ไวมาก (WiMarC) ชวนเอกชนสร้างเครื่องมือและแพลตฟอร์มสำหรับ สร้างปฏิทินการจัดการพืชครบวงจรในรูปแบบดิจิทัล (Digital Crop Management Calendar)

Facebook
Twitter

บทความ | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์ และ นัทหทัย ทองนะ

ไวมาก (WiMarC) ย่อมาจาก Wireless sensor network for Management And remote Control  เป็นอุปกรณ์ IoT ที่ทำงานเพื่อตรวจวัดสภาวะที่มีผลต่อการทำเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพันธ์ แสง ปริมาณน้ำฝน ความชื้นดิน และอุณหภูมิดิน พร้อมทั้งการเก็บภาพถ่ายพืชและการจัดการแปลง ามารถควบคุมและสั่งการระบบแบบอัตโนมัติ ผ่านอินเตอร์เน็ตด้วยแอปพลิเคชันแบบเรียลไทม์ 

ไวมาก (WiMarC) ผนวกเทคโนโลยีตรวจวัดด้วยเซนเซอร์แบบเครือข่ายไร้สาย บอร์ดสมองกล และอุปกรณ์การเก็บภาพเข้าด้วยกัน มาพร้อมกับ 3-ตา แพลตฟอร์ม  (Tri-Tra Platform) แพลตฟอร์มบูรณาการข้อมูลเพื่อสร้างมูลค่าจากข้อมูลสภาวะแวดล้อมที่ได้รับจากเซนเซอร์และรูปภาพ มาจัดเก็บ จัดการ และวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างแนวทางการจัดการแปลงเพาะปลูกที่ถูกต้อง แม่นยำ และเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ผู้ใช้งานไวมาก (WiMarC) ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเกษตรกร

มูลค่าเพิ่มจากข้อมูลของไวมาก ทำให้ทีมวิจัยขยายขอบเขตของกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานเพิ่มเติมจากเกษตรกร ไปยังกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องการเกษตรอื่นๆ โดยการขยายขอบเขตดังกล่าวต้องมีกลุ่มผู้ประกอบการที่จะเป็นตัวกลางสำคัญในการขยายผลให้อุปกรณ์ไวมากได้รับการใช้งานในวงกว้างและยั่งยืน ดังนั้น สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) และ เนคเทค ร่วมกันจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการผลิตเครื่องมือและแพลตฟอร์ม สำหรับเตรียมพร้อมขยายผลเปิดตัวในฐานะนวัตกรรมแบบเปิด “WiMarC Open Innovation” ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ความพิเศษของการอบรมในครั้งนี้ ดร.โอภาส ตรีทวีศักดิ์ และคุณมนตรี แสนละมูล ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล (DAT) เนคเทค สวทช. เผยว่า การอบรมในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งอื่นๆ จากความเชื่อที่ว่า ผู้ใช้งานไวมากไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเกษตรกร แต่ผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร หน่วยงานวิจัย สถานศึกษาต่างๆ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้อมูลที่ได้จากไวมากได้ จึงเน้นการฉายภาพให้เห็นแนวคิดและมุมมองการใช้ประโยชน์จาก “ข้อมูล” ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อเพิ่มมูลค่าในการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไวมาก รวมถึงข้อมูลพื้นฐานทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของอุปกรณ์ ผ่านการสร้างทักษะทางความรู้ แนวคิด และลงมือปฎิบัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน้าที่ของเราที่สร้างมาตลอด เพื่อสร้างความรู้และบูรณาการข้อมูลอย่างยั่งยืน

การสร้างมูลค่าจากข้อมูลในแนวคิดของไวมาก (WiMarC) คือ การนำข้อมูลที่ตรวจวัดได้จากเซนเซอร์หลากชนิดและภาพถ่ายจากกล้อง มาผนวกกับองค์ความรู้การจัดการแปลงของเกษตรกร สร้างปฏิทินการจัดการการปลูกพืชในรูปแบบดิจิทัล (Digital Crop Management Calendar) ที่แสดงข้อมูลการจัดการฟาร์มทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก การเตรียมดิน การให้น้ำและปุ๋ย การจัดการโรคและแมลง รวมถึงข้อมูลสภาวะแวดล้อมมาแสดงในรูปแบบตัวเลข กราฟ และภาพถ่าย โดยมีอุปกรณ์และแพลตฟอร์มไวมาก (WiMarC) เป็นเครื่องมือใน 3 ส่วน ได้แก่

  1. Input & Control: การเก็บข้อมูลจากเครือข่ายเซนเซอร์ไร้สาย ภาพจากกล้อง ข้อมูลการจัดการของฟาร์มจากเกษตรกร และการควบคุมอุปกรณ์ภายในฟาร์มแบบออนไลน์
  2. Dashboard: การแสดงผลข้อมูล รูปภาพการจัดการแปลงเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช แบบ real-time บนแดชบอร์ดผ่านโมบายแอปพลิเคชันและเว็บแอปพลิเคชัน พร้อมทั้งสามารถติดตามและดาวน์โหลดข้อมูลและรูปภาพย้อนหลังบนอินเตอร์เน็ต
  3. Tri-Tra Platform: หรือ 3-ตา แพลตฟอร์ม คือเครื่องมือเพื่อบูรณาการข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล สำหรับการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) การแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ (Know-How Sharing and Transferring) และการแสดงผลผลิตเพื่อการค้า (Trading) ในรูปแบบ Digital เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าของข้อมูลให้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การผนวกรวมกันของข้อมูลสภาวะแวดล้อมและรูปภาพจากอุปกรณ์ไวมาก (WiMarC) และข้อมูลการจัดการแปลงของเกษตรกรที่ถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นวิธีการที่เฉพาะเจาะจงแตกต่างไปในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดปฏิทินการจัดการการปลูกพืชในรูปแบบดิจิทัล (Digital Crop Management Calendar) ที่สามารถบอกภาพรวมการจัดการแปลงทั้งหมด ที่ผู้ใช้สามารถตรวจสอบข้อมูล วางแผน และควบคุมการจัดการฟาร์มได้ผ่านแอปพลิเคชัน หรือใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการศึกษาวิจัย การตรวจสอบย้อนกลับ ไปจนถึงเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรในรูปแบบดิจิทัลอีกด้วย

ใช้งานเทคโนโลยีให้สำเร็จต้องมีองค์ความรู้เกษตร

ผู้ที่เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ใช้งานอุปกรณ์ WiMarC อยู่แล้ว อย่างคุณวิชญา ไตรโชค เจ้าของนาวิต้าเมล่อนฟาร์ม ได้เผยถึงความรู้สึกต่อการอบรมในฐานะ “เกษตรกรรุ่นใหม่” ว่า “มีความเห็นตรงกันกับทางทีมวิจัยเรื่องความสำคัญของข้อมูล ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันเกษตรกรต้องใช้ความรู้สึกและประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายสิบปีของแต่ละคนในการตัดสินใจจัดการแปลงพืช แต่ปัจจุบันที่สภาวะอากาศแปรปรวน ประสบการณ์ที่ผ่านมาอาจทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ อีกทั้งเกษตรกรรุ่นใหม่ ย่อมไม่ได้มีประสบการณ์เหมือนกับเกษตรกรรุ่นพ่อแม่ ฉะนั้นต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยประกอบการตัดสินใจ ไม่ใช่แค่เอาอุปกรณ์มาติดแล้วจะสามารถเอาข้อมูลไปใช้ได้ทันที เราก็ต้องมีการศึกษาทั้งสภาพพื้นที่ สภาพพืชแต่ละชนิด เป็นการใช้องค์คววามรู้ด้านพืช ประกอบกับการใช้เทคโนโลยี” ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของ WiMarC ที่ต้องการผนวกรวมทั้งเทคโนโลยีและองค์ความรู้ของเกษตรกรไว้ในแพลตฟอร์มเดียว

Wimarc_2-1

WiMarC เทคโนโลยีเกษตรที่ปรับได้ตามความต้องการของผู้ใช้

ปัจจุบันเทคโนโลยีการตรวจวัดและควบคุมด้านการเกษตรมีให้เลือกใช้มากมายในท้องตลาด เป็นหนึ่งความท้าทายของไวมาก (WiMarC) ว่าจะสร้างความโดดเด่น หรือ ข้อแตกต่างอย่างไร ให้เกิดการนำไปใช้และได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

อีกหนึ่งความเห็นของผู้เข้าร่วมอบรม คุณคันธวงศ์ ทองขาว จากจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “เทคโนโลยีของ WiMarC ตอบโจทย์การใช้งานด้านการเกษตรทุกอย่าง แต่จะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีเหล่านี้ไปถึงผู้ใช้งาน จึงจำเป็นต้องมีคนกลางที่รับรู้ว่าปัญหาของเกษตรกรคืออะไร และนำเสนอให้เกษตรกรเข้าใจและเห็นภาพประโยชน์และความคุ้มค่าของการลงทุนใช้เทคโนโลยี เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องลงทุน อีกทั้งเกษตรกรล้วนมั่นใจในองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ตนสั่งสมมานับ 10 ปี ทำให้ยากในการเปิดใจรับเทคโนโลยีที่ทำให้วิถีชีวิตการทำเกษตรเปลี่ยนไป” ระบบไวมากสามารถทำให้เกษตรกรเห็นถึงข้อมูลตัวเลข รูปภาพแปลง เพื่อการติดตามได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านโทรศัพท์มือถือ พร้อมทั้งยังสามารถควบคุมระบบต่างๆ ผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ เช่นระบบรดน้ำ ระบบปุ๋ย และระบบระบายอากาศในโรงเรือน เป็นต้น

Wimarc_4-1

สอดคล้องกับมุมมองของเจ้าของบริษัทรับติดตั้งเทคโนโลยีด้านการเกษตร รวมถึงไวมาก (WiMarC) คุณสรณ์สิริ หอมนวล กล่าวว่า โจทย์ที่ยากที่สุดสำหรับการจำหน่ายเทคโนโลยีด้านการเกษตร คือ เกษตรกรไม่เข้าใจว่าเทคโนโลยีนี้จะไปช่วยสร้างความคุ้มค่าได้อย่างไร ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องไม่โฟกัสแค่การติดตั้ง และดูแลรักษาเท่านั้น จำเป็นต้องมีการพูดคุยถึงความต้องการว่าผู้ใช้อยากได้อะไร ต้องการรู้ข้อมูล หรือ ควบคุมแปลงเพาะปลูกในส่วนไหน และให้บริการตอบโจทย์ความต้องการจริงของเกษตรกร ทำให้เห็นผลผลิตที่ติดตามได้ คาดการณ์ได้ รวมถึงมีการติดตั้งชุดสาธิตในพื้นที่ตัวอย่างให้เพื่อทดลองให้เห็นการใช้งานจริง  

“สำหรับจุดเด่นของไวมาก (WiMarC) คือ การสามารถเพิ่มคุณค่าจากอุปกรณ์ไปได้เรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ติดตั้ง อ่านค่า ควบคุมแปลงได้แล้วก็จบ แต่เราสามารถเพิ่มความโดดเด่นการสร้างมูลค่าจากข้อมูลในส่วนงานบริการ คือ การติดตาม วิเคราะห์ ใช้ประโยชน์ข้อมูล เพื่อปรับ (Customize) อุปกรณ์ให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับ เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดจากการติดตั้งอุปกรณ์”

Wimarc_3-1

หลังจากการอบรมในครั้งนี้ ทีมวิจัยเตรียมจัดหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการที่เข้มข้นขึ้นสำหรับท่านที่เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้และตัดสินใจร่วมขยายผลอุปกรณ์ไวมาก (WiMarC) อีกด้วย  สำหรับผู้ที่สนใจเตรียมพบกับรายละเอียดการเปิดตัวนวัตกรรมแบบเปิด “WiMarC Open Innovation”  ให้สาธารณะสามารถใช้ไวมากในเชิงพาณิชย์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เร็ว ๆ นี้ …

 

ภาพบรรยากาศการอบรม