบจะจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ในทุกขั้นตอนเพื่อรายงานให้กับผู้บริหารได้รับทราบในแต่ละวัน โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญของบริษัท คือ กลุ่มร้านอาหารที่มีสาขา รวมถึงร้านกาแฟ มินิมาร์ท ค้าปลีกต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหารนั้น บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 50%

 

เตรียมพัฒนาโซลูชั่นรองรับในมือถือ

อย่างไรก็ตาม ราวต้นปีหน้า บริษัทเตรียมพัฒนาโซลูชั่นการบริหาร ที่ผู้บริหารสามารถดูข้อมูลสรุปของธุรกิจในแต่ละวันผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงอุปกรณ์พอคเก็ต พีซี ได้ โดยชื่อโซลูชั่นว่า Treasuring Auditing System (TAS) โดยจะเจาะฐานลูกค้าเดิมของบริษัท โดยคาดว่ากลุ่มลูกค้าเดิมกว่า 50% จะหันใช้โซลูชั่นใหม่นี้ของบริษัท โดยขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย เพื่อหาอัตราค่าบริการที่เหมาะสม

ขณะเดียวกัน บริษัทยังเตรียมพัฒนาคีออสระบบค้าปลีกขึ้นมา โดยนำเครื่องคิดเงิน ณ จุดขาย (POS) มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้สามารถบริการลูกค้าในรูปแบบที่แตกต่างออกไป แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนได้ในขณะนี้ ทั้งนี้ภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารนั้นยังคงมีอัตราการเติบโตอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะขณะนี้ในตลาดโลกอาหารไทยถือเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอันดับ 2 รองจากจีน ซึ่งปัจจุบันบริษัทก็มีฐานลูกค้าในกลุ่มร้านอาหารไทยที่ใช้โซลูชั่นการบริหารร้านอาหารด้วย โดยมีสัดส่วนถึง 60% และร้านอาหารต่างชาติ 40% แต่ร้านอาหารที่มีสาขาจะเป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหญ่ของบริษัทมีสัดส่วนราว 60-70% ที่เหลือจะเป็นกลุ่มร้านอาหารที่ตั้งเดี่ยวๆ

 

หลายธุรกิจกับการใช้บริการเครือข่ายไร้สาย

ไม่เพียงแต่การนำอุปกรณ์ไร้สายมาใช้ในแวดวงธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งก่อนหน้านี้แผนกไอที ฝ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค บริษัท ดีทแฮล์ม จำกัด ได้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับงานขายปลีกด้วยเงินสดบนคอมพิวเตอร์พกพาสำเร็จ และนำไปใช้งานจริงกับรถสินค้าของบริษัทโดยติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ในรถส่งสินค้าที่ตระเวนออกตลาดทั่วประเทศ

โดยการนำระบบคอมพิวเตอร์พกพามาใช้ในงานขายนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้พนักงานขายทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น สะดวกขึ้นกว่าเดิม และเยี่ยมร้านค้าต่างๆ ได้มากขึ้น จากปกติพนักงานขายจะเยี่ยมร้านค้า 25 ร้านต่อวัน เมื่อใช้ระบบคอมพิวเตอร์แล้ว จะเพิ่มอีก 2-3 ร้านต่อวัน และยังลดข้อผิดพลาดในการทำงานจัดการอื่นๆ ได้อีก เช่น ระบบสต็อกสินค้าภายในรถแต่ละคัน และเชื่อมโยงไปถึงสต็อกสินค้าส่วนกลาง "การทำงานในอดีตที่เขียนด้วยมือ เมื่อปิดยอดการขายแต่ละวัน พนักงานขายจะส่งเอกสารทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษกลับบริษัท รวมแล้ว 1 เดือนมีกว่า 10,000 ใบ ซึ่งพนักงานที่บริษัทจะพิมพ์ข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์ เพื่อตัดสต็อกอีกรอบ อันเป็นเหตุที่จะเกิดความผิดพลาดได้ เพราะอ่านลายมือพนักงานขายไม่ออก หรือสำเนาที่ส่งมาจางเกินไป ทั้งยังใช้เวลา 3-4 วันกว่าจะทราบผลการขาย และสต็อกสินค้า แต่ด้วยระบบนี้จะทำให้รู้ผลวันต่อวัน" สำหรับการลงทุนในระบบนี้ โดยใช้คอมพิวเตอร์มือถือแฮนด์เฮลด์ พีซี ของฮิวเลตต์-แพคการ์ด (เอชพี) ราว 7-8 ล้านบาท ส่วนซอฟต์แวร์บนระบบปฏิบัติการวินโดว์ส ซีอี เป็นการพัฒนาโดยคนของแผนกไอที 3 คน

 

ปาล์มในโรงพยาบาล

นอกจากระบบของพอคเก็ตพีซีแล้ว กระทั่งปาล์มเองก็เข้าสู่วงการธุรกิจโดย เฉพาะสถานพยาบาลที่ได้เริ่มนำเครือข่ายไร้สายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารงานบ้างแล้ว นายศรัณยู ชเนศร์ รองประธานโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท บริษัท กล้วยน้ำไท เฮลท์ ซอฟท์แวร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือโรงพยาบาลกล้วยน้ำไท กล่าวว่า ได้นำโซลูชั่นของปาล์มมาใช้ในระบบ การรักษาผู้ป่วยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยนำคอมพิวเตอร์มือถือปาล์มรุ่น เอ็ม5515 มาให้แพทย์ใช้เพื่อตรวจสอบประวัติ การรักษาของผู้ป่วยที่ได้บันทึกไว้ในเครือข่ายเซิร์ฟเวอร์ของโรงพยาบาลขณะออกตรวจผู้ป่วยตามห้องพัก และยังสามารถใช้คอมพิวเตอร์มือถือเพื่อรวบรวมผลการตรวจรักษาผู้ป่วยคำสั่งแพทย์ และรายละเอียดในใบสั่งยา

 

การทำงานของแพทย์เร็วขึ้น

ทั้งนี้เมื่อเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์มือถือเข้ากับเซิร์ฟเวอร์กลางของโรงพยาบาลผ่านทางฐานเชื่อมต่อ (cradle) แพทย์จะสามารถส่งข้อมูลที่ได้จากการตรวจรักษาจากห้องพัก เหล่านั้นเข้าไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลผู้ป่วยของโรงพยาบาลได้ทันที ด้วยฟังก์ชั่นการทำงานของคอมพิวเตอร์มือถือปาล์ม ยังช่วยให้แพทย์นำประวัติการตรวจรักษา และการสั่งยาให้ผู้ป่วยมาเปรียบเทียบกันเพื่อวินิจฉัยโรคได้รวดเร็ว แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น "ก่อนหน้านี้ แพทย์ของเราต้องตรวจสอบข้อมูลของผู้ป่วยจากบันทึกประวัติผู้ป่วย (patient's chart) เพื่อวินิจฉัยโรคและสั่งยา แต่หลังจากที่โรงพยาบาลนำโซลูชั่นปาล์ม โอเอส มาใช้ แพทย์สามารถเข้าไปตรวจสอบประวัติการรักษาผู้ป่วย รวมทั้งประวัติการสั่งยาของแพทย์ได้ทันทีจากคอมพิวเตอร์มือถือปาล์ม จึงสามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น ในขณะที่ตรวจอาการอยู่ข้างเตียงผู้ป่วย" นายศรัณยู กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.