รับโจทย์วิจัยประเด็นนวัตกรรมสุขภาพ ผสานความร่วมมือ กรมการแพทย์ x สวทช.

Facebook
Twitter

ข่าว : ศุภรา พันธุ์ติยะ
ถ่ายภาพ : สุชานันท์ คุ้มมณี / อัครพล กายขุนทด

ดร.กฤษดา ประภากร รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมด้วย ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ผู้เชี่ยวชาญ และทีมวิจัยด้านการฟื้นฟูดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ของเอ็มเทคและเนคเทค สวทช. ได้ให้การต้อนรับ นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดี กรมการแพทย์ พร้อมคณะฯ จากสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางสนับสนุนการนำงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ ในวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2566 ณ ห้องบุษกร ชั้น 1 อาคารเนคเนค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์

ดร.กิตติ วงศ์ถาวราวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) นำเสนอภาพรวมการดำเนินงานของ A-MED และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องด้านการแพทย์ เพื่อสนับสนุนการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ พร้อมด้วยคุณวันทนีย์ พันธชาติ ผู้เชี่ยวชาญจาก A-MED ดร.กมลพรรณ พึ่งพัน หัวหน้างานทีมแผนกลยุทธ์และบริหารการวิจัย A-MED สวทช. ดร.สิทธา สุขกสิ หัวหน้าทีมวิจัยการออกแบบเพื่อการเป็นอยู่ที่ดี ดร.ดนุ พรหมมินทร์ หัวหน้าทีมวิจัยชีวกลศาสตร์ จากเอ็มเทค และดร.อภิชย์ เหมาคม นักวิจัยทีมวิจัยการประมวลผลสัญญาณประสาท จากเนคเทค สวทช. แนะนำภาพรวมงานวิจัยเพื่อการดูแลฟิ้นฟูสมรรถภาพแก่ผู้สูงอายุ และร่วมนำเสนองานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุ

ระหว่างการนำเสนอผลงาน นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ รุกโจทย์วิจัย “สร้างนวัตกรรมเครื่องมือเป็นของตนเอง บูรณาการข้อมูลงานวิจัยเน้นนวัตกรรม ให้เอาไปใช้ได้จริง ปัจจุบันเครื่องมือต่าง ๆ เอกชนผลิตและได้เดต้าไป ถ้าเรามีเครื่องมือจากนวัตกรรมของเรา ข้อมูลก็จะเป็นของเราเราจะได้ข้อมูลแบบเรียลไทม์”

หลังจากการแนะนำผลงานจากสวทช.ให้เป็นที่รู้จักในองค์รวมแล้ว ทีมผู้บริหาร และนักวิจัยสวทช. นำพาคณะฯ ชมผลงานการจัดแสดงด้านนอกห้องประชุม ซึ่งประกอบด้วย 13 ผลงาน

ผลงานวิจัย จากทีมวิจัยการประมวลผลสัญญาณประสาท เนคเทค

  • ฟิตกัน : อุปกรณ์วัดการออกกำลังกายแบบสวมใส่ได้สำหรับผู้สูงอายุ ระบบออกแบบมาให้เป็นชุดออกกำลังกายให้มีความคล่องตัว เก็บผลและประเมินการออกกำลังกาย เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก
  • เครื่องช่วยฟัง เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยตอบโจทย์ทุกปัญหาทางการได้ยิน มีประสิทธิภาพตามหลักมาตรฐานสากล ใช้ประมวลผลสัญญาณด้วยระบบดิจิตอล 100% ปัจจุบัน ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเอกชนนำไปจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม ลดการนำเข้าเครื่องจากต่างประเทศ
  • ระบบฝึก Motor Imagery training สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ระบบจะช่วยเสริมศักยภาพสมองทางด้านการรู้คิดและความทรงจำ ผ่านการเล่มเกมที่ควบคุมด้วยคลื่นสมอง อาศัยหลักการ Neurofeedback Training เหมาะสำหรับนำไปใช้ชะลออาการโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ

ผลงานจากเอ็มเทค

  • รถเข็นไฟฟ้า (M-Wheel) เป็นอุปกรณ์ใช้ในพื้นที่ลาดเอียงและขึ้นทางต่างระดับได้ตามมาตรฐาน ติดตั้งง่าย ควบคุมการเคลื่อนที่ได้ง่าย ใช้งานต่อเนื่องได้ 4 ชั่วโมงต่อการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง และอุปกรณ์มีความปลอดภัยทางไฟฟ้าและป้องกันสัญญาณรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้าตามแบบที่ผ่านการพัฒนารับรองมาตรฐานปลอดภัย
  • อุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย
  • รถเข็นสระผม (KATHY) อุปกรณ์ช่วยให้ผู้ดูแลสามารถสระผมให้แก่ผู้ป่วยติดเตียง หรือ ผู้ป่วยที่ลุกเดินไม่สะดวก สะดวกสบายและลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ มีนํ้าหนักเบา สามารถเข็นไปในพื้นที่แคบได้สะดวก มีระบบปั๊มนํ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ซึ่งมีความปลอดภัยสูง เหมาะสําหรับใช้ในโรงพยาบาล และสถานดูแลผู้สูงอายุ ผ่านการทดสอบการใช้งานร่วมกับสถาบันประสาทวิทยาในพื้นที่จริง
  • อุปกรณ์เสริมเท้าซิลิโคนเฉพาะบุคคล
  • แผ่นรองในรองเท้าเฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ(3D Soleⓜ) เหมาะกับบุคคลที่มีปัญหาภาวะอุ้งเท้าแบน และโรคพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบหรือรองช้ำ จัดเป็นกายอุปกรณ์เสริมระดับเท้าที่มีรูปร่างและขนาดพอดีกับลักษณะฝ่าเท้าของแต่ละคน ใช้สวมใส่เพื่อปรับแนวการลงน้ำหนักและสรีระของเท้าช่วยบรรเทาอาการปวดเท้า
  • หมูนุ่มที่ผ่านกระบวนการปรับเนื้อสัมผัสให้บดเคี้ยวง่ายสำหรับผู้สูงอายุและผู้มีปัญหาการเคี้ยว
  • อุปกรณ์ทดสอบความหนืด Flow tester และทดสอบเนื้อสัมผัส Fork tester เพื่อใช้จำแนกอาหารสำหรับผู้มีภาวะกลืนลำบาก
  • ระบบจัดเก็บสัญญาณชีพและสัญญาณเสียงของหัวใจและปอดในรูปแบบดิจิทัลสาหรับพกพา เพื่อการบริการการแพทย์ทางไกล

ผลงานจากทีมวิจัย A-MED สวทช.

  • Nirun ซอฟต์แวร์บริหารจัดการสถานดูแลผู้สูงอายุ สำหรับบ้านพักคนชราอาวุโส ออกแบบมาเพื่อบรรเทาภาระงานในการดูแลเพื่อให้ผู้สูงอายุไดรับบริการด้านสุขภาพที่ดีขึ้น
  • ระบบเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุ อุปกรณ์มีขนาดเล็กติดไว้กับตัว สำหรับเฝ้าระวัง ตรวจจับการล้มในผู้สูงอายุ วัดการเคลื่อนไหวในลักษณะท่าทางต่างๆ บันทึก ประมวลผลแล้วไปยังตัวรับสัญญาณ และส่งต่อไปที่เซิร์ฟเวอร์เพื่อแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลให้รีบเข้ามาช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
  • Health CheckUp Kiosk ระบบตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ช่วยให้การตรวจวัดค่าต่างๆ เช่น ความดันโลหิต ชีพจร ความสูง น้ำหนัก ดัชนีมวลกาย ผู้ใช้สามารถตรวจวัดได้ด้วยตนเองที่จุดเดียว