กปภ.เชียงใหม่ พลิกโฉมการประปาด้วย IoT บริหารจัดการน้ำ 4.0

Facebook
Twitter
บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
วิดีโอสัมภาษณ์ | ศศิวิภา หาสุข, วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์, อิสริยาพร วรทิศ

ชมคลิปสัมภาษณ์ | กปภ.เชียงใหม่ พลิกโฉมการประปาด้วย IoT บริหารจัดการน้ำ 4.0

ปัญหาที่เกิดกับการบริหารจัดการน้ำแม้เพียงเล็กน้อยแต่ส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ ปัญหาเบสิคอย่าง น้ำไม่ไหล หรือ ไหลอ่อน แม้ในระยะเวลาสั้น ๆ ก็ส่งผลต่อความรู้สึกและเป็นอุปสรรคต่อชีวิตประจำวันแล้ว ยังไม่รวมผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือปศุสัตว์ ที่มีเรื่องของการลงทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง

กลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำประปาอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและธุรกิจหลายด้าน ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกกลยุทธ์การบริหารจัดการน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเชียงใหม่ (ชั้นพิเศษ) ที่ได้นำเทคโนโลยี Smart IoT & Sensor เข้ามาเป็นหนึ่งกลยุทธ์เพิ่มขีดความสามารถและการก้าวข้ามอุปสรรคด้านการจัดการน้ำประปาในราคาประหยัด

เมื่อเสียงร้องเรียนของประชาชน คือ สัญญาณเตือนที่ล่าช้าเกินไป

ยังจำได้หรือไม่ … เราเปิดใจใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยเหตุผลอะไร ? คำตอบไม่หลากหลายมากนัก คือ เทคโนโลยีต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา หรือ อำนวยความสะดวกด้านใดด้านหนึ่งให้กับมนุษย์ เช่นเดียวกันกับการประปาส่วนภูมิภาค (ชั้นพิเศษ) สาขาเชียงใหม่ที่มี “ปัญหา” เป็นจุดเริ่มต้นของการขยับตัวเข้าใกล้ “เทคโนโลยี 4.0”

“น้ำประปาหยุดบ่อย” “น้ำประปาไหลอ่อน”

เสียงร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งในอดีตน้ำประปาไม่ไหล หรือ ไหลอ่อนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเป็นผลมาจากระบบผลิตน้ำ ณ หน่วยบริการ อ.แม่วาง ขัดข้อง หรือ หยุดชะงัก จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ ไฟฟ้ากระพริบ

ด้วยหน่วยบริการ อ.แม่วาง เป็นสถานีผลิตน้ำขนาดเล็ก อยู่ห่างไกลจากสำนักงานใหญ่ ประมาณ 60 กิโลเมตร ทำให้เจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานใหญ่ ไม่ทราบสถานะของเครื่องจักรกล การเข้ามาตรวจสอบสถานะดังกล่าว จะเกิดขึ้นเมื่อประชาชนร้องเรียนเข้ามา

netpie-pwa-interview
คุณปฏิญญา เพ็ชรมาก ผู้จัดการกปภ. สาขาเชียงใหม่ (พ.) เล่าว่า

หน่วยบริการ อ.แม่วาง มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ 1 ท่าน เมื่อมีปัญหาการสูบน้ำเกิดขึ้น เช่น น้ำดิบไม่ถูกสูบขึ้นมาบนโรงกรองน้ำ ปั้มสูบน้ำดิบขัดข้อง เจ้าหน้าที่จะสังเกตจากระดับน้ำที่เข้าสู่กระบวนการผลิตมีระดับต่ำลง และจะต้องเดินทางโดยรถจักรยานยนต์จากหน่วยบริการแม่วางไปยังสถานีสูบน้ำ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เพื่อวิเคราะห์ปัญหา ตรวจสอบ และซ่อมบำรุง ซึ่งบางครั้งอาจล่าช้า ไม่ทันการณ์ และมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ในการเดินทางเมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง หรือ การเดินทางในช่วงกลางคืน

นอกจากนี้ การรับรู้สถานะของเครื่องจักรกลที่ล่าช้า ยังส่งผลให้คุณภาพน้ำไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กปภ.กำหนด ด้วยสถานีผลิตน้ำ ณ หน่วยบริการ อ.แม่วาง จะใช้น้ำดิบจากแม่น้ำแม่วาง ซึ่งในช่วงฤดูน้ำหลากจะมีปัญหาเรื่องค่าความขุ่นสูง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบค่าความขุ่นอยู่ตลอดเวลา และเติมสารเคมีที่เหมาะสมกับค่าความขุ่นของน้ำดิบอย่างทันท่วงทีเพื่อให้การผลิตน้ำมีคุณภาพตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นภาระงานที่หนักและใช้เวลามาก

เรื่องราวในอดีต ณ หน่วยบริการ อ.แม่วาง กปภ. สาขาเชียงใหม่ (พ.) สะท้อนให้เห็นว่า เสียงร้องเรียนของประชาชน หรือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นหน้างาน เป็นสัญญาณเตือนการแก้ปัญหาที่ล่าช้าเกินไป แม้จะแก้ปัญหาได้ภายหลัง แต่ผลกระทบได้เกิดขึ้นกับประชาชนแล้ว ผนวกกับอุปสรรคเรื่องระยะทางของระบบต่าง ๆ ในการผลิตน้ำที่ห่างไกลกัน ยังเพิ่มช่วงเวลาของผลกระทบให้ยาวนานขึ้น รวมถึงการสูญเสียทรัพยากร และความความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่

ปัญหาเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการขยับตัวเข้าหาเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-time เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตน้ำประปาของ กปภ. สาขาเชียงใหม่ (พ.) โดยปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวมีให้เลือกหลากหลาย โจทย์สำคัญต่อมา คือ จะเลือกใช้เทคโนโลยีอะไรให้เหมาะสมกับปัญหาและบริบทขององค์กร

ผจญภัยในดินแดนเทคโนโลยี: ตามหาแพลตฟอร์มไอโอทีที่ดีและคุ้ม

การตัดสินใจใช้งานเทคโนโลยีย่อมมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ความสามารถตอบโจทย์ความต้องการ หรือ แก้ปัญหา ความคุ้มค่าในการลงทุน ความยากง่ายในการดูแลรักษาและปรับปรุงระบบ เป็นต้น อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ กปภ. สาขาเชียงใหม่ (พ.) นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาและแก้ปัญหากระบวนการผลิตน้ำ ก่อนหน้านี้ได้มีการใช้งานระบบสกาด้า (SCADA) เพื่อเข้ามาตรวจวัดสถานะการนำงานของระบบผลิตน้ำทั้งหมดและแสดงผลบนแดชบอร์ด (Dashboard) ที่ต้องใช้งบประมาณสูงถึงสามแสนบาท

โดยคำตอบในการเลือกเทคโนโลยีที่ดีและคุ้มค่า ที่ กปภ. สาขาเชียงใหม่ (พ.) ตัดสินใจใช้งาน คือ “เน็ตพาย (NETPIE)” แพลตฟอร์มไอโอทีสัญชาติไทย

เน็ตพาย (NETPIE) หรือ แพลตฟอร์มสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง (Network Platform for Internet of Everything) ทำหน้าที่เป็นคลาวน์แพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาไอโอที เป็นชุดเครื่องมือให้ผู้ที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ไอโอที สามารถทำได้อย่างง่ายดาย โดยที่ไม่ต้องไปตั้งเซิร์ฟเวอร์ หรือ ฐานข้อมูลเอง พัฒนาขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค

“เมื่อปี 2561 ทีมงานได้เข้าไปศึกษาและเลือกใช้ NETPIE ซึ่งพัฒนาโดยหน่วยงานของรัฐ และเป็น Open source สามารถที่จะใช้ได้ฟรี ถูกต้องตามกฎหมาย ข้อดี คือ ทีมงานสามารถที่จะพัฒนาอุปกรณ์ได้หลาย ๆ อย่าง เมื่อติดขัด หรือเกิดปัญหาสามารถประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของเนคเทค เพื่อที่จะปรับปรุงแก้ไข เขาก็ให้คำแนะนำดีมากและไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายอะไร” คุณปฏิญญา กล่าว

โดยล่าสุดเน็ตพายได้เปิดตัวเวอร์ชันใหม่ NETPIE 2020 ที่จะมาทลายทุกข้อจำกัด ด้วยคุณสมบัติที่พัฒนาขึ้น เพื่อลดภาระและตอบโจทย์ผู้ใช้งานด้าน IoT โดยเฉพาะ ช่วยให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือระบบ IoT ใด ๆ ก็ตามเป็นเรื่องง่าย ตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างต้นแบบ การพัฒนาระบบเพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์ ไปจนถึงการดูแลรักษา ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ และยังคงเปิดให้ใช้บริการฟรีมาอย่างต่อเนื่องสำหรับนักเรียน นักศึกษา นักพัฒนา และอุตสาหกรรม SME ภายใต้การสนับสนุนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

netpie-pwa-interview

กปภ.เชียงใหม่ x NETPIE :นวัตกรรมปิดจ๊อบปัญหาก่อนประชาชนร้องเรียน !

แม้เรื่องของงบประมาณจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้งานเทคโนโลยี แต่ประเด็นของคุณภาพนั้นต้องยกให้เป็นปัจจัยอันดับหนึ่ง แม้ราคาคุ้มทุน แต่คุณภาพไม่คุ้มค่า ก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้น เมื่อ NETPIE แพลตฟอร์มไอโอทีสัญชาติไทย ได้ใจ กปภ. สาขาเชียงใหม่ (พ.) ในเรื่องของงบประมาณและการบริการแล้วนั้น

ในเรื่องของคุณภาพ กปภ.เชียงใหม่ (พ.) ได้พิสูจน์โดยประยุกต์ใช้ NETPIE สร้าง 2 นวัตกรรมที่มาช่วยปลดล็อกอุปสรรคทั้งด้านการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาและการบริการอย่างอยู่หมัด ได้แก่ ผลงานตรวจวัด/ควบคุมแจ้งเตือนผลิตน้าอัจฉริยะด้วยระบบ Smart IoT and Sensors และ นวัตกรรมบัตรคิวออนไลน์ Eazy Queue

● ระบบ Smart IoT and Sensors: ตรวจวัดและควบคุมแจ้งเตือนผลิตน้ำอัจฉริยะ

ระบบ Smart IoT and Sensors: ตรวจวัดและควบคุมแจ้งเตือนผลิตน้ำอัจฉริยะ ที่ได้นำ NETPIE แพลตฟอร์มไอโอทีสัญชาติไทย มาประยุกต์ใช้เพื่อตรวจวัดและดึงสถานะการทำงานของเครื่องจักรกลระบบผลิตน้ำแสดงบนแดชบอร์ด (Dashboard) พร้อมควบคุมกระบวนการผลิตน้ำอัตโนมัติ และแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินเมื่อระบบผลิตน้ำขัดข้องผ่าน Line

netpie-pwa-interview
คุณธีระพงษ์ ละออ วิศวกรงานผลิต กปภ. สาขาเชียงใหม่ (พ.) เล่าว่า

เป้าหมายของเรา คือ การลดข้อร้องเรียนในเรื่องของน้ำไหลอ่อนหรือน้ำไม่ไหลในพื้นที่นี้ เดิมสถานีผลิตน้ำหน่วยบริการแม่วางใช้ระบบวิทยุสื่อสารและสายสัญญาณซึ่งจะมีปัญหา คือ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานที่อยู่ห่างออกไปราว ๆ 60 กิโลเมตร จะไม่ทราบสถานะเครื่องจักรกลในระบบผลิตที่นี่ จึงมีความยากในการบริหารจัดการให้ค้าแนะนำปรึกษา การซ่อมบำรุงเบื้องต้นให้กับทางผู้ปฏิบัติที่อยู่ในสถานีผลิต เจ้าหน้าที่จึงต้องเดินทางเป็นระยะทางไกลเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่หน้างานซึ่งอาจเกิดความล่าช้าและไม่ทันท่วงที

กปภ.เชียงใหม่ (พ.) จึงได้ออกแบบและติดตั้ง “ตู้โมดูลไอโอที” ที่เชื่อมต่อสัญญาณจากตู้ควบคุมเครื่องจักรกลระบบผลิตน้ำและจำหน่ายน้ำ ได้ทันที โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมเพิ่มเติม โดยมีเน็ตพาย (NETPIE) แพลตฟอร์มไอโอทีทำหน้าที่ดึงสัญญาณสถานะเครื่องจักรกลจากตู้โมดูลไอโอทีไปแสดงบนแดชบอร์ด (Dashboard) บนสมาร์ตโฟนและคอมพิวเตอร์ โดยตู้โมดูลไอโอทีดังกล่าว รวมถึงเซนเซอร์ตรวจวัดต่าง ๆ จะถูกติดตั้งอยู่ในสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับระบบผลิตน้ำทั้งหมด

netpie-pwa-interview
ความสามารถของระบบ Smart IoT and Sensors: ตรวจวัดและควบคุมแจ้งเตือนผลิตน้ำอัจฉริยะ
● ตรวจวัดสถานะการทำงานของเครื่องจักรกลระบบผลิตน้ำและแสดงผ่าน Dashboard บนสมาร์ตโฟนและคอมพิวเตอร์
● ตรวจวัดและแสดงข้อมูลการผลิตน้ำจากเซนเซอร์แบบ Real-time ซึ่งเดิมเจ้าหน้าที่ต้องตรวจวัดด้วยตนเอง เช่น การตรวจวัดค่าความขุ่นของน้ำดิบ ด้วยเครื่องมือภาคสนามวันละ 3 เวลา เพื่อป้องกันการเกิดภาวะน้ำขุ่นฉับพลันจากฝนตก หรือ น้ำป่าไหลหลาก หรือ การตรวจวัดคุณภาพน้ำประปาตามรอบเวลา 3 รอบ/วัน เป็นต้น
● ควบคุมกระบวนการผลิตน้ำที่มีคุณภาพเหมาะที่เหมาะสม เช่น การตรวจวัดและควบคุมปรับจ่ายคลอรีนให้อยู่ในช่วงค่าความคุมมาตรฐานน้ำประปา
● สามารถทำการผลิตน้ำได้อย่างอัตโนมัติ เช่น สามารถหยุดระบบผลิตน้ำได้เองเมื่อถังน้ำใสเต็มเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และสั่งการระยะไกลจากโรงกรองน้ำไปยังโรงสูบน้าดิบเพื่อสูบน้าดิบขึ้นมากรองแบบอัตโนมัติเมื่อปริมาณน้ำในถังน้ำใสพร่อง ซึ่งเดิมเจ้าหน้าที่ต้องเดินทางไป-มา ระหว่างโรงสูบน้ำดิบ-โรงกรองน้ำ เพื่อเดินระบบผลิตน้ำ
● ฟังก์ชันแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เมื่อระบบผลิตน้ำขัดข้องผ่านทาง Line ทำให้เจ้าหน้าที่ทราบและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วง เช่น เหตุไฟฟ้าดับ เครื่องสูบน้ำทำงานผิดปกติ ค่าความขุ่นน้ำดิบสูงผิดปกติ เป็นต้น
netpie-pwa-interview

การมีนวัตกรรมที่สามารถตรวจวัด แสดงผลข้อมูล และควบคุมระบบการผลิตน้ำแบบ Real-time ทำให้เจ้าหน้าที่ทราบสถานะได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ลดภาระและเวลาของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบแบบ manual รวมถึงการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินผ่าน Line ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถแก้ไขสถานการณ์และคืนสภาพระบบผลิตน้ำได้อย่างทันท่วงที การผลิตน้ำไม่หยุดชะงัก และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งด้านปริมาณและคุณภาพน้ำ

“หลังจากที่เราได้มีการนำมา NETPIE มาประยุกต์ใช้สร้างนวัตกรรม สามารถลดข้อร้องเรียนในการแจ้งน้ำไหลอ่อนหรือน้ำไม่ไหลได้ เนื่องจากเรามีการผลิตงานที่ต่อเนื่องมากกว่าเดิม” คุณธีระพงษ์ กล่าว

● ระบบ Eazy Queue: การประยุกต์ใช้ระบบ IoT กับระบบเรียกบัตรคิวออนไลน์และ SLA Time

Eazy Queue (อีซี่คิว) เป็นระบบที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการเรียกคิวที่เคยยุ่งยาก ให้ง่ายขึ้นกว่าเดิม โดย กปภ. สาขาเชียงใหม่ (พ.) ได้รับเสียงร้องเรียนจากผู้ใช้บริการถึงระบบเรียกคิวที่มีปัญหาอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้ผู้ใช้บริการหนาแน่น และ รอนาน กระทบโดยตรงต่อเวลาการให้บริการการชำระเงินค่าน้ำประปาใช้เวลาเกินมาตรฐานที่กำหนด (SLA Time) คือ มากกว่า 3 นาที/คน

“โดยระบบเรียกคิวแบบเดิมใช้ระบบสาย USB เป็นการเดินสายสัญญาณจากจุดเรียกบัตรคิวแต่ละเคาเตอร์ ตามมาตรฐานต้องมีระยะห่างไม่เกิน 5 เมตร หากเกินระยะดังกล่าวจะมีปัญหาสัญญาณขาดหาย เรียกคิวได้ไม่สม่ำเสมอ ต้องใช้ตัวขยายสัญญาณซึ่งมีค่าใช้จ่าย และต้องใช้สายสัญญาณจำนวนมาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภูมิทัศน์ในการจัดโต๊ะเคาเตอร์ต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เนื่องจากกปภ.สาขาเชียงใหม่(พ.) เป็นสำนักงานการประปาขนาดใหญ่ มีจำนวนเคาเตอร์ให้บริการจำนวนมาก และตั้งอยู่ระยะห่างกัน จึงมีการนำ NETPIE เข้ามาพัฒนาระบบเรียกคิวแบบไร้สายขึ้น” คุณธีระพงษ์ กล่าว

netpie-pwa-interview

โดยระบบ Eazy Queue การเรียกคิวแบบไร้สายที่พัฒนาขึ้นนี้ เจ้าหน้าสามารถใช้งานได้กับคอมพิวเตอร์ทุกตัวที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต โดยสามารถขยายเคาท์เตอร์ให้บริการได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องระบบสายอีกต่อไป พร้อมทั้งมีระบบการรักษาความปลอดภัยจำกัดสิทธิ์ผู้ใช้งาน ด้วยการ Login ชื่อและรหัสผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานหน้าเคาเตอร์ให้บริการชำระเงินเท่านั้น

netpie-pwa-interview

นอกจากนี้ยังได้มีกปภ.สาขาเชียงใหม่(พ) ยังมีการนำเซนเซอร์ระบบตรวจจับนับเวลาในการให้บริการต่อคิว หรือ SLA Time เพื่อบันทึกเวลาการให้บริการต่อคิว โดยระบบจะเริ่มนับถอยหลัง 180 วินาทีโดยอัตโนมัติเมื่อมีผู้ใช้บริการหน้าเคาท์เตอร์ โดยสามารถบันทึกและตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้ เพื่อนำข้อมูลไว้ใช้ปรับปรุงการใช้บริการ หรือ รายงานผลการปฏิบัติงานได้

netpie-pwa-interview
“ระบบ Easy Queue ทำให้เรามองเห็นภาพรวมว่า ณ เวลานั้นมีลูกค้ามารอที่จะใช้บริการจำนวนเท่าไหร่ เพื่อที่จะให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า รวมถึงมีรายงานสรุปเวลาการใช้บริการในทุก ๆ วัน หากมีรายใดที่ใช้เวลาให้บริการเกิน 180 วินาที ก็ต้องมาวิเคราะห์สาเหตุ และพัฒนาข้อบกพร่องต่อไป” คุณวริญรดา แสงกันทะ นักบัญชี 4 งานจัดเก็บรายได้ 1 การประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ กล่าว
netpie-pwa-interview

พร้อมขยายผลนวัตกรรมคุ้มทุนและคุ้มค่า สู่กปภ.ทั่วประเทศ

กปภ.เชียงใหม่ (พ.) เป็นตัวอย่างของการนำปัญหาของประชาชน และ งบประมาณที่จำกัดมาเป็นโจทย์ในการเลือกใช้งานเทคโนโลยี 4.0 ที่คุ้มทุน และคุ้มค่า สามารถสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของประชาชน เพิ่มศักยภาพให้กับระบบการผลิตน้ำและการใช้บริการ รวมถึงช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศได้ และแน่นอนว่า กปภ.เชียงใหม่ (พ.) พร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปยังกปภ.ทั่วประเทศ

“เราไม่ได้ปิดกั้น ปัจจุบันมีหลายสาขาที่มานำนวัตกรรมของเราไปใช้ และอยากจะให้มีการขยายผลนวัตกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ประหยัดและสร้างความคุ้มค่าให้กับประเทศ ถ้าเราติดตั้งระบบสกาด้าที่หน่วยบริการแม่วาง จะใช้งบประมาณอยู่ที่ 3 แสนกว่าบาท แต่ทีมงานมีความสนใจใช้งานเน็ตพายซึ่งพัฒนาโดยหน่วยงานของรัฐ โดยจะใช้งบประมาณอยู่ที่ 3 หมื่นบาทเท่านั้น”

ซึ่งมันไม่รู้กี่เท่าที่สามารถที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ลงได้ ทำความคุ้มค่าให้กับประเทศ และไม่ได้ประหยัดอย่างเดียว มันสร้างความพึงพอใจให้ประชาชนได้ใช้น้ำอย่างต่อเนื่องเราทราบปัญหาก่อนที่ประชาชนจะโทรเข้ามาเสียอีก ต้องขอบคุณทางเนคเทค หากมีแพลตฟอร์มดี ๆ แบบนี้อยากจะให้ท่านได้กระจายให้กับประชาชน” คุณปฏิญญา เพ็ชรมาก ผู้จัดการกปภ. สาขาเชียงใหม่ (พ.) กล่าวทิ้งท้าย

netpie-pwa-interview
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังตามหาเทคโนโลยีที่คุ้มทุนและคุ้มค่า
เพื่อยกระดับ ! อุตสาหกรรมของคุณให้ล้ำหน้าไปอีกขึ้น
ต้องไม่พลาด … งานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทค ประจำปี 2564
รวมทุกโซลูชัน 4.0 ที่คุณตามหาไว้ที่งานนี้
แล้วพบกัน NECTEC-ACE2021
9 กันยายนนี้ !

เข้าสู่เว็บไซต์ NECTEC-ACE 2021