สหภาพยุโรปตกลงจะหารือกับไทยเพื่อชดเชยผลประโยชน์ให้ไทย กรณี Cotonou Agreement

สหภาพยุโรปเสนอลดภาษีสินค้านำเข้าลงเป็นศูนย์ให้แก่สินค้าที่มาจากกลุ่มประเทศทึ่เคยเป็นเมืองขึ้นใน เขตแอฟริกา แคริบเบียนและแปซิฟิคภายใต้ข้อตกลง Cotonou Agreement รวม 78 ประเทศ การลดภาษีดังกล่าว จะมี ผลกระทบต่อไทยและฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าปลาทูนากระป๋องไปยังตลาดสหภาพยุโรป ไทยและฟิลิปปินส์จึงขอเจรจากับสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังมีประเทศในอเมริกาใต้บางประเทศเข้าร่วมเจรจาด้วย เพราะเสียประโยชน์ในการส่งออกกล้วยไปสหภาพยุโรป ได้แก่ อิควาดอร์ กัวเตมาลาและฮอนดูรัส เป็นต้น เนื่องจากการให้สิทธิพิเศษดังกล่าวขัดกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติของ WTO หากสหภาพยุโรปประสงค์จะให้สิทธิพิเศษดังกล่าว สหภาพยุโรปจะต้อง ขอผ่อนผัน (waiver) จากสมาชิก WTO และต้องเจรจากับสมาชิก WTO ที่ได้รับผลกระทบจากการให้สิทธิพิเศษดังกล่าว เพื่อชดเชยผลประโยชน์ให้ตามสมควร

ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 9 – 14 พฤศจิกายน 2544 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ สหภาพยุโรปได้พยายามผลักดันให้ที่ประชุมรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขอผ่อนผัน (waiver) ให้สหภาพยุโรปให้สิทธิพิเศษลดภาษีนำเข้าลงเป็นศูนย์สำหรับสินค้าที่มาจากกลุ่มประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นในเขตแอฟริกา แคริเบียน และแปซิฟิค ภายใต้ข้อตกลง Cotonou Agreement

ในการนี้ ไทยและฟิลิปปินส์ได้ร่วมกันเจรจากับสหภาพยุโรปที่นครเจนีวามาเป็นเวลานาน ก่อนหน้าการประชุมรัฐมนตรีครั้งนี้ แต่สหภาพยุโรปได้พยายามถ่วงเวลามาโดยตลอด และในการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งนี้ สหภาพยุโรปก็ได้พยายามผลักดันเรื่องนี้ต่อที่ประชุมให้มีมติเห็นชอบการขอผ่อนผันดังกล่าว ซึ่งไทยและฟิลิปปินส์ได้ร่วมกันเจรจาเพื่อกดดันให้สหภาพยุโรปยอมรับและให้หลักประกันกับทั้งสองประเทศว่า สหภาพยุโรปจะให้โอกาสเจรจาเพื่อชดเชย ผลประโยชน์ให้จากการให้สิทธิพิเศษดังกล่าว โดยได้แสดงท่าทีว่าหากสหภาพยุโรปไม่ยินยอม ก็จะคัดค้านการผ่อนผัน ซึ่งจะทำให้ที่ประชุมไม่มีฉันทามติในการรับรองข้อเสนอนี้

ไทยและฟิลิปปินส์ได้ใช้เวลา 2 วันเต็มเจรจากับสหภาพยุโรป และในที่สุดสหภาพยุโรปก็ได้ตกลงที่จะหารือกับไทยในเรื่องนี้ภายใน 4 สัปดาห์หลังการประชุมรัฐมนตรี WTO ที่กรุงโดฮา เพื่อพิจารณาให้การชดเชยผลประโยชน์ที่ เสียไป และหากไทยไม่พอใจผลการหารือ ก็สามารถหาคนกลาง (mediator) มาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายพอใจได้ ซึ่งในที่สุดสหภาพยุโรปก็ยินยอมตามข้อเรียกร้องของฝ่ายไทยและฟิลิปปินส์ ซึ่งในการนี้ นาย Pascal Lamy กรรมาธิการ ด้านการค้าของสหภาพยุโรปได้มีหนังสือยืนยันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยด้วย

กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์
12 ธันวาคม 2544

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.