เนคเทค สวทช. ร่วมพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ มาตรฐานนวัตกรรมแบบเปิด HandySense

Facebook
Twitter

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ร่วมฉายภาพแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรด้วยมาตรฐาน IoT ในเสวนาหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ มาตรฐานนวัตกรรมแบบเปิด HandySense” ภายใต้พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ดีป้า และ กรมส่งเสริมการเกษตร ที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนการส่งเสริม สนับสนุนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลดิจิทัลในภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแก่เกษตรกร และบุคลากรภาคการเกษตรของประเทศ พร้อมยกระดับประสิทธิภาพภาคการเกษตรของไทยสู่ ‘เกษตรอัจฉริยะ’

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พร้อมด้วย นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมสนับสนุนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตร โดยมี ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ และ ดร.ปรีสาร รักวาทิน รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า รวมถึง นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ และนายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมเป็นสักขีพยาน

ภายในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ มาตรฐานนวัตกรรมแบบเปิด HandySense” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานพันธมิตรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ ได้แก่ นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร  ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า นายจิรศักดิ์ สุยาคำ ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. และคุณนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที ดำเนินรายการเสวนาโดย ดร.ปรีสาร รักวาทิน รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า

2 หน่วยงานส่งเสริม กับการพัฒนาภาคเกษตรไทย

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึง การพัฒนากลุ่ม Young Smart Farmer ต้องพัฒนาในมุมของผู้ประกอบการด้านการเกษตรด้วย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ พร้อมเฟ้นหา Young Smart Farmer ที่มีความสามารถโดดเด่นถ่ายทอดความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ต่อไป สำหรับแนวทางการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ด้วย HandySense นั้น กรมส่งเสริมการเกษตร เนคเทค และ ธ.ก.ส. ได้เริ่มดำเนินการมีทั้งการพัฒนาความรู้และทักษะบุคลากรด้านการเกษตรทั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรมากกว่า 3,000 คน เพื่อสร้างการรับรู้ ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ HandySense ที่สำคัญได้สร้างแปลงเรียนรู้ต้นแบบระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense พร้อมกับวิทยากรประจำแปลงเรียนรู้ รวมจำนวน 16 จุด ประกอบด้วยแปลงเรียนรู้ของศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 6 และ 10 จุด ซึ่งในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรจะสร้างแปลงเรียนรู้ต้นแบบเพิ่มเติมอีก 29 จุด รวมเป็น 45 จุด ทั่วประเทศ

ด้านสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวถึง แนวทางการทำงานของ depa ในการส่งเสริมการประยุกต์ใช้ดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมเกษตรใน 3 มิติ ได้แก่ มิติแรก การให้ความรู้ โดยมีเกษตรกรเป็นเป้าหมายแรก ตั้งแต่ระบบผู้บริหารผ่านหลักสูตร CDA เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ สนับสนุนซึ่งกันและกัน ต่อยอดไปสู่โครงการพัฒนาการเกษตรร่วมกัน รวมไปถึงการส่งเสริมความรู้ทักษะของผู้ประกอบการ (SI) ทำอย่างไรให้มีคุณภาพการผลิตเทียบเท่าสากล เกษตรกรกล้าซื้อกล้าใช้เทคโนโลยีเกษตร ส่งเสริมให้ได้รับ ISO ส่งเสริมให้ใช้งานเทคโนโลยีเกษตรที่ได้มาตรฐาน ยกตัวอย่าง HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ รวมถึงการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการส่งเสริมความน่าเชื่อถือในการให้บริการ

มิติที่สอง คือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้เทคโลยีดิจิทัลเพิ่มมูลค่าและปริมาณผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และ มิติสุดท้าย คือ การให้ความสำคัญของการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวของด้านการเกษตรทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์และสร้างแนวทางส่งเสริมให้ภาคการเกษตรประสบความสำเร็จ ผ่านการพัฒนากำลังคน ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้ใช้งานเทคโนโลยี การสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลด้านการเกษตร เป็นต้น

โดยในปี 2566 depa ได้จัดทำโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีผ่านคูปองสนับสนุน 10,000 บาท ร่วมกับกรงส่งเสริมการเกษตร และ HandySense เพื่อให้เกษตรกรมีทุนในการจัดหาเทคโนโลยีดิจิทัลมาทดลองใช้ได้ง่ายยิ่งขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการขยายผลต่อไป

ธกส. เพิ่มบทบาทการสนับสนุนงานวิจัยด้านการเกษตร

นายจิรศักดิ์ สุยาคำ ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า ธ.ก.ส. พร้อมสนับสนุนภาคเกษตรไทย ทั้งในบทบาทหลักของสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อเพื่อเกษตรกรมากว่า 50 ปี และการสนับสนุนทุนเพื่อการวิจัยทั้งในส่วนของภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชนที่มีความสนใจเพื่อค้นหางานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร พร้อมการต่อยอดขยายผลในงานนวัตกรรมต่าง ๆ ที่แต่ละส่วนงานพัฒนา เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ไปสู่เกษตรกรได้ใช้จริง

เนคเทคร่วมสร้างมาตรฐานส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีเกษตร

ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวถึง เนคเทค สวทช. ให้ความสำคัญและมีความพยายามดำเนินงานผลักดันงานวิจัย/เทคโนโลยีเพื่อภาคการเกษตรมากว่า 10 ปี และยังเป็นหนึ่งใน 8 กลยุทธ์การดำเนินงานแบบมุ่งเป้าที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน นั่นคือ ระบบเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) แต่เทคโนโลยีด้านเกษตรยังไม่ถูกใช้งานอย่างกว้างขวาง นำมาสู่การขยายผลในแนวทางเทคโนโลยีแบบเปิด หรือ Open Innovation โดยเริ่มต้นที่ผลงาน HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ ที่เปิดเผยพิมพ์เขียวผลงานวิจัยให้สาธารณะได้นำไปใช้งาน และผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ทำให้เกิดความหลากหลายของการผลิตมากขึ้น แน่นอนว่าผู้ใช้มักต้องการอุปกรณ์ที่ “ถูกและดี” แต่ส่วนใหญ่กลับใช้ได้ไม่ทนทาน เกิดการชำรุดเสียหายอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อุปกรณ์ IoT ด้านการเกษตรไม่ถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง เมื่อไม่มีผู้ใช้งาน ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถขายสินค้าหรือบริการได้ ส่งผลต่อการขยายผลและการพัฒนาในอุตสาหกรรม เนคเทค สวทช. และพันธมิตรจึงได้ การจัดทำมาตรฐานอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งสำหรับเกษตรอัจฉริยะ เพื่อช่วยแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ depa ในการการออกตราสัญลักษณ์ dSURE ให้กับผลิตภัณฑ์หรือบริการดิจิทัลที่ผ่านการวิเคราะห์ตรวจสอบ และคัดกรองแล้วว่าได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล

'สมาคมไทยไอโอที' พร้อมเป็นหนึ่งเครื่องมือพัฒนาภาคเกษตรของประเทศ

คุณนิติ เมฆหมอก นายกสมาคมไทยไอโอที กล่าวว่า การทำงานวิจัยด้านเกษตรในลักษณะ Open Innovation เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรทำเพื่อสร้างเครื่องมือช่วยเหลือเกษตรกรให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น สำหรับ HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ ที่มีมาตรฐานอุปกรณ์ IoT เข้ามารองรับจะช่วยให้เทคโนโลยีภาคเกษตรเกิดการพัฒนายิ่งขึ้น โดยเฉพาะในมุมของผู้ประกอบการ หากไม่ได้รับมาตรฐานแน่นอนว่าจะไม่ได้รับเชื่อถือจากผู้บริโภค และจะเกิดการแข่งขันทางธุรกิจที่ต้องมุ่งเข้าสู่การมีมาตรฐานในที่สุด ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ในขณะที่คุณภาพเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้น สำหรับสมาคมไทยไอโอทีพร้อมเป็นเครื่องมือสนับสนุนด้าน System Integrator (SI) ให้คำแนะนำช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการในเรื่องการออกแบบและการเชื่อมต่อระบบต่าง ๆ รวมการนำเทคโนโลยีไปใช้งานจริง โดยต้องอาศัยการทำงานร่วมกับเกษตรกรและภาครัฐทั้งกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เป็นต้น เพราะ “ข้อมูลภาคการเกษตร” ที่มีตัวแปรมหาศาลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำนั้นสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์การใช้งานภาคการเกษตรมากที่สุด หรือ นำไปสร้างสรรค์ให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับภาคการเกษตรไทยได้อีกมาก ทั้งนี้ในเรื่องของการพัฒนากำลังคน สมาคมไทยไอโอทีกำลังมีความร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง เพื่อนำ HandySense ระบบเกษตรแม่นยำ ฟาร์มอัจฉริยะ เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรเพื่อสร้างพื้นที่รองรับการทำงานให้กับกลุ่มอาชีวศึกษาต่อไป