4 ปัจจัยขับเคลื่อน AI for Thai สู่แพลตฟอร์ม AI ระดับชาติ

Facebook
Twitter
สาระจากการเสวนา “AI for Thai” ก้าวต่อไปสู่แพลตฟอร์ม AI แห่งชาติ
บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
ภาพ | ศศิวิภา หาสุข นัทธ์หทัย ทองนะ
ศักยภาพของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ปรากฏให้เห็นแก่สายตาคนทั้งโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในมิติด้านการแพทย์อย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่าง การย่นระยะเวลาในการคิดค้นวัคซีนป้องการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เดิมอาจใช้ระยะเวลาถึง 10 ปี แต่ปัจจุบันวัคซีนป้องกันการติดเชื้อดังกล่าวสำเร็จขึ้นได้ในเวลาเพียง 10-12 เดือนเท่านั้น
เกิดคำถามมาตามว่า “ปัจจุบันวงการปัญญาประดิษฐ์ของไทยอยู่ ณ จุดไหน ?”

กระทรวงอว.และดีอีเอส ประกาศจุดยืนปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย

ประเทศไทยเริ่มเดินหน้าวางยุุทธศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ โดยจัดทำร่าง “แผนแม่บทปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตั้งวิสัยทัศน์ร่วมกันว่า “ประเทศไทยจะเป็นประเทศชั้นนำในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” ซึ่งเป็นจุดเด่นของยุทธศาสตร์ AI ประเทศไทยที่แตกต่างจากประเทศอื่นซึ่งเน้นด้าน Startup และงานวิจัย

aiforthai-talk-2021

ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ในฐานะคณะทำงานและเลขานุการร่วม เล่าว่า วัตถุประสงค์ของแผนแม่บท AI ประเทศไทย คือ การพัฒนาคน พัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาเศรษฐกิจ และพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นำร่องในกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ ด้านการแพทย์และสุขภาพ ด้านเกษตรและอาหาร และด้านการใช้งานและบริการภาครัฐ ผ่านยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่

1. การเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบ สำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์
2. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น Cloud, HPC, AI Sevice Platform
3. การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์
4. การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์
5. การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐและภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์นั้น ได้มีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 นั่นคือ “AI for Thai” แพลตฟอร์มให้บริการปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย

“AI for Thai” ยิงปืนนัดเดียว … ตอบโจทย์ประเทศหลายด้าน

ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีความสำคัญต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศเป็นอย่างมาก การพัฒนาบุคคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ของไทยจึงเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง AI for Thai ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ให้ความเห็นว่า ด้วยการพัฒนาบุคคลากรด้าน AI บนพื้นฐานแพลตฟอร์มหรือเครื่องมือจากต่างประเทศนั้น จะทำให้เราอยู่ในสถานะ “ผู้ใช้” ไม่ใช่ “ผู้พัฒนา” ดังนั้น การมีแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เป็นของเราเอง จะสามารถพัฒนาคนด้าน AI ในเชิงลึกได้ อีกทั้งยังสามารถสร้างบริการหรือเครื่องมือที่ตรงกับโจทย์ของไทยได้อีกด้วย

“AI จะเติบโตได้ต้องมีการใช้งาน แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สัญชาติไทย เปิดโอกาสให้นักวิจัย นักพัฒนา นักศึกษาของไทย มีพื้นที่ในการทดสอบทดลอง AI ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลกลับไปปรับปรุงพัฒนาผลงาน รวมไปถึงภาคเอกชน Startup SMEs สามารถนำบริการบนแพลตฟอร์มไปต่อยอดสร้างมูลค่า โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ท้ายที่สุดโซลูชัน บริการ หรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นและไปต่อได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-curve) ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเทคโนโลยี รวมถึงพลิกบทบาทจากผู้ใช้สู่ผู้พัฒนาสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศได้เอง” ดร.ชัย อธิบาย

aiforthai-talk-2021

ภาพรวม AI for Thai กับฟีเจอร์ใหม่เพื่อนักพัฒนาโดยเฉพาะ

กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ของ AI for Thai แพลตฟอร์มบริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ภายใต้แนวคิด “AI สัญชาติไทย” กับยอดการใช้งานที่ค่อย ๆ พุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2561 จนถึงวันนี้ มีการเรียกใช้งาน (Request) กว่า 20 ล้านครั้ง และยอดผู้ใช้งาน (Developers) รวมกว่า 6 พันคน

aiforthai-talk-2021

AI for Thai ให้บริการ API ด้านปัญญาประดิษฐ์ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ การสนทนา และข้อความ แบ่งออกเป็น ด้านข้อความ 20 บริการ ด้านภาพ 13 บริการ ด้านเสียงและแชตบอท 3 บริการ รวมทั้งสิ้น 36 บริการ จากทั้งในส่วนงานวิจัยและพัฒนาเนคเทค สวทช., KBTG, บริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยี จำกัด โดยให้บริการฟรีแก่กลุ่มนักพัฒนาและผู้สนใจทั่วไป โดยจำกัดปริมาณการใช้งาน (Free with Limit Service) เนื่องจากทรัพยากรที่จำกัด โดยได้รับการสนับสนุนโครงสร้างสร้างพื้นฐานจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับขยายปริมาณการใช้งานสำหรับบริษัทหรือหน่วยงานที่ต้องการทำ Proof of concept ในการใช้งานจริง

aiforthai-talk-2021
ล่าสุด…แพลตฟอร์ม AI for Thai ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud service: GDCC) ให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มสรรถนะในการให้บริการเป็น 2 เท่า สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการได้เป็นอย่างดี
aiforthai-talk-2021

นอกจากนี้ ดร.กริช นาสิงขันธุ์ นักวิจัยเนคเทค สวทช. ยังได้อัปเดตฟีเจอร์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นบน AI for Thai เร็ว ๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็น

1. การรองรับข้อมูลที่สอดคล้องกับพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
2. การรองรับการจัดหมวดหมู่ของบริการตามความพร้อมใช้งาน กล่าวคือ (1) บริการ Premium คือ กลุ่มที่เป็น Industrial Grade มีประสิทธิภาพของบริการที่ดี มีความแม่นยำ และได้รับความนิยม(2) บริการ Beta Test คือ บริการทดสอบต่าง ๆ
3. เจ้าของบริการสามารถปรับใช้ (Deploy) และตรวจสอบ (Moniter) สถิติบริการได้เองผ่านแดชบอร์ด (Dashboard) จากเดิมที่เจ้าของบริการต้องติดต่อเพื่อทราบสถิติต่าง ๆ จากทีม AI for Thai
4. โมเดลธุรกิจสำหรับบริการที่ได้รับความนิยม และ Premium Service หากมีการใช้งานมากกว่าปริมาณที่กำหนดให้ใช้ฟรี (Free with Limit Service) จะสามารถใช้บริการแบบ Pay per Use ได้ โดยใช้ทรัพยากรโครงสร้างสำหรับธุรกิจ
aiforthai-talk-2021

4 ปัจจัยขับเคลื่อน AI for Thai สู่แพลตฟอร์ม AI แห่งชาติ

แม้ AI for Thai จะเป็นแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาขึ้นโดยคนไทย ภายใต้แนวคิด “เอไอสัญชาติไทย” แต่ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ ด้วยศักยภาพและทรัพยากรที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การก้าวไปสู่แพลตฟอร์ม AI แห่งชาตินั้น เป็นเป้าหมายปลายทางสำคัญที่เนคเทค สวทช. พยายามขับเคลื่อน AI for Thai ไปให้ถึง ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร ดังนั้น นอกเหนือจากบทบาทด้านการวิจัยและพัฒนา เนคเทค สวทช. จึงพยายามแสวงหาพันธมิตรร่วมกันเติมเต็มระบบนิเวศของแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยให้เกิดขึ้นจริง

ล่าสุด เนคเทค สวทช. ได้เชิญผู้ที่มีบทบาทขับเคลื่อนวงการปัญญาประดิษฐ์ไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในรูปแบบออนไลน์ ถึงปัจจัยและความท้าทายของการพัฒนา AI for Thai สู่ AI Service Platform ระดับประเทศ โดย นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำนวยการกองโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ศาสตราจารย์ ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร CEO บริษัทไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ CEO บริษัท เอไอไนน์ (AI9)

aiforthai-talk-2021
จากการเสวนาฯ สามารถสรุปปัจจัยการขับเคลื่อน AI for Thai สู่แพลตฟอร์ม AI ระดับชาติ ได้เป็น 4 หัวข้อ ดังนี้

[1] “จุดเด่นด้านภาษาไทย” ต้องพัฒนาให้เร็วและดีพอก่อนทุนนิยมเล่นงาน

ศาสตราจารย์ ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ในฐานะผู้ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อน Super AI Engineer ที่จะสร้างบุคลากรด้าน AI ให้กับประเทศ ให้ความเห็นว่า

จุดเด่นของ AI for Thai คือ การเป็นแพลตฟอร์มของคนไทย พัฒนาโดยคนไทย ด้วยทรัพยากรและใช้งานเป็นภาษาไทย ซึ่งถ้าเทียบกับที่อื่นอาจจะยังใช้งานภาษาไทยได้ไม่ดีเท่ากับ AI for Thai

“เราควรนำความสามารถที่ที่อื่นยังทำไม่ได้มาเป็นจุดขาย แน่นอนว่าที่อื่นจะพัฒนาตามเรามาในสักวันหนึ่ง ผมว่าห่วงถ้าเราพัฒนาได้ไม่เร็วพอ ไม่ดีพอ วันหนึ่งเราอาจถูกกลบไปด้วยทุนนิยม”

เพราะบริษัทใหญ่สามารถขยายระบบ หรือ การใช้งานเป็นสเกลใหญ่ได้ ดังนั้นทำอย่างไรให้ AI for Thai กลายเป็นสเกลใหญ่ รองรับความต้องการในเชิงธุรกิจได้ ซึ่งผมคิดว่าเราต้องทำในลักษณะของธุรกิจ ที่มีหน่วยงานดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงใช้ความสามารถของบุคคลากรทางด้านฮาร์ดแวร์ ไมโครเซอร์วิส ทำให้การขยายตัวออกไปแล้วใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบไม่ล่ม

aiforthai-talk-2021


[2] เปรียบ AI แห่งชาติเป็นทีมฟุตบอล ต้องมีหลายผู้เล่น

ในมุมมอง ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ CEO บริษัท เอไอไนน์ (AI9) นักวิจัยเนคเทค สวทช. หนึ่งในผู้ก่อตั้ง AI for Thai นั้น AI ต้องมีผู้เล่นหลายส่วนเปรียบเสมือนทีมฟุตบอล โดยมี AI for Thai เป็นศูนย์กลางที่รวบรวมงานวิจัย AI ของประเทศที่มีผู้พัฒนาและผู้ใช้เป็นคนไทย

“ส่วนตัวก็ยังเป็นนักวิจัยเนคเทค สวทช.อยู่ แต่เปลี่ยนบทบาทออกมาเป็น Statup เหมือนกับศูนย์หน้าถ้าพูดถึงทีมทีมฟุตบอล โดยออกมาตั้งเป็นบริษัทเพื่อจะสานต่อบริการ API บน AI for Thai ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากถึงจุดที่ AI for Thai อาจดูแลได้ไม่เต็มที่ เพราะว่ามีทรัพยากรจำกัด จึงต้องมีเอกชน หรือ Statup มารับบอลต่อเพื่อพัฒนาบริการ (Customize) ให้ถึงมือลูกค้าจริง ๆ”

ดร.ชูชาติ เล่าต่อว่า จากการเปลี่ยนบทบาทจากนักวิจัย สู่ Startup ประมาณ 1 ปี ได้เรียนรู้ความต้องการของลูกค้าชัดขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ลูกค้า (Customize) เช่น การพัฒนา UI ที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ซึ่งจะไม่ใช่บทบาทของนักวิจัยที่ต้องมาทำในส่วนนี้

“สิ่งที่จะทำให้ AI for Thai สู้ได้ คือเรื่องของการ Customize และข้อได้เปรียบเรื่องการเข้าใจภาษาไทย ซึ่งมีความต้องการเข้ามาเยอะในเรื่องของการเข้าใจภาษาถิ่นต่าง ๆ ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในแผนของนักวิจัยแล้ว จุดนี้จะทำให้เรากล้าพูดได้เต็มปากว่า แพลตฟอร์มนี้คือแพลตฟอร์ม AI ของคนไทย”

โดยภายในปีนี้ บริษัท เอไอไนน์ (AI9) จะวาง API ตัวใหม่บน AI for Thai ได้แก่ (1) Post Captioning คือ การใส่คำบรรยายภาษาไทยในวิดีโอ (2) Sentiment ที่พัฒนาสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะ

aiforthai-talk-2021


สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร CEO บริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด ที่กล่าวว่า แม้ AI for Thai จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของระบบนิเวศไปสู่แพลตฟอร์ม AI ระดับชาติ แต่การพัฒนา AI ไม่ใช่แค่การนำผลิตภัณฑ์และบริการไปสู่ตลาดเท่านั้น แต่เจ้าของบริการยังต้องเก็บข้อมูลมหาศาลในการพัฒนา AI ให้สำเร็จ ดังนั้นหากมีการพัฒนาบริการที่เปิดโอกาสให้บุคคลคนทั่วไปเข้ามาเป็นหนึ่งผู้เล่น ที่สามารถแท็กข้อมูลกลับเข้ามาได้ จะทำให้การพัฒนาโมเดลด้าน AI ใหม่ ๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยเติมเต็มระบบนิเวศสำหรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วสู่แพลตฟอร์ม AI ระดับประเทศในอนาคต

[3] AI Marketplece สร้างจุดเปลี่ยนจากผู้ทดลองสู่ลูกค้า

ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร CEO บริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด ให้ความเห็นว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้าน AI ใช้คนมาใช้ ต้องทำผู้ใช้รู้ว่า AI ตัวนี้จะช่วยหรือตอบโจทย์บางอย่างได้จริง จากการให้ผู้ใช้ได้ทดลอง ทดสอบใช้งาน ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับบริษัท Startup ที่จะเปิดโอกาสให้ผลงานเป็นที่จดจำ และโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงจากผู้ทดลองใช้สู่ลูกค้าต่อไป ซึ่ง AI for Thai ตอบโจทย์ในจุดนี้

“บริษัทฯ เรามีลูกค้ารายใหญ่ของประเทศ ทั้งด้านธนาคาร ธุรกิจประกันภัย และห้างสรรพสินค้า เขาบอกว่าที่เขารู้จักเรา เพราะว่า ได้ลองใช้บริการของเราบน AI for Thai ดังนั้น การที่เรามีตลาดกลางหรือเป็นศูนย์รวมกลางที่ให้ทุกคนสามารถมาทดสอบ AI เป็นการเปิดโอกาสให้บริษัท Startup ได้มีโอกาสที่ได้นำผลิตภัณฑ์และบริการดี ๆ ออกมาสู่มือผู้ใช้” ดร.กอบกฤตย์ กล่าว

สำหรับฟีเจอร์ใหม่ของ AI for Thai ดร.กอบกฤตย์ เห็นว่า การพัฒนาให้เจ้าของบริการสามารถเข้าไป วางบริการ รวมถึง ปรับใช้ (Deploy) และตรวจสอบ (Monitor) สถิติบริการได้เองผ่านแดชบอร์ด (Dashboard) ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้ Startup เข้ามาวางบริการ AI บน AI for Thai เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้หากมีการพัฒนาให้มีระบบแจ้งเตือนเจ้าของบริการ เมื่อเซิร์ฟเวอร์มีปัญหา หรือ ความเร็วในการตอบสนองต่ำจากยอดใช้บริการที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เจ้าของบริการได้แก้ไขอย่างทันท่วงที “เพราะการที่ให้บริการ AI ไม่ใช่แค่การคิดหรือพัฒนา AI service เท่านั้น แต่ต้องดูแลเซิร์ฟเวอร์ให้ตอบโจทย์ มีความเร็วในการตอบสนองตามระยะเวลา” ดร.กอบกฤตย์ กล่าว

aiforthai-talk-2021


นอกจากนี้ ศ.ดร.ธนารักษ์ ยังได้เสนอแนวคิดของการพัฒนา AI for Thai เป็น API Market โดยมีโมเดลคิดค่าตอบแทนที่ยุติธรรมสำหรับบริการที่มาวางบน AI for Thai เช่น การคิดค่าตอบแทนตามยอดผู้ใช้บริการ API นั้น ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

[4] ก้าวสู่แพลตฟอร์ม AI ระดับชาติ เสถียรภาพต้องดี

หนึ่งปัจจัยสำคัญในการก้าวสู่แพลตฟอร์ม AI ระดับชาติ คือ “ทรัพยากร” ที่จะทำให้ระบบมีเสถียรภาพรองรับบริการใหม่ ๆ จำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้น และการขยายตัวทางธุรกิจ ซึ่งเรื่องของทรัพยากรเคยเป็นปัญหาหนึ่งที่ AI for Thai ต้องเผชิญ โดย ดร.ชูชาติ เล่าว่า การทำแพลตฟอร์ม AI ให้ดีจริง บริการต้องมีสเถียรภาพสูง ถ้าผู้ใช้เข้ามาแล้วระบบไม่พร้อมใช้ ก็จะเกิดความคิดที่ว่าแพลตฟอร์มนี้ไม่ดีจริง ซึ่งเป็นเรื่องของทรัพยากร

ล่าสุด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สนับสนุนทรัพยากรจากโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (Government Data Center and Cloud service : GDCC) ที่ช่วยเพิ่มสมรรถนะ AI for Thai ให้ประมวลผลได้เร็วขึ้นและให้บริการได้อย่างยั่งยืน

นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำนวยการกองโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า GDC Cloud คือ Cloud กลางที่รัฐบาลให้ลงทุนขึ้นเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาใช้บริการเพื่อประโยชน์สูงสุด คือ การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลภาครัฐร่วมกัน

สำหรับแนวทางการพัฒนาไปสู่ AI แพลตฟอร์มระดับชาตินั้น นายธีรวุฒิ ให้ความเห็นว่า การเลือกหนึ่งผลิตภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์เด่น (Highlight Project) และประชาสัมพันธ์ ผลักดันให้ติดตลาด ให้ไปถึงมือผู้ใช้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของผลิตภัณฑ์ AI ของไทย เนื่องจากปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักเห็นความสำคัญของผลิตภัณฑ์ AI จากต่างประเทศทั้งสิ้น

aiforthai-talk-2021


การเสวนาในครั้งนี้ได้ฉายภาพความต้องการและข้อแนะนำจากทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสร้างระบบนิเวศด้าน AI ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยนำไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์ม AI ระดับชาติในอนาคต ตั้งแต่ด้านทรัพยากร ด้านข้อมูล ด้านเทคโนโลยี ด้านการวิจัยและพัฒนา ไปจนถึงด้านการบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาโซลูชัน (Customize) เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักพัฒนาสามารถผลักดันผลิตภัณฑ์หรือบริการด้าน AI ให้ไปถึงมือภาคธุรกิจหรือผู้ใช้งาน ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง

“ถึงแม้ว่าตอนนี้ AI for Thai จะยังไม่ครบวงจร หากพูดถึงแพลตฟอร์ม AI จากต่างประเทศ ซึ่งมีบริการ Training อย่างไรก็ตาม “ประเทศไทยกำลังเปิดบริการ High Performance Computing ที่มี GPU Cloud ขนาดใหญ่ ที่จะเข้ามาเติมเต็มวงจรของการ Training ซึ่งจะเปิดเป็นแห่งแรกของอาเซียน เร็ว ๆ นี้ ” ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย กล่าวทิ้งท้าย

วันที่เผยแพร่ 27 พฤษภาคม 2564 17:24