ตอกย้ำพันธกิจ “สวทช.” หน่วยงานวิจัยพัฒนาเพื่อประโยชน์ประเทศ ด้วยความสำเร็จของ 2 งานวิจัยเวทีรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ปี 2565

Facebook
Twitter

บทความ | ศิริพร ปานสวัสดิ์ วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
ภาพถ่าย | ชัชวาลย์ โบสุวรรณ กรรวี แก้วมูล 

19 ตุลาคม 2565 เนื่องในวันเทคโนโลยีของไทย มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมป์ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2565ในงาน OUTSTANDING TECHNOLOGIST AWARDS & TECHINNO FORUM 2022  เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยที่ประสบความสำเร็จ มีผลงานโดดเด่นอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ความสามารถ และความพยายามที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้ประโยชน์เป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั่วไป สร้างผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงเป็นการสร้างเสริมแรงบันดาลใจให้กับนักเทคโนโลยีรุ่นหลัง หรือเยาวชนตระถึงความสำคัญของงานวิจัยพัฒนา ได้ยึดถือเป็นแบบอย่างเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ดีเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป  

ในปีนี้ถือเป็นความสำเร็จของสวทช. ที่ 2 ผลงานวิจัย สามารถคว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2565 ได้แก่

1. รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565 ผลงาน “ระบบติดตามตรวจวัดข้อมูลระยะไกลด้านความปลอดภัยเขื่อน” (Dam Safety Remote Monitoring System : DS-RMS) นำโดย ดร.กนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์ และทีมนักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

2. รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี พ.ศ.2565 ผลงาน “โครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลสมรรถนะสูงเพื่องานวิจัยวัสดุขั้นสูง” (High Performance Computing Infrastructure for Advanced Materials Research) โดย ดร.มนัสชัย คุณาเศรษฐ หัวหน้าทีมวิจัยโครงสร้างพื้นฐานซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (ThaiSC) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.

โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วย ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สวทช. ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รองผู้อำนวยการ สวทช. และดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ร่วมแสดงความยินดีแก่ทีมนักวิจัยที่ได้รับรางวัลภายในงาน

2 รางวัล ตอกย้ำพันธกิจ "สวทช." งานวิจัยเพื่อประโยชน์ประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า รางวัลในครั้งนี้ ถือว่าตรงกับพันธกิจที่สำคัญของสวทช. นั่นคือ การนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในประเทศ ต้องขอขอบพระคุณกรรมการและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้คัดเลือก และเล็งเห็นความสำคัญของผลงานที่สวทช. ดำเนินงานจากความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำเพื่อการใช้ประโยชน์ได้จริง ดังเช่นผลงานที่นักวิจัยสวทช. นำความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีเซนเซอร์ มาร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พัฒนาเป็นระบบการตรวจสุขภาพเขื่อน นำไปใช้งานกว่า 14 เขื่อนทั่วประเทศ เพื่อความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประชาชน ซึ่งทำให้เห็นมิติของการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาผสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคบริการไม่เช่นนั้นงานวิจัยก็จะอยู่แต่ในห้องปฏิบัติการ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ สวทช. ต้องร่วมมือกับหน่วยงานภาคบริการ เพื่อนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ภาคประชาชนและสังคมในประเทศได้อย่างแท้จริง งานวิจัยด้านอื่นๆ ของสวทช. ยังมีอีกหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น ด้านวัสดุ เคมี ไบโอเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยี งานวิจัยส่งเสริมภาคการเกษตร ฯลฯ ซึ่งผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีวันที่เทคโนโลยีของสวทช. เกิดขึ้นมาอีกมากมาย และเรามีความยินดีที่จะร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานพันธมิตร เพื่อร่วมกันสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศต่อไป

DNA นักวิจัยเนคเทค สวทช. ต้องเชี่ยวชาญและมุ่งมั่น

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และ เทคโนโลยีรุ่น ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติอย่างยิ่งสําหรับนักวิจัยไทย ซึ่งต้องเป็นงานวิจัยที่สามารถสร้างผลกระทบอย่างสูงให้กับประเทศ และขอแสดงความยินดีกับนักวิจัยเนคเทค สวทช. ทั้ง 2 ท่านที่ได้รับรางวัล จาก 2 ผลงาน ได้แก่  DSRMS หรือ ระบบการตรวจสุขภาพเขื่อน เป็นงานวิจัยที่เนคเทค สวทช. ทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 เราดูแลระบบดังกล่างให้กับเขื่อนของกฟผ. ทั้ง 14 เขื่อนทั่วประเทศ  และผลงานที่สอง คือ “โครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลสมรรถนะสูงเพื่องานวิจัยวัสดุขั้นสูง” (High Performance Computing Infrastructure for Advanced Materials Research) เราได้ดําเนินการเรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาประมาณสามปี แม้ผลกระทบที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันจะยังมีไม่มาก แต่เป็นโอกาสอย่างยิ่งที่จะขยายผล เมื่อเราสามารถที่จะสร้างซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ให้กับประเทศภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะเติบโตและสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ในการทําวิจัยและพัฒนาลดภาระค่าใช้จ่ายของของประเทศได้อีกมหาศาล 

รางวัลทั้งสองสะท้อนถึง DNA ของนักวิจัยเนคเทค สวทช . ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญ และมีความมุ่งมั่นในการติดตาม ส่งมอบ ดูแลผลงานอย่างต่อเนื่อง เราให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานเพื่อสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เนคเทค สวทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะเป็นหน่วยงานสําคัญที่จะยืนหยัดในเรื่องการทำงานวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์สังคมเช่นนี้ต่อไป

"ความเชื่อใจ" ประตูด่านแรกของความร่วมมือ

รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565 ผลงานวิจัย “ระบบติดตามตรวจวัดข้อมูลระยะไกลด้านความปลอดภัย (Dam Safety Remote Monitoring System : DS-RMS)” นำโดย ดร.กนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์ และทีมนักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยเนคเทค สวทช. ได้นำองค์ความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ มาบูรณาการร่วมกับเทคโนโลยีของเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน ทั้งแผ่นดินไหว และน้ำหลาก ที่ติดตั้งไว้ที่เขื่อนและรอบอ่างเก็บน้ำ เพื่อทำให้การตรวจวัดเขื่อนสามารถทำได้ผ่านทางไกล เพื่อให้ได้ข้อมูลแบบ realtime ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยระบบที่ออกแบบผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ได้รับการทดสอบรับรองทางไฟฟ้าอย่างครบถ้วน นำไปใช้งานจริงในพื้นที่เขื่อนได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในยามที่เกิดสถานการณ์วิกฤต และในส่วนของซอฟต์แวร์ได้ออกแบบให้มีการทำงานหลากหลายมิติสามารถรวบรวม และประมวลผลข้อมูลจากเซนเซอร์ที่จำเป็น ให้แสดงผลพร้อมการแจ้งเตือนแก่เจ้าหน้าที่ หรือวิศวกรที่รับผิดชอบดูแลเขื่อนใช้งานได้ง่าย และมีระบบเสมือนผู้เชี่ยวชาญ (Expert System) ที่สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

คุณนันทิยา ระพิทย์พันธ์ หัวหน้าแผนกวิเคราะห์ทบทวนความมั่นคงปลอดภัยเขื่อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้กล่าวถึงการทำงานของกฟผ. ทำหน้าที่ในการดูแลความมั่นคงของเขื่อน จำนวนกว่า 35 เขื่อนทั่วประเทศ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก เพื่อสร้างความมั่นใจ และความปลอดภัยแก่ประชาชนจึงต้องมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อนอัตโนมัติ เริ่มต้นเมื่อประมาณ 15 ปีก่อนที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี โดยใช้เทคโนโลยีและการบำรุงรักษาจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง หลังจากนั้นกฟผ. ต้องการติดตั้งระบบที่เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี จึงได้มาพบ และร่วมมือกับเนคเทค สวทช. ที่มีศักยภาพ และความรู้ความเชี่ยวชาญ รวมถึงได้ให้เข้าไปช่วยดูแลระบบที่ติดตั้งอยู่ที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ จากนั้นตั้งแต่ประมาณปี 2554 กฟผ. และเนคเทคได้ทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง พัฒนาเพิ่มเติมในส่วนระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System) ที่สามารถแปลผลข้อมูลได้เหมือนนำตรรกะความคิดของผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านวิศวกรรมเขื่อน วิศวกรรมปฐพีและฐานราก มาช่วยวิเคราะห์ผลได้อย่างแม่นยำว่าปลอดภัยหรือไม่ ระบบนี้มีประโยชน์อย่างมากเวลาที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ น้ำหลาก หรืออุทกภัยร้ายแรง ที่จะช่วยให้การทำงานของเจ้าหน้าที่กฟผ. ออกไปตรวจสอบแก้ไขได้ทันการณ์ รวมถึงประชาชนก็จะได้รับทราบข้อมูลทันที จึงได้ขยายผลติดตั้งระบบดังกล่าวนี้ไปยังอีก 14 เขื่อนร่วมกับเนคเทค อยากฝากไปยังหน่วยงานอื่นๆ ถ้าหากมีปัญหา มี Pain Point หรือต้องการเครื่องมือช่วยในการทำงาน ขอให้เชื่อมั่นว่านักวิจัยคนไทยเก่งมาก มีความรู้ ความสามารถที่จะพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาได้และนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง

ดร.กนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการควบคุมและอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (ACERG) เนคเทค สวทช.ได้กล่าวถึงความท้าทายในฐานะนักวิจัย “เมื่อเราเดินเข้าไปในหน่วยงานหนึ่ง ถ้าหน่วยงานนั้นไม่เปิดใจ ไม่ยอมรับ ไม่เชื่อมั่นว่าประเทศไทย คนไทยสามารถทำเทคโนโลยีได้ทัดเทียมกับต่างประเทศ ผมว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่จะเปิดประตูสู่ทุกสิ่ง นำมาสู่การเริ่มพูดคุยกัน เริ่มพยายามทำความเข้าใจ หาจุดร่วมของความสนใจที่จะทำงานร่วมกันระหว่างองค์กร สร้างความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องยาวนานด้วยจุดประสงค์เดียวกัน ผมต้องขอขอบคุณทีมงานจากกฟผ. ทุกท่านที่เปิดใจ ยอมรับ พร้อมทำงาน เรียนรู้ไปด้วยกันทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นทีมช่าง วิศวกร ผู้บริหารทุกระดับทั้งที่ประจำอยู่ที่เขื่อนแต่ละจังหวัดและในส่วนกลาง ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมคิด ค้นหาความต้องการ ร่วมเป็นทีมงานที่พร้อมทุ่มเทไปด้วยกันอย่างเต็มใจ เพื่อผลักดันผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์แก่สังคมและชุมชนได้อย่างประสบความสำเร็จ”

จาก Passion สู่ความสำเร็จ HPC เครื่องแรกโดยนักวิจัยไทย

รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี พ.ศ.2565 ผลงาน “โครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลสมรรถนะสูงเพื่องานวิจัยวัสดุขั้นสูง” (High Performance Computing Infrastructure for Advanced Materials Research) โดย ดร.มนัสชัย คุณาเศรษฐ หัวหน้าทีมวิจัยโครงสร้างพื้นฐานซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (ThaiSC) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.

ดร.มนัสชัย คุณาเศรษฐ กล่าวว่า “โครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลสมรรถนะสูงเพื่องานวิจัยวัสดุขั้นสูง (High Performance Computing Infrastructure for Advanced Materials Research เป็น passion ที่อยากให้ประเทศไทยได้รับการบันทึกในแผนที่โลกว่ามีเครื่องคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณและการวิจัยที่เทียบเท่านานาประเทศ  

เริ่มต้นเราพยายามที่จะพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือ ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อไปตอบโจทย์การวิจัยทางด้านวัสดุศาสตร์ขั้นสูง แต่เมื่อมันตอบโจทย์เรื่องวัสดุศาสตร์ได้แล้ว ก็น่าจะนำไปใช้ในด้านอื่นด้วยเช่นกัน เราจึงพยายามออกแบบให้ตอบโจทย์งานอื่นของสวทช. และประเทศมากขึ้น เช่น งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการคำนวณ (Computational Science) เช่น การทำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์, งานวิจัยด้าน Computational chemistry, Bioinformatics, Climate change, Artificial Intelligence (AI), Big data เป็นต้น

เราพยายามผลักดันมาโดยตลอดตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ จากระบบเล็ก ๆ จนได้รับความไว้วางใจได้แสดงศักยภาพในระบบที่ใหญ่ขึ้น โดยเป็นต้นแบบเครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของไทยที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศกว่า 3 ร้อยล้านบาทในระยะเวลา 3 ปี จากการที่นักวิจัยไม่ต้องใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานจากต่างประเทศ และนำไปสู่การเตรียมพร้อมเปิดตัว “Lanta หรือ ลันตา” คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนในปีหน้านี้ ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์การแข่งขันในระดับโลก และเป็นคำตอบให้กับโจทย์ของทุกคน

ทำเนียบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ปี พ.ศ. 2548 - 2565

จากผลงานวิจัยของสวทช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่

รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น :

พ.ศ. 2548 – “การพัฒนาเทคโนโลยีฟิลม์บรรจุภัณฑ์แอคทีฟสำหรับยืดอายุผักและผลไม้สด”
โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมกับ ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. 2549 – “กลุ่มห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร”
โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.

พ.ศ. 2550 – “กลุ่มเทคโนโลยีการคำนวณเพื่อวิเคราะห์และออกแบบทางวิศวกรรม”
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พ.ศ. 2551 – “กลุ่มเทคโนโลยีโรงเรือนเพื่อเพิ่มผลิตภาพของพืชผล”
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พ.ศ. 2555 – “เทคโนโลยีการตรวจวัดคุณภาพของอะลูมิเนียมเหลวส าหรับการผลิตงานหล่อคุณภาพ”
โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช.

พ.ศ. 2556 – “การวิจัยพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจีโนม : เทคโนโลยีฐานจีโนมิกส์กับการตรวจสอบ จีโนมอย่าง รวดเร็วเพื่อช่วยควบคุมคุณภาพสินค้าในการส่งออกอาหารและการปรับปรุงพันธุ์พืชอายุยืนแบบก้าวกระโดด”

โดย สถาบันจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.
ร่วมกับห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ. 2562 – “เครื่องเอกเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย”
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

พ.ศ. 2563 – “KidBright : บอร์ดส่งเสริมการเรียนโค้ดดิ้งและสะเต็ม”
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.

พ.ศ. 2565 – “ระบบติดตามตรวจวัดข้อมูลระยะไกลด้านความปลอดภัยเขื่อน” (Dam Safety Remote Monitoring System : DS-RMS) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

 

รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ :

พ.ศ. 2546

– ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.

– ดร.จันทร์จิรา สินทนะโยธิน ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) สวทช.

พ.ศ. 2547 – ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.

พ.ศ. 2551 –  ดร.เสาวภาคย์ โสตถิวิรัช ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.

พ.ศ. 2554 –  ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช.

พ.ศ. 2557 – ดร.บรรพท ศิริเดชาดิลก หน่วยเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งชาติ

พ.ศ. 2560 – ดร.วิรัลดา ภูตะคาม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช

พ.ศ. 2561 – ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช

พ.ศ. 2565 – ดร.มนัสชัย คุณาเศรษฐ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และหัวหน้าทีมวิจัยโครงสร้างพื้นฐานซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (ThaiSC) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช.