เทคโนโลยีดิจิทัลตรวจสอบงานก่อสร้าง! นักวิจัยเนคเทคร่วมบรรยายในหลักสูตรพัฒนาผู้ตรวจสอบทางวิศวกรรม ของ สตง.(รุ่น2)

Facebook
Twitter

ดร.รุ่งโรจน์ จินตเมธาสวัสดิ์ นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์ กลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์(SSDRG) เนคเทค เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยในการตรวจสอบงานก่อสร้าง” ภายใต้หลักสูตร “การพัฒนาผู้ตรวจสอบทางวิศวกรรม” รุ่นที่ 2 วันที่ 29 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร

เนื้อหาการบรรยายกล่าวถึงเทคโนโลยีดิจิทัลที่สนับสนุนและตอบโจทย์งานตรวจสอบการก่อสร้าง ได้แก่ เทคโนโลยี LiDAR, RADAR, SONAR และ IoT นำมาสู่การได้มาซึ่งข้อมูลจำนวนมากพอที่จะสอน AI ให้ทำงานตามโจทย์ที่ต้องการ

  • การสร้างแผนที่สามมิติ ด้วยเทคโนโลยี LiDAR (Light Detection and Ranging) พร้อมแสดงตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี LiDAR ในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการสำรวจพื้นที่ เช่น สำรวจทรัพยากรป่าไม้ พื้นที่การเกษตร ลักษณะพื้นใต้ท้องน้ำ งานชลประทานและผังเมือง ด้านการก่อสร้าง เช่น สร้างแผนที่พิมพ์เขียวของอาคาร วิเคราะห์โครงสร้างอาคาร ประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยของอาคาร การซ่อมบำรุงสิ่งก่อสร้างโดยเฉพาะโบราณสถาน การวัดขนาดป้ายโฆษณาเพื่อเก็บภาษีป้าย เป็นต้น
  • เทคโนโลยี Radar (Radio Detection and Ranging) เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านความถี่ต่ำ ส่งไปตกกระทบบนวัตถุ และนำรูปแบบของสัญญาณสะท้อน หรือเวลาที่สัญญาณสะท้อนกลับไปยังตัวส่ง มาวิเคราะห์หาระยะทาง ความเร็ว และทิศทางการเคลื่อนที่ของวัตถุ ซึ่งมีประโยชน์ในการตรวจจับเครื่องบิน รถที่วิ่งเกินลิมิต และวัตถุที่อยู่ใต้ดิน การใช้คลื่นความถี่ต่ำ ทำให้ Radar สามารถทำงานได้ในระยะที่ไกลและในสภาวะที่หลากหลายกว่า LiDAR
  • เทคโนโลยี Sonar (Sound Navigation and Ranging) เป็นการใช้คลื่นเสียงวัดระยะห่างของวัตถุ มักใช้ในการตรวจจับวัตถุใต้น้ำ และได้กล่าวถึงเทคโนโลยี Sonar ที่ช่วยในการก้าวข้ามข้อจำกัดที่เกิดจากการใช้ LiDAR หรือ Radar รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบ Sonar ที่มีราคาถูกในอนาคต
  • เซนเซอร์ (Sensors) และ Internet of Thing (IoT) ช่วยให้สามารถตรวจจับและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น เช่น ตรวจจับความเสี่ยงและเฝ้าระวังความปลอดภัยในไซต์ก่อสร้าง ควบคุมคุณภาพอากาศ ติดตามสถานะของเครื่องจักร และทำนายรอบการบำรุงรักษาเครื่องจักร ซึ่งข้อมูลในปริมาณมหาศาลจะนำไปสู่การใช้ Machine Learning และ AI เพื่อช่วยให้การวิเคราะห์ ตรวจสอบ และบำรุงรักษาดำเนินไปอย่างแม่นยำมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น สามารถนำมาเชื่อมโยงกับ Building Information Modeling (BIM) ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการข้อมูลในงานก่อสร้าง ตั้งแต่การออกแบบจนถึงการบำรุงรักษา การมีกระบวนการนี้จะช่วยให้ผู้บริหารและทีมงานสามารถวิเคราะห์ ตัดสินใจและวางแผนการดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

การอบรมหลักสูตร “การพัฒนาผู้ตรวจสอบทางวิศวกรรม” จัดโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้เข้าอบรมเป็นข้าราชการตำแหน่งวิศวกรและนักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน ที่มีวุฒิการศึกษาด้านวิศวกรรม ระดับปฏิบัติการขึ้นไปทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวนกว่า 200 คน โดยแบ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 เข้ารับการฝึกอบรม ในระหว่างวันที่ 20 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 และรุ่นที่ 2 เข้ารับการฝึกอบรม ในระหว่างวันที่ 27 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2566

ทั้งนี้ สตง. มุ่งหวังให้ผู้อบรมได้รับการพัฒนา เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยในการตรวจสอบงานก่อสร้าง สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปอธิบาย ให้คำปรึกษา และนำไปใช้ปฏิบัติงานตรวจสอบได้อย่างถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดได้อย่างเป็นมาตรฐานในแนวทางเดียวกัน ส่งผลให้หน่วยรับตรวจหรือผู้เกี่ยวข้องยอมรับและเชื่อมั่นในผลการตรวจสอบของ สตง.