อัปสกิลเกษตรดิจิทัล ปั้น HandySense Avenger Team กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือ ธกส. เนคเทค จัดอบรม “ระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense)

Facebook
Twitter
14 มิ.ย. 65: เนคเทค สวทช. กรมส่งเสริมการเกษตร และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “ระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense)” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ กิจกรรมส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ โดยร่วมกันขยายผลองค์ความรู้การเกษตรอัจฉริยะของเนคเทค สวทช สู่สาธารณะ ภายใต้หลักการ Smart Farming Open Innovation เพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และพันธมิตรการพัฒนาด้านการเกษตร สามารถเข้าถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เพื่อพัฒนาการเกษตร ระหว่างวันที่ 14 – 16 มิ.ย. 65 ณ ศูนย์ส่งเสริมส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตรจังหวัดชัยนาท และผ่านระบบออนไลน์ Zoom
สำหรับพิธีเปิดการอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. ผู้บริหารกรมส่งเสริมการเกษตร นำโดย คุณปาลลิน พวงมี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร ดร.สุรางค์ศรี วาเพชร ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านส่งเสริมการเกษตร คุณบุญยืน ตันไถน ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ธ.ก.ส. พร้อมด้วยดร.พรพรหม อธีตนันท์ รองผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี เนคเทค สวทช. และคณะนักวิจัยทีมเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล เนคเทค สวทช. นำโดย คุณนริชพันธ์ เป็นผลดี คุณปิยะ ชาติไทยเจริญ และคุณพุฒิพงษ์ สุขรัตน์ ร่วมเป็นวิทยากร
การอบรมเชิงปฏิบัติการ “ระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense) เป็นการอบรมระดับที่ 3 เนื้อหาเข้มข้นด้านการเขียนโปรแกรมควบคุมอุปกรณ์เกษตรอัจฉริยะ (HandySense) เพื่อให้เกษตรกรและเจ้าหน้าที่มีความรู้และทักษะในการพัฒนาซอฟต์แวร์เกษตรอัจฉริยะ (HandySense Avenger Team) สามารถประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการแปลงเกษตรให้มีความเหมาะสมกับสภาพการปลูกพืชเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่ เกิดประสิทธิภาพในการผลิตและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตลอดจนสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องการบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะได้อย่างครบวงจร
 
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวเปิดการอบรม ความว่า การอบรมในโครงการนี้เป็นอีกก้าวย่างที่สำคัญสำหรับทีม เนคเทค สวทช. ในการทำงานเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เนคเทค สวทช. ยังคงมุ่งมั่นวิจัยพัฒนา ระบบและเครื่องมือ ด้านนวัตกรรมเกษตร เพื่อใช้เดินหน้าขับเคลื่อน Smart Farm สู่สังคมไทย สร้างระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเกษตร สนับสนุนการเกษตรสมัยใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเซนเซอร์ ร่วมกับ IoT และ AI เข้ามาช่วยในกระบวนการเพาะปลูก ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมในการเพาะปลูกได้ตั้งแต่ต้น ส่งผลต่อการควบคุมคุณภาพและประเมินปริมาณผลผลิตด้วย

ในระยะต่อไป กรมส่งเสริมการเกษตร ธ.ก.ส. และ เนคเทค วางแผนเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลผลผลิต/เกษตรกร และข้อมูลความต้องการผลผลิตจากโรงเรียนหรือโรงพยาบาล หรือหน่วยงานบริการของรัฐอื่นๆ ด้วยระบบเชื่อมโยงผลผลิตเพื่ออาหารกลางวัน (Farm to School) เพื่อสร้างระบบนิเวศเกษตรดิจิทัลอีกด้วย
 
HS-Avengers-Quote (1)
คุณบุญยืน ตันไถน ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ธ.ก.ส. เผยว่า “เกษตรกกรรมและเทคโนโลยีต้องมาคู่กัน การผลิตแบบดั้งเดิมอาจไม่ตอบโจทย์การพัฒนาในอนาคตที่ต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการ และการลดต้นทุน สิ่งสำคัญที่สุด คือ เทคโนโลยีที่จะนำมาช่วยให้เกิดความสะดวก ตอบโจทย์เกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่ง HandySense เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการจัดการด้านการเกษตร ทั้ง น้ำ ดิน และการบำรุง โดยเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยาก อย่างไรก็ตาม ตัวกลางที่จะขับเคลื่อนการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เกษตรกรก็เป็นเรื่องสำคัญ หลักสูตรการอบรมในโครงการนี้จะช่วยให้การขับเคลื่อนเทคโนโลยีไปได้อย่างยั่งยืน”
HS-Avengers-Quote (2)
ด้านคุณปาลลิน พวงมี ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense) เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาวิทยากรด้านการเกษตรอัจฉริยะของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งหลักสูตรระดับที่ 3 นี้ เป็นหลักสูตรที่เกี่ยวกับการใช้โปรแกรม Firmware และหลักการออกแบบโปรแกรม เพื่อให้สามารถ พัฒนา ปรับปรุงแก้ไข และต่อยอดให้เหมาะสมกับความต้องการแบบเฉพาะเจาะจงทางด้านการเกษตร ให้กับนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรที่ได้รับการคัดเลือกจากหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัด ระดับอำเภอและเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตร และเกษตรกร เพื่อยกระดับเป็นวิทยากรเกษตรอัจฉริยะ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกรรายอื่นๆ ให้นำไปประยุกต์ใช้ในการผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของชุมชนต่อไป
HS-Avengers-Quote (4)
โครงการฯ มีเป้าหมายการสร้างแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะในชุมชนและศูนย์ปฏิบัติการในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนการสร้างวิทยากรทั้งที่เป็นเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เพื่อสร้างความพร้อมสาหรับการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบเกษตรอัจฉริยะ (HandySense)” สู่สาธารณะและสังคมการเกษตรอย่างแพร่หลายต่อไป