IT กับการเลือกตั้ง : “Fake News” เช็คก่อนแชร์

Facebook
Twitter
เลือกตั้ง ข่าวปลอม
บทความ : ดร. สรรพฤทธิ์ มฤคทัต
นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.)
เรียบเรียง : ศศิวิภา หาสุข , นัทธ์หทัย ทองนะ
ภาพ : กรรวี แก้วมูล

ปัญหาเรื่อง “ข่าวปลอม (Fake News)” โดยเฉพาะในเครือข่ายสังคมออนไลน์กลายเป็นหัวข้อหลักในบทวิเคราะห์ต่าง ๆ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่เรากำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้งมาทำความรู้จักกับปัญหานี้กันซักหน่อย

ในหลายบทความนั้นระบุว่าปัญหาของข่าวปลอมเกิดจากการที่คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ รับข่าวสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นหลัก บางคนเชื่อข่าวเหล่านี้มากกว่าข่าวจากสื่อกระแสหลักอีก ข่าวปลอมที่ว่านี้ไม่ใช่ข่าวประเภทน้ำมะนาวรักษามะเร็ง แต่เป็นข่าวที่มีนัยทางการเมือง หลายคนเมื่อเห็นข่าวทำนองนี้ในฟีดของตัวเองก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อโดยไม่ได้ตรวจสอบ บางคนนอกจากเชื่อแล้วยังอาจจะแชร์ต่อไปอีกทำให้ข่าวปลอมนั้นระบาดอย่างรวดเร็ว

กลั่นกรองข้อมูลก่อนกดแชร์

ในไทยเองผมเห็นความพยายามที่จะกรองพวกข่าวปลอมออกเช่น เว็บชัวร์ก่อนแชร์ เป็นต้น เว็บพวกนี้สามารถช่วยสกัดการแชร์ต่อข่าวปลอมได้ แต่หากข่าวปลอมนั้นมาจากการปล่อยอย่างตั้งใจล่ะ? ต่อให้ไม่มีการแชร์ต่อ การที่เราได้อ่านข่าวพวกนี้ก็อาจทำให้คนที่ยังลังเลในการลงคะแนนตัดสินใจเลือกข้างได้

Cinque Terre
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ โดยสำนักข่าวไทย อสมท. ตรวจสอบความจริงเรื่องที่แชร์บนโซเชียล (www.SureAndShare.com)

จริง ๆ แล้วต่อให้ไม่ต้องใช้ข่าวปลอม แต่เป็นข่าวที่เกิดขึ้นจริง ถ้าปล่อยในจังหวะพอดีก็อาจทำให้คนเข้าใจผิดได้ เช่น สมมติว่าคุณเห็นข่าวต่อเนื่องหลายสัปดาห์ว่า นาย ก โดนฟ้องข้อหาหนึ่ง ซึ่งต่อมาเขาแก้ต่างข้อกล่าวหาเรียบร้อย แต่ข่าวที่เขาเคลียร์ตัวเองนั้นมาไม่ถึงคุณ คุณก็อาจเชื่อได้ว่าเขาผิดจริง วิธีนี้คงใช้ไม่ได้กับคนที่เชื่อมันในตัวนาย ก นั่นคือคนที่เป็นฐานเสียงของเขา แต่ก็อาจโน้มน้าวคนที่มีความเห็นกลาง ๆ ให้ไม่ชอบเขาได้

กระบวนการปล่อยข่าวในตัวอย่างนี้เป็นไปได้เพราะบนอินเตอร์เน็ตนั้นแต่ละคนเห็นข้อมูลที่ไม่ตรงกันเสมอไป

ทุกครั้งที่เราค้นข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะจาก search engine จากเว็บขายของ หรือจากเว็บไซต์สังคมออนไลน์ต่าง ๆ ระบบ AI ที่อยู่ข้างหลังจะพยายาม “เดา” ว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไรกันแน่เพื่อให้คำตอบที่มันแสดงนั้นถูกใจเราที่สุด AI เหล่านี้พยายามไม่นำเสนอสิ่งที่เราไม่สนใจ เพื่อการนี้ระบบ AI เหล่านี้จะเก็บข้อมูลของเราอย่างละเอียดเพื่อจำลองความคิดของเราให้ดีที่สุด เพื่อให้เราได้รับประสบการณ์ดีเยี่ยมเมื่อใช้งานมัน

เปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคข่าว

ความสะดวกที่เราได้รับในการใช้งานนั้นแลกมาด้วยข้อมูลที่เราส่งให้ระบบ ทั้งที่ตั้งใจ เช่น ชื่อ เพศ อายุ และไม่ตั้งใจอย่างข้อมูลด้านพฤติกรรม เช่น การคลิกโฆษณาบนหน้าเว็บไซต์ หรือการเช็คอินสถานที่ที่เราไปบ่อย เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นขุมทรัพย์สำหรับนักโฆษณา เพราะมันทำให้วางโฆษณาได้ถูกกลุ่มมากขึ้น ในสนามเลือกตั้ง ข้อมูลเหล่านี้ก็ทำให้การปล่อยข่าวนั้นทำได้ถูกกลุ่มเช่นกัน

เลือกตั้ง ข่าวปลอม
เนื้อหาที่เป็นโฆษณา จะมีคำว่า “Sponsored” หรือ “ได้รับการสนับสนุน” กำกับอยู่

บางครั้งการปล่อยข่าวก็ไม่ได้เน้นที่ตัวคนรับสารแต่เน้นที่การสร้างบรรยากาศมากกว่า เช่น ในการเลือกตั้งในฝรั่งเศส และอังกฤษที่ผ่านมาก็มีบ็อต (Bot) ในทวิตเตอร์ที่ทำหน้าที่ทวิตข่าวปลอมจำนวนมาก ทำให้ข่าวเหล่านี้ล้นฟีดจนคนทำให้คนเข้าใจผิดได้

วิธีแก้คือเราคงต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคข่าว ให้เราเสพข่าวจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือด้วยไม่ใช่จากฟีดของเราเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อเราเห็นข่าวที่ปรากฏในฟีดควรสังเกตว่าเป็นเพื่อนเราที่แชร์หรือไม่ หากเป็นโฆษณา เช่นมีคำว่า Sponsored กำกับอยู่ ก็ควรคิดสักนิดก่อนเชื่อ นอกจากนี้หากข่าวใดที่ทำให้เราสะดุดและอยากแชร์ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นข่าวปลอมและลองค้นรายละเอียดเพิ่มก่อน (อย่างหลังนี้…ผมเองก็ยังต้องฝึกเพิ่ม ยังพลาดเชื่อข่าวปลอมอยู่เรื่อย ๆ)

สื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้มีแต่ด้านลบ

ทั้งนี้สื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้มีแต่ด้านลบเท่านั้น หากเราใช้ดี ๆ เราอาจทำโพลหยั่งคะแนนเสียงมาเสริมกับโพลมาตรฐานได้ หรือ กกต. เองอาจวางโฆษณาเพื่ออธิบายวิธีกาบัตรเลือกตั้งใหม่ หรือเพื่อชักชวนคนให้ออกมาลงคะแนนให้มากขึ้น เป็นต้น