ทีมนักวิจัยเนคเทคคว้ารางวัลจากงาน E-NETT ครั้งที่ 12

Facebook
Twitter

คณะนักวิจัย ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (STL) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เข้าร่วมนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการเครือข่ายพลังงานแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 12 หรือ 12th Conference On Energy Network of Thailand: E-NETT ซึ่งเป็นเวทีในการสร้างเครือข่ายทางด้านพลังงาน การนำเสนอผลงานทางวิชาการ รวมทั้งระดมความคิด แลกเปลี่ยนแนวความคิดระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน โดยในปีนี้คณะวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับมอบหมายให้จัดการประชุมขึ้น ในระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2559 ณ โรงแรม วังจันทน์ ริเวอร์วิว จังหวัดพิษณุโลก

โดยนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (STL) ได้รับรางวัลบทความดีเยี่ยม และบทความดีเด่น จากงานประชุมวิชาการดังกล่าว ดังนี้

1. รางวัลบทความดีเยี่ยม เรื่อง การทดสอบคุณสมบัติของวัสดุที่ถูกใช้ในแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิด BIPV ที่มีสีสันสวยงาม
นำเสนอโดย นายสุทธินันท์ เจริญเสถียรโชค
ผู้ช่วยวิจัย ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (STL)
enett12
บทความนี้นำเสนอการทดสอบคุณสมบัติการส่องผ่านแสง และการส่งผ่านความร้อนของ polyvinyl butyral (PVB) สีต่างๆที่ถูกใช้ในแผงเซลล์แสง อาทิตย์ชนิดBuilding Intergated Photovoltaic (BIPV) ที่มีสีสันสวยงาม โดยได้ทำการทดสอบทั้งแบบ Indoorและ Outdoor test ซึ่งพบว่า PVBทุกสี มีคุณสมบัติลดการส่องผ่านของรังสี UVได้ ถึง 99% ทำให้ช่วยป้องกันอันตราย จากรังสีUV ได้ และสามารถลดการส่งผ่านความร้อนได้ 15% จึงเหมาะกับการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในแผงเซลล์แสงอาทิตย์สีสันสวยงามที่ใช้ติดตั้งเป็นส่วนนึงของอาคาร
2. รางวัลบทความดีเด่น เรื่อง การศึกษาผลกระทบของฝุ่นสามชนิดที่มีผลต่อประสิทธิภาพของเซลล์แสงอาทิตย์
นำเสนอโดย นางสาวศศิวิมล ทรงไตร
ผู้ช่วยวิจัย ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (STL)
enett12
enett12
การสะสมของฝุ่นละอองหน้าแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จะลดการส่องผ่านแสงที่เข้าตัวเซลล์ ส่งผลให้กำลังไฟฟ้าที่ได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น บทความนี้ได้นำเสนอ ผลกระทบของฝุ่นที่มีต่อประสิทธิภาพเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอน โดยได้จำลองการสะสมของฝุ่น 3 ชนิด ที่พบมากในประเทศไทย ได้แก่ ฝุ่นทราย ฝุ่นดินแดง และฝุ่นดินดำ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบในกรณีปริมานฝุ่นที่เท่ากัน ฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กมีความละเอียดอย่างดินแดง จะบดบังแสงได้มากกว่า และเมื่อคุณสมบัติการส่องผ่านแสงของกระจกหน้าแผงลดลงต่ำกว่า 80% จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพเซลล์แสงอาทิตย์อย่างชัดเจน

คณะวิจัย:

สุทธินันท์ เจริญเสถียรโชค, ศศิวิมล ทรงไตร, ทรงเกียรติ กิตติสนธิรักษ์, ปฏิภาณ กรุดตาด, พีระวุฒิ ชินวรรังสี, ณัฐกานต์ อุดมเดชาณัติ, อัศวิน หงษ์สิงห์ทอง, อมรรัตน์ ลิ้มมณี และ กอบศักดิ์ ศรีประภา