i4.0 Unlock the Future: ปลดล็อคอุตสาหกรรมไทยด้วยดัชนี 4.0

Facebook
Twitter
บทความ | ณภัทร จิตตวิสุทธิกุล และ ธันย์ชนก ใจดี
ภาพประกอบ | ณภัทร จิตตวิสุทธิกุล, ธันย์ชนก ใจดี, อิสริยาพร วรทิศ, ช่อทิพย์ ชวาลา

 

อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งมีบทบาทในระดับโลก ที่ต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย ที่ได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้เป็นนโยบาย “Thailand 4.0” ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม

อุตสาหกรรม 4.0 จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะมีอิทธิพลในวงกว้าง ไม่เพียงหนุ่มสาวโรงงาน ผู้จัดการ หรือผู้บริหารโรงงานอุตสาหกรรม แต่รวมถึงภาคธุรกิจ ภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่และรายย่อย ล้วนสามารถบูรณาการธุรกิจและกระบวนการผลิตของตนเองให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกที่แปรผันไปอย่างรวดเร็ว ความต้องการของสินค้า Mass Production ลดลง ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ปรับแต่งได้ตามใจ มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และต้องสั่งได้ทันใจ รวดเร็วตามเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลง

หากอุตสาหกรรมไทยสามารถก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 จะผลักดันให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจ เกิดโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนระบบนิเวศอุตสาหกรรม 4.0 และเกิดการพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานฝีมือ (Skilled Labor) ในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสร้างอาชีพทำให้อัตราการว่างงานลดลง อย่างอาชีพผู้คิด solution ให้โรงงานด้วยเทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนโรงงานไปสู่ 4.0 (System Integrator) หรือ เรียกสั้นๆ ผู้รับเหมาระบบ (SI) ก็เป็นอาชีพหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ของไทย

แต่ทว่า การก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 นั้น จะต้องอาศัยปัจจัยในหลายด้าน ดังนั้นการทราบสถานะความพร้อมของอุตสาหกรรม ณ ปัจจุบัน จะทำให้การก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 มีความเป็นมาตรฐาน ตามลำดับที่เหมาะสมกับบริบทของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง โดย กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้มีการคิดค้นดัชนีชี้วัดความพร้อมของอุตสาหกรรมไทย (Thailand i4.0 Index) ขึ้น
thi4-index-article

 

Thailand i4.0 Index คืออะไร: ทำไมประเทศไทยต้องมี Index ของตนเอง?

ดัชนีชี้วัดความพร้อมของอุตสาหกรรม มีใช้หลายประเทศทั่วโลก เช่น Smart Industry Readiness Index (SIRI) ของประเทศสิงคโปร์ หรือ Industrie 4.0 Readiness ของประเทศเยอรมนี หลาย ๆ ท่าน อาจจะสงสัยว่าทำไมประเทศไทยไม่นำดัชนีชี้วัดของประเทศชั้นนำโลกมาใช้โดยตรง

โดยเหตุผลที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีดัชนีชี้วัดความพร้อมของอุตสาหกรรรมเป็นของตนเองนั้น เนื่องจากบริบททางสังคมของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน การที่ประเทศไทยนำดัชนีชี้วัดของประเทศอื่นมาใช้นั้น จะไม่สอดคล้องเหมาะสมต่อการทำงานในระบบของอุตสาหกรรมไทย ดังนั้น เราจึงต้องสร้างดัชนีชี้วัดของตนเอง เพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทประเทศและสังคมไทยมากที่สุด เพื่อลดการพึ่งพาระบบการประเมินของต่างประเทศ

และไม่จำเป็นต้องจ้างผู้รับเหมาระบบต่างชาติเข้ามาช่วยจัดการ ช่วยลดความเสี่ยงของข้อมูลรั่วไหล เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจภายในประเทศ จากการเพิ่มอัตราการจ้างงานภายในประเทศ โดยการสร้างอาชีพผู้รับเหมาระบบให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับประเทศไทย (Thailand i4.0 Index)

ดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับประเทศไทย คือ กระบวนการการประเมินศักยภาพความพร้อมของผู้ประกอบการ โรงงาน เเละบริษัท โดยทำการลำดับการปรับปรุงโรงงานในด้านต่าง ๆ ทำให้สามารถจัดหาผู้รับเหมาระบบ (SI) ซึ่งตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของโรงงานนั้น ๆ ได้อย่างครบถ้วน รวมถึงนำดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 มาประเมินศักยภาพและความเหมาะสมของผู้รับเหมาระบบ เพื่อทำให้โรงงานสามารถพัฒนาศักยภาพไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้

ดังนั้น ดัชนีชี้วัดความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 จึงมีผลอย่างมากต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) และเป็นการยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมไทย โดยจะเข้าไปช่วยทำให้โรงงานอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการมีองค์ความรู้เรื่องการปรับปรุงองค์กรให้เป็นมาตรฐานเพิ่มขึ้น ทราบว่าจะต้องปรับปรุงองค์กรของตนในด้านใด และต้องปรับปรุงถึงระดับใดจึงจะถือว่าเข้าสู่องค์กรแห่งยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยแบ่งเป็น 6 มิติ (Dimensions) ได้แก่

1.Technology (เทคโนโลยี)
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติ ตั้งแต่การควบคุมการผลิต การจัดการสถานที่และองค์กร และเชื่อมต่อทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน
2. Smart Operation (การดำเนินงานที่ชาญฉลาด)
การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างชาญฉลาดเพื่อใช้ในการบริหารการผลิต การดำเนินงานขององค์กร อุปกรณ์และสถานที่ผลิตที่ดำเนินแบบแผนไปในทางเดียวกันอย่างคล่องตัว
3. IT System & Data Transaction (ระบบไอทีและธุรกรรมข้อมูล)
การบูรณาการโครงสร้างภายในองค์กร โดยเชื่อมต่อกระบวนการต่างๆ แบบแนวตั้งหรือแบบปิรามิด (ปิรามิดอัตโนมัติในอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระดับชั้น โดยระดับชั้นแรกคือด้านบนสุดซึ่งเป็นชั้นที่วางแผนองค์กร ตามระดับไปจนถึงระดับ 5 ซึ่งอยู่ด้านล่างสุดของปิรามิด)
4. Market & Customers (ตลาดและลูกค้า)
การรวบรวมและจัดการข้อมูลเชิงพฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายและสภาพตลาดเพื่อการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ การออกแบบ และวางแผนวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์
5. Strategy & Organization (กลยุทธ์และองค์กร)
กระบวนการทำงานและการนำพาองค์กรจากผู้บริหารไปสู่พนักงาน การวางแผนและพัฒนาขององค์กรสู่ Industry 4.0 โดยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารและการร่วมมือกับพันธมิตรภายนอก
6. Human Capital (ทุนมนุษย์)
การพัฒนาความสามารถและขอบเขตของพนักงานโดยการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับทิศทางขององค์กร รวมถึงการศึกษาและสวัสดิการที่เหมาะสมกับชีวิตและความเป็นอยู่
thi4-index-article

 

สถานการณ์ที่โรงงานไทยและผู้ประกอบการต้องเผชิญ

จากการที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ยุค 4.0 ทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคที่มีกระแสการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลมาประมวลผลและอำนวยความสะดวกในการตัดสินใจให้ง่ายขึ้น จึงทำให้กลุ่มลูกค้าในปัจจุบันมีความต้องการ (demand)ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก ยุค 3.0 คือ ยุคที่มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ยุค 4.0 อิทธิพลจากยุค 3.0 ก็ยิ่งส่งอิทธิพลมากขึ้น โดยผู้บริโภคยุค 4.0 เน้นความรวดเร็วและตรงกับความต้องการมากที่สุด มีการใช้อารมณ์ ความรู้สึกตัดสินใจเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการมากกว่ายุคก่อน

ดังนั้น การที่จะโรงงานและผู้ประกอบการจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคได้ จะต้องอาศัยการนำเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลเข้ามาใช้ร่วม เพื่อประมวลผล เจาะความต้องการของลูกค้าผ่านอินเตอร์เน็ตให้ได้รวดเร็วมากที่สุด เพื่อให้สินค้าและบริการตรงใจลูกค้า

รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้กับเครื่องจักรในโรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรในกระบวนการผลิตมีความอัจฉริยะมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น ลดค่าใช้จ่าย ช่วยให้เห็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน เช่น การนำแพลตฟอร์ม IDA ซึ่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากจากอุปกรณ์ไอโอที (Internet of Things) โดยตรวจจับสัญญาณต่าง ๆ จากเครื่องจักร ทำให้ทราบสถานภาพของเครื่องจักร นำไปสู่การวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูล ที่ช่วยให้บริหารจัดการการผลิตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงรักษาเครื่องจักรในโรงงาน จากวางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากมีการเชื่อมโยงข้อมูลพารามิเตอร์ต่าง ๆ ของเครื่องจักรมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่เครื่องจักรจะเกิดอาการเสียหายในอนาคต

การปรับตัวของ SME ในภาคการผลิตมีความจำเป็นเร่งด่วน รวมถึงสอดรับการเปลี่ยนแปลงรอบด้านภายหลังจากโควิด-19 แต่ทว่า ในปัจจุบันโรงงานและผู้ประกอบการส่วนมาก ยังคงไม่ทราบว่าโรงงานของตนอยู่ในระดับใด และต้องมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างไร เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรมที่ใช้ในประเทศ จำเป็นต้องพึ่งพาระบบการประเมินของต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ย่อมมีค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจไม่คุ้มทุนสำหรับบางประเภทอุตสาหกรรมที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อความคุ้มค่าในการลงทุน

ดังนั้น ดัชนีชี้วัดความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 จะเป็นกำลังสำคัญซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ตามลำดับอย่างเหมาะสม ช่วยคลี่คลายปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังเผชิญ ทั้งนี้ ความร่วมมือของทั้งผู้ประกอบการและโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงภาครัฐจะเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยสนับสนุนและสร้างความตระหนักรู้เรื่องดัชนีชี้วัดความพร้อมของอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับประเทศไทย เพื่อให้เกิดการนำมาปรับใช้อย่างแพร่หลายต่อไป
thi4-index-article

 

เสวนาออนไลน์ “i4.0 Unlock the Future: ปลดล็อคอุตสาหกรรมไทยด้วยดัชนี 4.0”