HandySense เปิดเวทีอุตสาหกรรมรับฟังฟีดแบคผลงาน พัฒนาระบบนิเวศส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีเกษตร

Facebook
Twitter
เนคเทค สวทช. จัดเวทีอุตสาหกรรม HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ การส่งเสริมพัฒนาระบบนิเวศและหุ้นส่วนความร่วมมือ ชวนผู้ใช้งาน 3 กลุ่มหลักได้แก่ กลุ่มผู้ผลิต จำหน่าย ติดตั้ง และบำรุงรักษา กลุ่มหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมและผลักดันภาคการเกษตรแม่นยำ และกลุ่มผู้ประกอบการที่สนใจเทคโนโลยี ร่วมอภิปรายฟีดแบคผลงาน และแนวทางการส่งเสริมและพัฒนา Ecosystem ของการเป็นเกษตรแม่นยำ หวังเป็นตัวกลางสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคเกษตร และการวิจัยพัฒนา ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ ในการจัดการการเกษตรแบบแม่นยำ ณ SYNHUB Digi-Tech Community จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา
 
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาปีหลายที่ผ่านมา เนคเทค ได้ทำการวิจัยและพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะมาอย่างต่อเนื่อง โดยมี HandySense เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีการนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) ร่วมกับระบบเกษตรอัจฉริยะ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมสำหรับการเติบโตของพืช และที่ผ่านมามีเกษตรกรให้ความสนใจและติดตั้งใช้งานจริงแล้วเป็นจำนวนมาก และเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานที่สะดวกสำหรับเกษตรกร เนคเทค สวทช. จึงได้พัฒนาฟังก์ชันการควบคุมและสั่งการอุปกรณ์ของ HandySense อีก 2 รุ่น ได้แก่ HandySense Pro และ HandySense Pro Max เพื่อตอบโจทย์การใช้งานให้มีความเหมาะสมมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นฟาร์มขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และนอกจากนี้ ผลงาน HandySense รุ่นใหม่ ได้ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งสำหรับระบบเกษตรอัจฉริยะเป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อที่จะเพิ่มให้ผลงานมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความทนทานของอุปกรณ์ให้ตอบโจทย์การใช้งานด้านการเกษตรและการจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น
 
กิจกรรมเริ่มต้นด้วยเรื่องราวผลงานวิจัยด้านเกษตรอัจฉริยะของเนคเทค สวทช. โดย ดร.ธีระ ภัทราพรนันท์ หัวหน้าทีมวิจัยระบบเกษตรดิจิทัล เนคเทค สวทช. ได้เล่าถึงภาพรวมงานวิจัยและบริการด้านการเกษตร ภายใต้ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ได้แก่
 
1. Low-Cost Irrigation Platforms เช่น HandySense ระบบเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะ กล่องควบคุมวาวล์ให้น้ำ เครื่องตรวจวัดเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เครื่องตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว ชาวเกษตร – Mobile Application
 
2. บริการวิจัยพัฒนาตามความต้องการเฉพาะด้าน เช่น ระบบตรวจวัดและระบบควบคุมด้านการเกษตร ระบบตรวจวัดการเจริญเติบโตของพืช ระบบตรวจวัดการเจริญเติบโตของพืช
 
3.บริการเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ทดสอบ เช่น การอบสมุนไพรด้วยสเปกตรัมแสงเพื่อเพิ่มสารสำคัญ
 
4.บริการให้คำปรึกษา แหล่งทุน และสิทธิประโยชน์ในการใช้งานเทคโนโลยีเกษตร
 
5. บริการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร ที่เนคเทคและหน่วยงานพันธมิตรจัดการอบรมด้านนวัตกรรมเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง
ก่อนเข้าสู่การอภิปรายความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้ง 3 กลุ่ม คุณนริชพันธ์ เป็นผลดี ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยระบบเกษตรดิจิทัล เนคเทค สวทช. ได้เล่าถึงภาพรวมการพัฒนา HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น รวมถึงเวอร์ชันใหม่ HandySense Pro และ HandySense Pro Max โดยกล่าวถึงเป้าหมายในการพัฒนา HandSense ว่า “HandySense เป็นนวัตกรรมแบบเปิดเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึง และ ร่วมมือกัน พัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะได้ โดยมุ่งเน้นให้เกิดความยั่งยืนของเทคโนโลยี โดยการขับเคลื่อน Ecosystem ให้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้เกิดการยกระดับการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรของประเทศไทย” สำหรับรายละเอียดเวอร์ชันใหม่ของ HandySense นั้นเตรียมติดตามการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พ.ย. นี้ ในรูปแบบออนไลน์
 
สำหรับความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถแบ่งได้เป็น 4 ส่วนได้แก่
 
ด้านการวิจัยและพัฒนา: ผลงานวิจัยควรมีการจัดทำ Knowlage Manatement ข้อมูลพื้นฐานจำเป็นเกี่ยวกับผลงานที่เกษตรกร หรือ ผู้ใช้งานสาามารถเข้าถึงได้โดยง่าย รวมถึงการสร้างกระบวนการจัดการข้อมูลที่อุปกรณ์จัดเก็บไปสู่ Big Data หรือ เชื่อมโยงกับฐานข้อมูล แอปพลิเคชันอื่น ๆ เพื่อวิเคราะห์การเพาะปลูกได้หลากหลายและละเอียดยิ่งขึ้น
 
ด้านการทดสอบผลิตภัณฑ์: คุณภาพของเทคโนโลยีด้านการเกษตรเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้งานเทคโนโลยี สำหรับ HandySense ได้ผ่านการทดสอบตามมาตรฐานสาขาอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งสำหรับเกษตรอัจฉริยะเรียบร้อยแล้ว โดย Depa ยังได้นำมาตรฐานดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของคุณสมบัติในการรับเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี dSURE (ดีชัวร์) อีกด้วย
 
การพัฒนาบุคลากร: การพัฒนาบุคคลากรต้องครอบคลุมทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพราะนอกจากสิ่งสนันสนุนอื่น ๆ เช่น เงินทุน อุปกรณ์ เทคโนโลยี แล้ว องค์ความรู้ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยี รวมถึงความรู้พื้นฐานด้านการเพาะปลูก ย่อมสำคัญต่อความยั่งยืนในการใช้งานเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งปัจจุบัน HandySense ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้จัดทำหลักสูตรในการถ่ายทอดองค์ความรู้พัฒนาบุคคลกรทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปมากกว่า 4,000 คน รวมถึงศูนยการเรียนรู้ของกรมส่งเสริมการเกษตร และ ธ.ก.ส. อีก 16 จุดทั่วประเทศ
 
การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ: ชุมชน HandySense Community ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงการขยายตัวของความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีการเกษตรระหว่างภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ และภาคประชาชน
เมื่อระบบนิเวศ (Ecosystem) ในการขับเคลื่อน HandySense ครบวงจร ทั้งการวิจัยและพัฒนา การพัฒนามาตรฐานอุปกรณ์ไอโอทีด้านการเกษตร การสนับสนุนให้เกิดผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเครือข่าย เกิดช่องทางการจัดจำหน่ายที่เกษตรกรเข้าถึงได้โดยง่าย การสนับสนุนแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์ในการใช้งานเทคโนโลยีเกษตร ประกอบกับการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ระบบนิเวศที่สมบูรณ์นี้จะทำให้เกิดความต้องการจริงของการใช้งานเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ และทำให้ระบบนิเวศการขับเคลื่อนนี้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน
 
นอกจากนี้ในช่วงท้ายของกิจกรรมยังได้มีการนำเสนอบทบาทของภาครัฐในการสนับสนุนส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อขยายผลการใช้งานไปสู่แต่ละภูมิภาค โดย คุณนริชพันธ์ เป็นผลดี ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล เนคเทค สวทช. และ ดร.พรพรหม อธีตนันท์ รองผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เนคเทค สวทช. ร่วมดำเนินรายการ
 
ดร.สุรางค์ศรี วาเพชร ผู้อำนวยการกลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรมด้านการเกษตร กองวิจัยพัฒนางานส่งเสริมการการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล่าถึงนโยบายการสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ระบบเกษตรอัจฉริยะของกรมส่งเสริมการเกษตร รวมถึงแนวทางการพัฒนาต่อยอดการส่งเสริมประยุกต์ใช้ระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense พร้อมกล่าวถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับผลงานว่า “HandySense เป็นการส่งเสริมเทคโนโลยีต้นน้ำเท่านั้น ยังไม่ครบห่วงโซ่การผลิต และยังใช้งานไม่เต็มศักยภาพของผลงาน ที่สามารถเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลของการตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability Digital Platform) หากสามารถนำข้อมูลเรียลไทม์ที่ได้ถือเป็นชุด Big Data ที่สามารถนำ มาวิเคราะห์เพื่อหาปริมาณความต้องการน้ำ ที่ถูกต้องของพืชนั้น ๆ พร้อมกับการสร้างโมเดลการพยากรณ์การผลิตและผลผลิตต่อไปได้”
 
โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จในการขับเคลื่อนการส่งเสริมใช้ HandySense ของเกษตรกร คือ 1) ความร่วมมือของทุกหน่วยงานพันธมิตร ทำงานในบทบาทของตนเองอย่างเต็มที่ และทำทันที มีการบูรณาการแผนปฏิบัติงานร่วมกันทั้งในด้านบุคลากร งาน และงบประมาณ 2) เกษตรกรต้องสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และคำปรึกษาการใช้งานได้ง่าย หลายช่องทาง ของทุกหน่วยงานพันธมิตรสามารถซื้อหาชุดอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานในราคาที่เอื้อมถึงและมีบริการหลังการขาย 3) มีผู้ใช้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีและงบประมาณการลงทุนเพื่อให้เกษตรกรกล้าลงทุนกับเทคโนโลยีใหม่
 
คุณปิยะ บุญมาประเสริฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักพัฒนา SME และ Startup ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวถึงบทบาทของ ธ.ก.ส. ที่ไม่เพียงแต่สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำสำหรับเกษตรกรเท่านั้น แต่ ธ.ก.ส. ยังสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร ค้นหาเกษตรกร New Gen ในพื้นที่ และเสริมสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลการใช้งานเทคโนโลยีด้านการเกษตรไปในวงกว้าง
 
ด้าน คุณวิศิษฏ์ ไหมเพ็ชร หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวถึง เสริมสร้างและยกระดับทักษะบุคลากรครูผู้สอนระดับอาชีวศึกษา ด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตสรรพสิ่ง (IoT) โดยใช้นวัตกรรมแบบเปิด HandySense การสนับสนุนคูปองดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตร โดยต้องช่วยลดต้นทุน หรือ เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
 
ในช่วงท้ายของกิจกรรม คุณนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซินเนอร์ยี เทคโนโลยี จำกัด ได้นำชมพื้นที่ SYNHUB Digi-Tech Community ซึ่งเป็นชุมชนคนนวัตกรรมและแหล่งบ่มเพาะ Startups ผ่านความคิดสร้างสรรค์เพื่อดึงศักยภาพด้าน IoT ให้เกิดเป็นผลงานและออกสู่ตลาดพร้อมนำกลับมาสร้าง New Ecosystem สำหรับต้นแบบ Smart City เมืองอัจฉริยะแห่งอนาคตผ่าน Lifestyle และ Digital Solution ที่ง่าย สะดวก รวดเร็วและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการเรียนรู้และมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน