IoT Hackathon 2022 Gen R ครั้งที่ 3 – ปั้นคนอาชีวะ อัปสกิล ‘ไอโอทีอุตสาหกรรม’ ผลิตกำลังคน Gen R สู่พื้นที่ EEC

Facebook
Twitter

กลับมาอีกครั้งกับการแข่งขันสุดเข้มข้น 36 ชั่วโมงเต็ม ในเวที IoT Hackathon 2022 ครั้งที่ 3 Gen R (Data Analytics for ERP-Integrated Factory 4.0) ในโครงการ “การพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) แบบเข้มข้นสำหรับการพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และ เนคเทค สวทช.

พิธีเปิดอย่างเป็นทางการจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 โดยมี ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสวทช. และผู้อำนวยการ EECi กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ดร.อภิชาติ ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษตะวันออก HDC กล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนเยาวชนอาชีวะ และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวเปิดการแข่งขัน

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ EECi  กล่าวว่า การจัดการแข่งขันในครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนาทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) ให้แก่บุคลากรด้านอาชีวศึกษา การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจ 4 ด้านของ สวทช. โดย สวทช. และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญมากในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวิสัยทัศน์และกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจและสังคมฐานความรู้ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 

ดังนั้น สวทช. โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และในฐานะผู้รับผิดชอบในการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi จึงได้เข้ามาดำเนินงานด้านการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นทั้งในด้านการเตรียมบุคลากรขั้นพื้นฐานให้ที่มีความสนใจในการเข้าสู่เส้นทางอาชีพนักวิจัยและนักเทคโนโลยีในอนาคต รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการพัฒนา EECi ให้เป็นจุดเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่าการแข่งขัน IoT Hackathon Gen R ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เป็นการแข่งขันที่ส่งเสริมทักษะด้าน Industrial Internet of Things (IIoT) สำหรับเด็กอาชีวศึกษาระดับ ปวส. ดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนจากเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะภาคปฏิบัติที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) และ Industrial IoT ผ่านกิจกรรมการอบรมครูและนักศึกษาระดับ ปวส. ของสถาบันอาชีวศึกษาในเขตพื้นที่ EEC โดยเน้นนักศึกษาระดับ ปวส. ชั้นปีที่ 1 ที่ต้องไปฝึกงานในสถานประกอบการในปีถัดไป เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้ในโครงการไปประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการ หลักสูตรและวิธีการอบรมจึงเน้นการเรียนรู้แบบ Outcome-Based Learning หรือการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายเป็นรูปธรรม แทนการเรียนรู้องค์ความรู้พื้นฐานแบบครอบจักรวาลแบบเผื่อให้เลือกใช้ มีการวัดผลผู้เรียนแบบเป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เรียนสามารถ “ทำได้ ทำเป็น”ก่อนส่งผู้เรียนเข้าสู่การฝึกงานแบบ Work-Based Integration ในภาคอุตสาหกรรม โดยโครงการฯ จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อนำผลตอบรับมาปรับปรุงวิธีการและเนื้อหาการอบรมในปีต่อไป

ภายในพิธีเปิดโครงการยังได้จัดให้มีการส่งมอบอุปกรณ์ที่ทีมนักวิจัยได้พัฒนาขึ้นเพื่อประกอบการฝึกอบรมในหลักสูตร IoT และ IIoT เพื่อให้อาจารย์ที่ได้ผ่านการอบรมสามารถนำอุปกรณ์ พร้อมด้วยหลักสูตร ไปสร้างกำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน โดยมี 13 วิทยาลัยรับมอบ ได้แก่

1.วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี
2.วิทยาลัยเทคนิคบางแสน
3.วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ
4.วิทยาลัยเทคนิคพัทยา
5.วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์
6.วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย
7.วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด
8.วิทยาลัยเทคนิคระยอง
9.วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี
10.วิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง
11.วิทยาลัยเเทคนิคพนมสารคาม
12.วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง)
13.วิทยาลัยการอาชีพบางปะกง

IoT Hackathon 2022 ครั้งที่ 3 Gen R จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 ธันวาคม 2565 ตลอด 36 ชั่วโมง ผู้เข้าแข่งขันจะพบกับโจทย์จริงจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็น Maintenance, Process Line Monitoring, Quality Control, ERP ด้วย API ที่กำหนดและทักษะของการเป็น Developer เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อ ระหว่าง OT (Operational Technology) และ IT (Information technology) ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นของการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรม

ผู้เข้าแข่งขันจะต้องงัดองค์ความรู้แบบ Outcome-Based Learning และทักษะที่ผ่านการอบรมมาใช้แก้ไขปัญหา เพื่อจะมั่นใจว่า “ทำได้ ทำเป็น”ก่อนเข้าสู่การทำงานจริงในสถานประกอบการ นำร่องพื้นที่ภาคตะวันออก (EEC) คาดนำหลักสูตรไปพัฒนาสู่การเป็นวิทยาลัยต้นแบบอาชีวศึกษาในอนาคต