คุยกับ Startup AI ไทย | กล้าเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างไร ? ตั้งแต่วันที่ “AI” ไม่มีใครรู้จัก และความท้าทายใหม่ ๆ ในยุคที่คนกลัว AI แย่งงาน”

Facebook
Twitter
ในโลกที่ AI ได้ผสานเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับการใช้ชีวิตในทุกไลฟ์สไตล์ หลากหลายตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจที่นำ AI เข้ามาสร้างความเหนือกว่าคู่แข่ง ทำให้ตลาดเทคโนโลยี AI เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตามความสามารถของเทคโนโลยีที่ล้ำขึ้นทุกวัน
หากมองย้อนกลับไปในช่วง 8 – 10 ปีก่อน ที่ AI ยังไม่มีตัวอย่างการใช้งานมากนัก เรื่องราวที่ AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นจริงเมื่อไหร่ ในวันที่น้อยคนจะรู้จัก AI คุณกล้าหรือไม่ที่จะเริ่มต้นลงทุนทำธุรกิจนี้
เนคเทค สวทช. ชวน Startup AI ไทย นำโดย ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ CEO บริษัท Ai9 จำกัด ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย Founder & CEO BOTNOI Group และ ดร.อิทธิพันธ์ เมธเศรษฐ CTO/Co-Founder, บริษัท ZTRUS พูดคุยถึงเรื่องราวจุดเริ่มต้นของธุรกิจ AI ในไทย รวมถึง โอกาสของธุรกิจ AI ไทย กับ การสนับสนุนจากภาครัฐ

— เริ่มต้นจาก ‘โอกาส’ หากไม่คว้าไว้ อาจไม่กลับมาอีก

ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย Founder & CEO BOTNOI Group เล่าว่า “ประเทศไทยมีบริษัท Startup ที่เรื่อง AI น้อยมาก ๆ ตอนนั้นมันเป็นเหมือนโอกาส และความโชคดีที่ Botnoi ได้รับรางวัล Conservation Award จาก LINE BOT AWARD ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2017 เหมือนเป็นการรับรองความสามารถของบริษัทในระดับหนึ่ง รวมถึงโอกาสที่ได้รับโอกาสจากลูกค้าที่ให้ความเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำอยู่ จึงรู้สึกว่าหากเราไม่คว้าโอกาสนี้ไว้ ในอนาคตสิ่งนี้อาจจะกลับไม่กลับมาอีก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการใช้ความรู้เรื่องของเทคโนโลยี AI ที่เรามีมาพัฒนาประเทศ ให้คนในประเทศสามารถเข้าถึง AI ได้ง่ายขึ้น ในราคาที่ถูกลง

เริ่มต้นจาก ‘นักวิจัย’ หากไม่ก้าวออกจากแลป อาจปิด ‘Gap’ ผู้ใช้งานไม่ได้

การเป็นนักวิจัยที่อยู่ในห้องแลปเป็นส่วนใหญ่ แม้จะได้พบปะพูดคุยกับผู้ใช้งาน หรือ ลูกค้าอยู่บ้าง แต่อาจไม่เพียงพอ ดร.ชูชาติ หฤไชยะศักดิ์ CEO บริษัท Ai9 จำกัด บริษัทสตาร์ตอัปผู้ให้บริการเทคโนโลยี AI ด้าน Speech to text และ NLP “เราเป็นนักวิจัยมานาน เมื่อออกมาสู่ตลาดจริง ๆ พบว่า การนำงานวิจัยด้าน AI ไปสู่ตลาดนั้นยังมีช่องว่างอยู่มาก จากการเจอและต้องทำความเข้าใจโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของผู้ใช้งาน” ดร.ชูชาติกล่าว
สอดคล้องกับ ดร.อิทธิพันธ์ เมธเศรษฐ CTO/Co-Founder, บริษัท ZTRUS ในช่วงที่เป็นนักวิจัย “ทำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่รู้สึกว้าว แต่เมื่อเริ่มทำบริษัทจึงเห็นช่องว่างบางอย่างของการนำเทคโนโลยีไปใช้จริง ช่องว่างที่ไม่รู้ว่าลึกแค่ไหน หน้าตาเป็นอย่างไร หรือที่เรียกว่า Valley of Death จึงตัดสินใจว่าต้องออกไปเผชิญตลาดข้างนอก”

“การสื่อสาร” ความท้าทายที่ Startup AI ต้องทำความเข้าใจ

การสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์กร ผลิตภัณฑ์ และบริการเป็นความท้าทายแรกที่ดร.วินน์ กล่าวถึงเพราะในช่วงเริ่มต้น AI เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ ฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีตัวอย่างประกอบการอธิบายมากนักว่า AI สามารถเอาไปใช้อะไรได้บ้างในองค์กร ผลตอบแทนที่ลูกค้าจะได้รับจากการใช้ AI คืออะไร ยิ่งไปกว่านั้นการสื่อสารกับบุคลากรภายในเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของบริษัท (branding) ก็พบกับปัญหานี้เช่นกัน
“BOTNOI Group จึงกำหนดเป้าหมายของบริษัท คือ การ localized AI ให้คนไทยสามารถใช้งานได้ เข้าถึงได้ง่าย ด้วยราคาที่ถูกลง จากนั้นต้องพยายามสื่อสารโดยอิงจากงานที่เรากำลังทำอยู่ เพราะจริง ๆ แล้ว AI มีอยู่ทั่วโลก ทั่วประเทศ หากพยายามหาคนเปรียบเทียบนั่นหมายความว่าสิ่งที่เราขายเหมือนกับสิ่งที่มันมีแล้วในตลาด ไม่ได้สร้างความแตกต่าง และลูกค้าก็จะมองหา branding ที่สูงกว่าเรา” ดร.วินน์ อธิบาย
ในมุมของบริษัท ZTRUS ดร.อิทธิพันธ์ เล่าว่า ความท้าทายในช่วงแรก คือ “ความใหม่” ของทั้งเทคโนโลยี ผู้ใช้งาน และในฐานะที่เป็นนักวิจัย พูดภาษาแบบนักวิจัย “เวลาอธิบาย ผู้ใช้ทำหน้างง ๆ แล้วก็ชมว่าดี แต่ไม่ซื้อ” จึงค่อย ๆ ปรับมาเรื่อย ๆ เพื่อตอบผู้ใช้ให้ได้ว่าผลิตภัณฑ์นี้ต้องลงทุน คืนทุนเท่าไหร่ จะช่วยลดภาระงานของผู้ใช้ได้มากน้อยแค่ไหน
สอดคล้องกับบริษัท AI9 ที่มีการปรับตัวเพื่อสื่อสารกับลูกค้า โดยเน้นพูดคุยสอบถามความต้องการของผู้ใช้งานหลาย ๆ รอบ เนื่องจากผู้ใช้งานมีหลากหลายประเภท มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI ที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก “เวลาคุยกับลูกค้าจึงต้องทำความเข้าใจว่าลูกค้ามีความเข้าใจในระดับไหน ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร เพื่อให้เราสามารถเสนอโซลูชันที่ตรงใจ ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีที่สุด” ดร.ชูชาติ กล่าว

— โอกาสของธุรกิจ AI ไทย กับ การสนับสนุนจากภาครัฐ

โอกาสของธุรกิจ AI ในไทยนั้นมีอยู่มาก แต่ความยากอย่างหนึ่ง คือ เทคโนโลยีจากต่างประเทศจะเข้ามาแข่งเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายบริษัทใหญ่อาจไม่ได้ลงลึกถึงลูกค้า โดยจะมีบริษัทตรงกลางนำโซลูชันเหล่านั้นทำก่อน ซึ่งหากธุรกิจ AI ไทยสามารถเข้ามาสร้างกระบวนการให้กับให้กับตลาดในไทยได้ก่อนก็จะเป็นโอกาสที่ดี
สำหรับความคาดหวังการสนับสนุนจากภาครัฐ ดร.อิทธิพันธ์ มองว่า องค์ประกอบของระบบนิเวศ AI นั้นมีหลายผู้เล่นช ดังนั้นภาครัฐควรส่งเสริมสนับสนุนทั้งระบบนิเวศ สำหรับมุมของเทคโนโลยีการสนับสนุนบริษัทที่เป็นผู้ผลิตหรือให้บริการก็เป็นส่วนสำคัญ ยกตัวอย่าง AI for Thai Platform ที่รวบรวมบริการ AI ในรูปแบบ API ให้เรียกใช้ได้ก็เป็นตัวกระตุ้นตลาดอย่างหนึ่ง รวมถึงการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนที่ทำให้ AI Startup สามารถนำ AI ไปสู่ตลาด โดยให้ผู้ใช้งานรู้สึกถึงความเสี่ยงลดลง มีความคุ้มค่ามากขึ้น ทำให้ตัดสินใจใช้งาน AI ได้ง่ายขึ้น
สอดคล้องประสบการณ์ของดร.ชูชาติ ในเรื่องของการสนับสนุนแหล่งเงินทุน เนื่องจากผลิตภัณฑ์หรือบริการ AI บางอย่างยังเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่มีองค์กรใด ๆ ใช้งาน เมื่อบริษัทออกแบบไปเสนอ จะเกิดคำถามเรื่องประสิทธิภาพการใช้งานในหลายมิติ ซึ่งบริษัทเองอาจไม่มีงบประมาณจะพัฒนาบริการให้สามารถตอบคำถามดังกล่าวอย่างชัดเจนได้ “เป็นปัญหาไก่กับไข่ ถ้าบริษัทไม่ทำ ลูกค้าไม่เห็นของ ก็ไม่สามารถตัดสินใจซื้อได้ หากมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนให้สามารถเริ่มดำเนินงานได้เร็ว จะช่วยให้ตลาด AI ในไทยเติบโตได้เร็วขึ้น” ดร.ชูชาติ กล่าว
ดร.วินน์ มองว่า การสนับสนุนจากภาครัฐในการสร้างคอนเนคชันกับต่างประเทศก็เป็นประเด็นสำคัญ ปัจจุบันเราทำธุรกิจ AI อาจโฟกัสอยู่แค่ในเมืองไทย แต่จากประสบการณ์ที่ดร.วินน์ได้ไปพูดคุย ศึกษาระบบ และผลงานกับนักพัฒนาจากประเทศต่าง ๆ พบว่าความสามารถของนักพัฒนาไทยนั้นไม่แพ้ต่างประเทศ “ดังนั้นจากเดิมที่เราเปิดโอกาสให้นักพัฒนาต่างประเทศเข้ามาศึกษา ลงทุน หรือเกิดความร่วมมือในประเทศไทย ในทางกลับกันภาครัฐอาจสนับสนุนให้นักพัฒนาไทยได้มีโอกาสดังกล่าวเช่นกัน เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง” ดร.วินน์ อธิบาย