เนคเทคร่วมสนับสนุน สธ. กรุงเทพมหานคร บ.คาโอ และทาเคดา ผนึกพันธมิตรภาครัฐและเอกชนชั้นนำในงาน ASEAN Duegue Day 2023

Facebook
Twitter

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ร่วมสนับสนุน สธ. กรุงเทพมหานคร บ.คาโอ และทาเคดา ผนึกพันธมิตรภาครัฐและเอกชนชั้นนำ เปิดโครงการ “ก้าวสู่สังคมไทย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก” เตือน! ไข้เลือดออกระบาดหนักสุดในรอบ 3 ปี!! รณรงค์ป้องกัน-รู้เท่าทัน-ผนึกพันธมิตร ต้านเสียชีวิตจากไข้เลือดออก

ดร.ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. พร้อมดร.นัยนา สหเวชชภัณฑ์ หัวหน้าทีมและทีมวิจัยและพัฒนาแอปพลิเคชัน “รู้ทัน” เข้าร่วมกิจกรรมงานวันไข้เลือดออกอาเซียน ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่สังคมไทย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก” (Moving Forward to Zero Dengue Death) ร่วมกับกรุงเทพมหานครและ 9 พันธมิตร ได้แก่ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด, สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน), กลุ่มบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Dengue-Zero และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมรณรงค์ป้องกัน-รู้เท่าทัน ต้านการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก ซึ่งคาดการณ์ว่าจะระบาดหนักที่สุดในรอบ 3 ปี พร้อมมอบเงินรางวัลมูลค่ารวม 100,000 บาท แก่ผู้ชนะการประกวดสื่อสร้างสรรค์ “ASEAN Dengue Day Contest 2023” ที่จัดขึ้นเป็นปีแรก เพื่อให้คนไทยตระหนักถึงภัยใกล้ตัวและความรุนแรงของโรค โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกล่าวเปิดงาน

โอกาสนี้ ดร.นัยนา เป็นตัวแทนร่วมเสวนาในหัวข้อ “ก้าวสู่สังคมไทย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก” กล่าวถึงเทคโนโลยีแจ้งเตือนสถานการณ์ไข้เลือดออกให้ถึงมือประชาชน รวมทั้งสร้างพฤติกรรม ภายใต้บริบทของไข้เลือดออก เนคเทค สวทช. ร่วมงานกับกรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี 2557 ภายใต้ความร่วมร่วมมือ มีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก “ทันระบาด” ซึ่งช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งการสำรวจลูกน้ำยุงลาย การติดตามพื้นที่ระบาด หรือพื้นที่ที่เข้าเกณฑ์ต้องเปิดศูนย์ตอบโต้ไข้เลือดออกในภาวะฉุกเฉิน(EOC)

“ทันระบาด” ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ทราบกันดีว่าการป้องกัน ควบคุมให้ได้อย่างสัมฤทธิ์ผลนั้นต้องอาศัยความรวมมือจากภาคประชาชน ประกอบกับปัจจุบันประชาชนแทบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเอง ทางกรมควบคุมโรคและเนคเทค สวทช. จึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรต่อยอด“ทันระบาด” จากภาคเจ้าหน้าที่สู่ “รู้ทัน” ภาคประชาชน เพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ความทันสมัย สะดวก ซึ่งได้รับการสนับจาก คาโอ คอร์ปอเรชั่นประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท คาโอ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด โดยประชาชนสามารถตรวจเช็คจาก แอปฯ รู้ทัน ความเสี่ยงจากพื้นที่ใกล้ตัว ถึงสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ ค่าเฉลี่ย ระดับความเสี่ยง(ต่ำ/ปานกลาง/สูง) พร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติตัว แผนที่ความเสี่ยงทั่วประเทศในระดับตำบลของไข้เลือดออก เพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังเผยถึง RoadMap “ไข้เลือดออกตายเป็นศูนย์ ในระยะเวลา 10 ปี” โดยเพิ่ม Feature ใหม่ๆ ในแอปฯ “รู้ทัน” ให้ทันสมัย สร้างการมีส่วนร่วมของมวลชนมากขึ้น ซึ่งกรมควบคุมโรคสามารถนำข้อมูลมาช่วยบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งการนำเทคโนโลยี IoT เป็นเครื่องมือช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอีกด้วย

ทีมพัฒนาแอป “รู้ทัน” ได้นำผลงานร่วมจัดนิทรรศการ เพื่อสร้างความตระหนักอีกด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจาก เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชนชาวไทย และ ญี่ปุ่น เจ้าที่สาธารสุขท้องถิ่น  อสม. นักเรียน ที่ร่วมในงาน