กฟผ. จับมือ เนคเทค-สวทช. จัดอบรมการดัดแปลงรถยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ดันไทยสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

Facebook
Twitter
ev-course-egat

 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. และ เนคเทค-สวทช. จัดพิธีเปิดการอบรมหลักสูตรการดัดแปลงรถยนต์สันดาปภายใน เป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (Turn ICE to Electric) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับ เนคเทค-สวทช. ในการร่วมศึกษาวิจัยโครงการพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือการดัดแปลง (EV kit and blueprint project) โดยเป็นการอบรมทั้งในส่วนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมไปถึงเรียนรู้วิธีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงให้ถูกต้องตามนโยบายกรมขนส่งทางบกอีกด้วย

ในโอกาสนี้ คุณวีนัส หลงสมบุญ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค-สวทช. กล่าวเปิดโครงการอบรมฯ ณ ห้องประชุม Auditorium อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานกลาง กฟผ. จ.นนทบุรี การอบรมฯ แบ่งออกเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยมีนักวิจัยจากโครงการพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือการดัดแปลง เนคเทค-สวทช. ร่วมเป็นวิทยากร นำโดย อ.สุทัศน์ ปฐมนุพงศ์ และ ดร.ดวิษ กิระชัยวนิช

ev-course-egat

 

คุณวีนัส หลงสมบุญ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. กล่าวว่า

ดิฉันรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้มาเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม หลักสูตรการดัดแปลงรถยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (Turn ICE to Electric) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการร่วมศึกษาวิจัย ในโครงการพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือการดัดแปลง (EV kit and blueprint project)

ทั้ง กฟผ. และ สวทช. ต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญ และโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง จึงได้ร่วมกันศึกษาวิจัยในการพัฒนาชุด Kit สำหรับการดัดแปลงจากรถยนต์สันดาปภายใน ให้เปลี่ยนมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แบบ BEV ซึ่ง กฟผ. เองได้ทดลองนำร่องดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 4 คัน เพื่อเป็นต้นแบบ และใช้เก็บข้อมูลการใช้งานเพื่อวิเคราะห์ ปรับปรุง และพัฒนาการดัดแปลงเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

อนาคตของยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยนั้น รัฐบาลให้การสนับสนุนในหลายมิติ มีเป้าหมายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและ Plug-in hybrid ร้อยละ 30 ในปี 2573 ในด้าน Demand side ได้มีการปรับปรุงอัตราภาษีรถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 – 31 ธ.ค. 2565 และผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการสนับสนุนจาก BOI รวมถึงการกำหนดราคาค่าไฟฟ้าของ EV Charging Station ที่ 2.63 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าแบบคงที่ตลอดทั้งวัน มีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าแบบ TOU rate ช่วงเวลา Off Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปัจจุบันประเภท 2.2 กิจการขนาดเล็ก

ส่วนในฝั่ง Supply นั้น รัฐบาลได้ให้มีการประกอบการ EV Charging Station มอบหมายให้ทั้ง กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเติบโตของการใช้รถ EV ปัจจุบันมีจำนวนหัวจ่ายไฟฟ้ารวมกว่า 1,854 หัวจ่าย และยังมีความร่วมมือพัฒนาโมเดลการใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามเครือข่ายหรือ Charging Consortium 11 หน่วยงาน เพื่อให้มีระบบการให้บริการที่เป็นมาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน

กฟผ. นอกจากจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงของประเทศแล้ว เรายังมีความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรม เพื่อความสุขของคนไทย และสนับสนุนให้ธุรกิจของคนไทย สามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน

ev-course-egat

 

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค-สวทช. กล่าวว่า

ในนามของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ผมมีความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมจัดกิจกรรมการ อบรมหลักสูตร “การดัดแปลงรถยนต์เป็นรถไฟฟ้าดัดแปลง” ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และได้ต้อนรับผู้ที่ให้ความสนใจในการดัดแปลงรถยนต์สันดาปภายในให้เป็นรถไฟฟ้าดัดแปลง ทั้งจาก นักลงทุน นักประดิษฐ์ ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัยอาชีวศึกษา ในวันนี้

สวทช. หน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตนกรรม (อว.) มุ่งมั่นจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงานวิจัย และนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

เป็นที่แน่นอนว่าเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่น่าจับตามอง ทั้งข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นตอบโจทย์การลดปัญหามลภาวะทาง สิ่งแวดล้อม การจัดการประสิทธิภาพในการใช้พลังงานจากภาคการคมนาคมขนส่งได้มีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสในการยกระดับอุตสาหกรรม สวทช. ได้ให้ความสําคัญกับเทคโนโลยีดังกล่าว โดยได้ตั้งเป้าหมายเป็น เทคโนโลยีมุ่งเป้า (Technology Development Goal, TDG)

โดยในวันนี้ท่านได้จะรับฟังประสบการณ์ในการบุกเบิกและพัฒนารถไฟฟ้าดัดแปลง จากนายสุทัศน์ ปฐมนุพงศ์ จากงานอดิเรกที่ลงมือทําการดัดแปลงรถยนต์ของตนเองให้เป็นรถไฟฟ้าดัดแปลงและวิ่งใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน จนเป็นงานวิจัยของ สวทช. ที่ประสบความสําเร็จ และนักวิจัยจากโครงการวิจัยพัฒนาชุดประกอบรถไฟฟ้าดัดแปลงและคู่มือการดัดแปลง (EV Kits and Blueprint Project) ศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ที่พร้อมให้การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดัดแปลงสู่ภาคอุตสาหกรรมด้านการดัดแปลงและด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในระดับประเทศ

นอกจากนั้นสําหรับท่านผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมการอบรมในภาคปฏิบัติ ตลอดระยะเวลา 10 วันถัดจากนี้จะได้รับโอกาสลงมือปฏิบัติด้วยตัวท่านเองในการดัดแปลงรถยนต์ที่ท่านจัดหามา นํามาถอดอุปกรณ์ที่ไม่ต้องการออก อาทิ เครื่องยนต์ , ถังน้ํามัน เป็นต้น สวทช. และ กฟผ. จะทําหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงจะจัดเตรียมชุดอุปกรณ์ดัดแปลงสําหรับรถไฟฟ้าดัดแปลง หรือ EV Kits ให้ท่านเป็นคนที่ติดตั้งภายในรถด้วยตัวของท่านเอง อาทิ มอเตอร์ไฟฟ้าพร้อมชุดขับเคลื่อน , ระบบปรับอากาศแบบใช้ไฟฟ้า , On-board Charger , DC-DC Converter รวมถึงชุดแบตเตอรี่แพค มูลค่ารวมประมาณกว่า 600,000 บาท เมื่อท่านได้ทําการดัดแปลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการทดสอบให้สามารถขับรถไฟฟ้าดัดแปลงนี้ได้จริงอีกด้วย จึงนับเป็นโอกาสที่ดีที่ท่านจะได้รับทราบถึงวิธีการปฏิบัติอย่างละเอียดทุกขั้นตอนเพื่อที่จะนําไปใช้ในการวางแผนประกอบธุรกิจการดัดแปลงของท่านต่อไป

การนี้ผมขอต้อนรับทุกท่านสู่กิจกรรมการอบรมหลักสูตร “การดัดแปลงรถยนต์เป็นรถไฟฟ้าดัดแปลง” และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับความรู้ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และนําไปสู่การส่งเสริมให้ อุตสาหกรรมไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนให้ก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่อย่างยั่งยืนต่อไป

เกี่ยวกับการอบรมฯ ติดต่อ

EGAT Academy
email : egatacademy[at]egat.co.th
โทร 063 652 5449