2 กระทรวงผนึกกำลัง ใช้ประโยชน์จาก BIG DATA จัดการท่องเที่ยวอุทยานธรณี หนุนเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืน

Facebook
Twitter

ภาพประกอบ: กรรวี แก้วมูล และ ศศิวิภา หาสุข

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และ กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการสนับสนุนหน่วยงานในยุคดิจิทัลและ BCG Model” เพื่อเดินหน้านำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) สู่การอนุรักษ์ ป้องกัน และจัดการแหล่งเรียนรู้ สร้างมูลค่าและประโยชน์ของงานทางด้านธรณีวิทยา ธรณีพิบัติภัย และอุทยานธรณี สอดรับโมเดลเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG Economy model รวมทั้งสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนกรมทรัพยากรธรณี สู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital DMR) ในอนาคต โดยพิธีลงนามความร่วมมือดังกล่าว จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom meeting ในวันที่ 26 สิงหาคม 2564

ดร.สมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีภารกิจเกี่ยวกับการสงวน การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการบริหารจัดการด้านธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณี ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม และธรณีพิบัติภัย โดยการสำรวจ ตรวจสอบ และวิจัยสภาพธรณีวิทยาและทรัพยากรธรณี การประเมินศักยภาพแหล่งทรัพยากรธรณี การกำหนดและกำกับ ดูแลเขตพื้นที่สงวน อนุรักษ์ ทรัพยากรธรณี และพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อการพัฒนาทรัพยากรธรณี คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องสู่สาธารณชน จึงร่วมมือกับกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรทางวิชาการ อาทิ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ เครือข่ายธรณีพิบัติภัย เครือข่ายอุทยานธรณี เครือข่ายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ทางวิชาการด้านธรณีวิทยาสู่ชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่น สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เพื่อยกระดับการสร้างการรับรู้สู่สาธารณชน กรมทรัพยากรธรณีจึงได้สนับสนุนและขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล (Digital Transformation & Innovation : DTI) ในงานด้านธรณีวิทยา ที่สอดคล้องกับแนวคิดวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในปัจจุบัน โดยร่วมมือกับเนคเทคขับเคลื่อนการวิจัย พัฒนา สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม แลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้และประสบการณ์ พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือร่วมกัน จากจุดแข็งและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านธรณีวิทยา บูรณาการกับความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มในมิติต่างๆ ของเนคเทค ที่เป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างนวัตกรรมผลงานและเชื่อมโยงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ควบคู่กับการพัฒนาโครงการต่างๆ ร่วมกันในอนาคต

สำหรับนวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล (Digital Transformation & Innovation : DTI) ที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดงานวิจัย นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ของกรมทรัพยากรธรณี ได้แก่ DTI สำหรับงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ งานด้านพิพิธภัณฑ์ งานด้านธรณีพิบัติภัย งานด้านสำรวจธรณีฟิสิกส์ งานด้านอุทยานธรณี และถ้ำวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ธรณีวิทยา ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับเครือข่ายการวิจัยและพัฒนา และสร้างระบบการใช้เทคโนโลยีในการวิจัยและพัฒนาให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวถึงความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม และผลงานวิจัย ในความร่วมมือนี้ โดยนำ “นวนุรักษ์” แพลตฟอร์มบริหารจัดการและให้บริการข้อมูลวัฒนธรรม สร้างฐานข้อมูลและความหลากหลายทางชีวภาพอัตลักษณ์ชุมชนและพื้นที่อุทยานธรณี และ “Museum pool”แพลตฟอร์มบริหารจัดการเนื้อหาการนำชมมาใช้ในส่วนฐานข้อมูลการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ทั้ง 7 แห่ง ของ ทธ. นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้ในอุทยานธรณี (Geopark) เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนเพื่อบริหารการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่อุทยานธรณี ยกระดับพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล เพื่อใช้ในการประเมินซ้ำในระดับประเทศและระดับโลก โดยใช้องค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การประสานเชื่อมโยงนักวิจัย กับเครือข่ายให้เกิดการทำงานร่วมกัน ศึกษาวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล จ.สตูล ในระบบนิเวศถ้ำ (ถ้ำเลสเตโกดอน ถ้ำอุไรทอง และถ้ำทะลุ) ทะเลและชายฝั่ง และความหลากหลายทางวัฒนธรรม พบพืช สัตว์ จุลินทรีย์และเห็ดรา รวมทั้งสิ้น 802 ชนิด นำข้อมูลเข้านวนุรักษ์แพลตฟอร์มดิจิทัล จำนวน 3,163 รายการ (ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ 2,076 รายการ และข้อมูลวัฒนธรรม 1,088 รายการ) และยังได้นำข้อมูลไปอบรมไกด์ท้องถิ่นในพื้นที่ จัดทำคู่มือการอนุรักษ์หญ้าทะเลหอสี่หลัง ป้ายประชาสัมพันธ์พร้อม QR Code คลิปวีดิโอเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเอกสาร Biodiversity in Satun UNESCO Global Geopark และได้แต่งตั้งคณะทำงานความหลากหลายทางชีวภาพพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ในการบริหารจัดการท่องเที่ยวสร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน 

นอกจากนี้ เนคเทค สวทช. ได้นำงานวิจัยและพัฒนามาประยุกต์ใช้ในกระบวนการวิธีประเมินความเสี่ยงจากภัยพิบัติดินถล่มและหินหล่นด้วยการประยุกต์ใช้ไอซีที เช่น การติดตั้งระบบเครือข่ายเซนเซอร์ไร้สายในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม การวิเคราะห์ข้อมูล point clouds เพื่อระบุเหตุการณ์หินหล่น และการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อระบุพื้นที่เกิดดินถล่ม

โครงการความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน จะเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชน เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทางด้านทรัพยากรธรณี เครือข่ายการวิจัยด้านธรณีพิบัติภัย เครือข่ายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับงานด้านธรณีวิทยา ธรณีพิบัติภัย อุทยานธรณี และแหล่งธรณีวิทยา รวมทั้งสามารถนำเทคโนโลยีด้านธรณีวิทยาไปประยุกต์ใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการบูรณาการความร่วมมือในการใช้เครื่องมือที่เกิดขึ้น จากงานวิจัยและองค์ความรู้ด้านในการสงวน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการด้านธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณี ซากดึกดําบรรพ์ ธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม และธรณีพิบัติภัย ให้เกิดประโยชน์ให้เกิดมิติต่าง ๆ รวมถึงสนับสนุน โมเดลเศรษฐกิจใหม่สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG Economy Model ให้เกิดประโยชน์ตั้งแต่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เน้นการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ที่อยู่กับชุมชน เกษตรกร ด้วยการอนุรักษ์ รู้จักการใช้ประโยชน์เพิ่มพูน และฟื้นฟูไปพร้อม ๆ กัน โดยการร่วมมือกันของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย