เนคเทคจัดอบรม “Industrial Automation Training Systems” อัปสกิลผู้ประกอบการอุตสาหกรรม

Facebook
Twitter

 

 
iauto-workshop
เรื่อง | วลัยลักษณ์ คงพระจันทร์
ถ่ายภาพ | ตุลลาวัฒน์ หอมสินธ์, รพีพงศ์ โชครุ่งอิสรานุกูล

เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการอบรม “Industrial Automation Training Systems” ที่เนคเทค-สวทช.จัดขึ้นเพื่ออัปสกิลผู้ประกอบการอุตสาหกรรมตลอด 5 วันเต็ม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ! ตั้งแต่ 21 – 25 กันยายน ที่ผ่านมา

Industrial Automation Training Systems เป็นชุดสาธิตจำลองระบบการผลิตอัตโนมัติในโรงงาน ที่แสดงองค์ประกอบสำคัญในสายการผลิตแบบอัตโนมัติ อาทิ การจัดการข้อมูลของระบบ การควบคุมการจ่ายและจัดเก็บชิ้นงานแบบอัตโนมัติที่สามารถตรวจสอบและรายงานผลสถานะของชิ้นงานในระบบได้ การวิเคราะห์ประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร (OEE) การตรวจวัดความสมบูรณ์ของชิ้นงานด้วยระบบ Machine Vision ที่ทำงานร่วมกับแขนหุ่นยนต์ ไปจนถึงการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ไอโอที ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะต่อยอดระบบอัตโนมัติในยุคอุตสาหกรรม 3.0 ไปสู่ อุตสาหกรรม 4.0

ในโอกาสนี้ ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการเนคเทค-สวทช. พร้อมด้วย ดร.กุลชาติ มีทรัพย์หลาก หัวหน้าทีมวิจัยระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) และ อาจารย์ศิริโรจน์ งามเขียว วิทยากรจาก TDS Technology Thailand ให้เกียรติกล่าวเปิดการอบรมฯ ณ ห้องบุษกร เนคเทค-สวทช.​ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563

iauto-workshop
ดร.กุลชาติ มีทรัพย์หลาก หัวหน้าทีมวิจัยระบบไซเบอร์-กายภาพ (CPS) กล่าวว่า

การอบรมในครั้งนี้ ฯ ศูนย์ระบบไซเบอร์-กายภาพ (เนคเทค – สวทช.) มุ่งถ่ายทอดและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานของระบบอัตโนมัติ และ Industrial Internet of Things (IIoT) แก่บริษัทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องภารกิจส่วนหนึ่งของ CPS คือ การเผยแพร่องค์ความรู้และจัดการอบรม เพื่อสร้างความตระหนักและความเชื่อมั่นแก่สังคมถึงการใช้งานและประโยชน์ของเทคโนโลยี ภายใต้การบริการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยและเตรียมความพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0

iauto-workshop

โดยในอนาคตอันใกล้ทีม CPS จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ การอบรม ไปจนถึงบริการศูนย์ทดสอบ (Testbed & Showroom) ณ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center) หรือ SMC ที่ครม.ได้อนุมัติจัดตั้งขึ้น ภายใต้เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi-ARIPOLIS) โดยเนคเทค – สวทช. ได้ดำเนินโครงการนำร่องใน SMC เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานใน EECi คือ โครงการแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform หรือ IDA) อีกด้วย ดร.กุลชาติ กล่าวเสริม

การอบรมฯ ในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากโรงงานทั่วประเทศรวมถึงโรงงานที่ได้รับการคัดเลือกร่วมโครงการแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform) – IDA พลังงาน อีกด้วย ​โดยผู้เข้าร่วมการอบรมฯ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับความรู้หลากหลายทั้งเชิงทฤษฎี ด้านระบบควบคุมอัตโนมัติ (Automation) ระบบสกาด้า (SCADA) ระบบแขนกลอุตสาหกรรม (AUBO) การวัดประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร (OEE) และการสื่อสารระบบ QR Code Reader พร้อมได้ลงมือปฏิบัติจริงในการประยุกต์ใช้งานและออกแบบระบบ

คุณภูวสิษฏ์ เอี่ยมสวยงาม หนึ่งในผู้เข้าร่วมการอบรมฯ จากบริษัท P-Robot และอาจารย์จากอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (Software Park Thailand)

กล่าวว่า “จุดเด่นของการอบรมฯ คือ เครื่องมือที่ทันสมัย การอบรมที่อื่น ๆ อาจเป็นแค่ชุดทดลองไม่มีสเตชันที่เห็นภาพการทำงานชัดเจนขนาดนี้ โดยเราได้เขียนโปรแกรม PLC เชื่อมต่อทำ OEE ใช้ SCADA และทดสอบหุ่นยนต์ที่ควบคุมผ่าน modbus อีกด้วย

ระยะเวลา 5 วันสำหรับการอบรมครั้งนี้อาจจะน้อยไป แต่ทุกคนมีเป้าหมายอยู่แล้วว่าอยากได้อะไร อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดของเนื้อหา แต่มีบางส่วนที่สามารถไปเสริมส่วนที่ขาดได้ เหมือนมาอัปเดตตัวเองให้ทันกับเทคโนโลยีที่มันกำลังจะเกิดขึ้น” คุณภูวสิษฏ์ กล่าวเสริม

iauto-workshop
iauto-workshop
ภาพบรรยากาศการอบรม หัวข้อ Robot & PLC integration
นอกจากจุดเด่นเรื่องของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยสำหรับการอบรมฯ นั้น คุณพัฒนพงษ์ เฉลียวฉลาด – SANGO THAI ENGINEERING AND MANUFACTURING Co.,Ltd
ยังได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะนำสาระความรู้จากการอบรมฯ ไปปรับใช้จริงในโรงงานอีกด้วย

“การอบรมในครั้งนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานได้มาก โดยที่บริษัททำชิ้นส่วนรถยนต์เป็นหลัก มีลักษณะเป็นไลน์การผลิตอยู่แล้ว ปัจจุบันใช้พนักงานในการจดบันทึก อาจมีข้อผิดพลาดบ้าง จากการอบรมฯ ผมว่าถ้าใช้ SCADA ในการทำ OEE ไปใช้งานได้ พนักงานไม่ต้องจดบันทึก สามารถออกรายงานได้เลย สามารถประยุกต์ใช้ได้แน่นอน” คุณพัฒนพงษ์ กล่าว

iauto-workshop
iauto-workshop
บรรยากาศการอบรมฯ หัวข้อ OEE Function
เช่นเดียวกันกับ คุณวรปรัชญ์ ถิ่นวัฒนากูล – บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด
1 ใน 15 โรงงานจากโครงการแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (Industrial IoT and Data Analytics Platform) – IDA พลังงาน ที่พร้อมนำสาระความรู้จากการอบรมฯ ไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต หรือ OEE

คุณวรปรัชญ์ เล่าว่า “ตอนนี้เรากำลังมองไปในส่วนของ IDA beyond ที่จะนำ OEE เข้ามาใช้ ปัจจุบันผมก็พยายามทดลองทำกันเองอยู่ และเมื่อเราได้มาอบรมฯ เราได้เห็นและทดลองโมดูลที่ใช้งาน OEE ได้ง่ายกว่าสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ต่อในอนาคตได้”

“เราได้ลองลงมือทำเองกับตัว plant งาน ถึงจะเป็นตัว simulate แต่ผมมองว่าเราได้ทำและเราได้เห็นภาพ ซึ่งดีกว่าการที่เรานั่งทำเองอยู่ที่บ้านหรือโรงงานโดยที่เราไม่ได้เห็นภาพชัดเจน แม้การอบรมที่อื่นก็อาจจะมีให้ปฏิบัติจริงบ้าง แต่ไม่ได้ทำออกมาเป็น plant ให้เห็นลักษณะทางกายภาพขนาดนี้” คุณวรปรัชญ์ กล่าวเสริม

iauto-workshop
iauto-workshop

บทความที่เกี่ยวข้อง