- กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาเครื่องมือให้ความรู้ด้านโภชนาการ (FoodChoice) เพื่อช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจ เปรียบเทียบ และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมแถลงข่าวผลการพัฒนาเครื่องมือให้ความรู้ด้านโภชนาการ (FoodChoice) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ณ ห้องแซฟไฟร์ 113 อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ชั้น 1 อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประชาชนจำเป็นจะต้องมีความรู้ที่ถูกต้อง และเพียงพอเกี่ยวกับรายละเอียดของชนิดและปริมาณสารอาหารที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกกินอาหารหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ แต่เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีผู้บริโภคจํานวนมากที่ประสบปัญหาการดูฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์ เนื่องจากตัวอักษรเล็กและมีรายละเอียดมาก เมื่อต้องการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ใด ๆ จำเป็นต้องใช้เวลาในการตัดสินใจนาน
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คิดค้นเครื่องมือเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาดังกล่าวฯ ซึ่งเหมาะสำหรับพ่อแม่ที่จะเลือกผลิตภัณฑ์อาหารให้กับเด็ก ให้เด็กได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนตามมา เนื่องจากปัจจุบันเด็กไทยติดอันดับการเพิ่มจํานวนเด็กอ้วนเร็วที่สุดในโลก โดยในปี 2561 พบเด็กอายุ 6-14 ปี เริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 11.1 และเพิ่มเป็นร้อยละ 11.7 ในปี 2562 นอกจากนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพ ช่องปากเด็กวัยเรียน สำนักทันตสาธารณสุข ปี 2563 พบเด็กอายุ 12 ปี ดื่มน้ำหวานและน้ำอัดลมมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน ร้อยละ 52 และกินขนมมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน ร้อยละ 28.9
ทางด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แอปพลิเคชัน FoodChoice ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการให้ความรู้ทางด้านโภชนาการ เมื่อสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์ ข้อมูลบนฉลากโภชนาการจะถูกแสดงในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน นอกจากนี้ ยังได้มีการจำแนกสีของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกบริโภค และกำหนดปริมาณการกินให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายได้ โดยจำแนกได้ ดังนี้
1) สีเขียว หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่กําหนด แต่หากบริโภคผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มากกว่าหนึ่งหน่วยบริโภค แต่ไม่เกิน 2 หน่วยบริโภค ของอาหารระหว่างมื้อ (อาหารว่าง) หรือบริโภคร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นที่มีสารอาหารชนิดเดียวกันที่ให้สีเขียว ก็จะทําให้ได้รับสารอาหารนั้นในปริมาณสูงปานกลาง
2) สีเหลือง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง แต่หากบริโภคผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มากกว่าหนึ่งหน่วยบริโภค หรือบริโภคร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่นที่มีสารอาหารชนิดเดียวกันที่มีสีเหลือง ก็จะทําให้ได้รับสารอาหารนั้นในปริมาณสูง
3) สีแดง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกิน 2 เท่าของเกณฑ์ที่กำหนด หากบริโภคอาหารระหว่างมื้อที่มีสัญลักษณ์สีแดงในอาหารตัวใดตัวหนึ่ง ต้องพยายามลดการได้รับสารอาหารนั้น ๆ ในอาหารมื้อหลักต่อไป
4) สีฟ้า หมายถึง ปริมาณโปรตีน แคลเซียม วิตามินบีสอง ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีแต่มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาก ซึ่งหากผู้ใช้งานสแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์แล้วไม่พบข้อมูล ผู้ใช้สามารถถ่ายภาพและแชร์รูปภาพของผลิตภัณฑ์ ด้านหน้าผลิตภัณฑ์ ข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ และเลข อย. 13 หลักเพื่อเพิ่มเติมข้อมูลในแอปพลิเคชันให้ทันสมัย และครบถ้วนอยู่ตลอดเวลา” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ได้ริเริ่มจุดประกายสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป สามารถรับรู้ เข้าใจ และเกิดความตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงในการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค โดยในช่วงปี 2559 ได้นำเครื่องมือให้ความรู้ทางด้านโภชนาการ หรือแอปพลิเคชัน FoodChoice ไปทดสอบการใช้งานในพื้นที่โรงเรียนนำร่องใน 4 ภูมิภาค ภายใต้โครงการโรงเรียนอ่อนหวาน 9 โรง ส่งผลให้เด็กนักเรียนเกิดความรู้และมีความเข้าใจเรื่องโภชนาการมากขึ้นถึง ร้อยละ 98 พร้อมทั้งได้นำข้อมูลจากการทดสอบมาใช้พัฒนาและปรับปรุงแอปพลิเคชัน FoodChoice ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้งานได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
“ในปี 2562 สสส. และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ขยายผลผลักดันให้แอปพลิเคชัน FoodChoice เข้าไปเป็นหนึ่งในนโยบายเสริมสร้างการเรียนรู้ของเครือข่ายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม กว่า 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องโภชนาการของโรงเรียน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายสร้างเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากเด็กวัยเรียน ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กวัยเรียนให้มีความรอบรู้และมีทักษะทางสุขภาพอีกด้วย” ดร.สุปรีดา กล่าว
ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค-สวทช. กล่าวเสริมว่า “ด้วยเป้าหมายสำคัญของเนคเทค-สวทช.ที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูง เพื่อสร้างฐานรากทางเทคโนโลยีให้กับประเทศ เรามีการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและพันธมิตรมาเป็นระยะเวลานาน เพื่อผลักดันให้เกิดระบบนิเวศน์ของการใช้เทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาขึ้นให้เกิดประโยชน์ต่อคนหมู่มาก ที่ให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้เสมือนกับการเป็นสาธารณูปโภคที่ส่งให้ประชาชนทุกคนในบ้าน หนึ่งในนั้น คือ การสร้างแพลตฟอร์มทางด้านสุขภาพ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานตามภารกิจให้ประสบความสำเร็จ แอปพลิเคชัน FoodChoice เป็นเครื่องมือในการให้ความรู้ทางด้านโภชนาการ เมื่อสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์ ข้อมูลบนฉลากโภชนาการจะถูกแสดงในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่ายเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสุขภาพของผู้ใช้งาน ได้อย่างรวดเร็ว ถ้าสแกนไม่พบข้อมูล ผู้ใช้สามารถร่วมแชร์ รูปภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มเติมข้อมูลในแอปพลิเคชัน ให้ทันสมัยและครบถ้วนอยู่ตลอดเวลา ”