เนคเทค-สวทช.ให้การต้อนรับคณะที่ปรึกษาด้านไซเบอร์ และกิจการอวกาศ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

Facebook
Twitter
mod-visit-2021

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ได้ให้การต้อนรับ พล.อ.เฉลิม คูหาวิชานันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ (หัวหน้าคณะที่ปรึกษา) และคณะที่ปรึกษาด้านไซเบอร์ และกิจการอวกาศ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้เดินทางมารับฟังบรรยายผลงานวิจัยในด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เมื่อวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมประจิม 3 อาคารเนคเทค อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี
mod-visit-2021

ในโอกาสนี้ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค-สวทช. ได้กล่าวต้อนรับและนำเสนอในหัวข้อ National AI Strategy พร้อมด้วยนักวิจัยเนคเทค-สวทช. ร่วมนำเสนองานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถประยุกต์ใช้กับงานด้านความมั่นคง ดังนี้

mod-visit-2021

เทคโนโลยีเทระเฮิรตซ์และชิปขยายสัญญาณรามาน กับการประยุกต์ใช้งาน
โดย ดร.นพดล นันทวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ เนคเทค-สวทช.
 
คลื่นเทระเฮิรตซ์ คือ ย่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่นำมาประยุกต์ใช้งานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม โดยคลื่นเทระเฮิรตซ์มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่างคลื่นไมโครเวฟและคลื่นอินฟาเรด และมีคุณลักษณะเด่นเฉพาะตัวของคลื่นความถี่ในย่านนี้คือมีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีพลังงานต่ำเมื่อเทียบกับคลื่นรังสีเอกซ์ (X-ray) สามารถทะลุทะลวงผ่านวัสดุส่วนมากที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น กระดาษ พลาสติก ผ้า และไม้ รวมถึงมีความสามารถใช้ในการตรวจจับและระบุชนิดของสารเคมีที่น่าสนใจ อาทิ กรดอะมิโน ยาปฏิชีวนะหรือแม้กระทั้งสารตั้งต้นวัตถุระเบิด ทำให้มีงานวิจัยและพัฒนานำคลื่นความถี่ในย่านนี้มาประยุกต์ใช้งานอย่างแพร่หลายในศาสตร์ต่าง ๆ
 
สำหรับชิปขยายสัญญาณ Raman เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัดเอกลักษณ์ของสารเคมีด้วยเทคนิค Raman Spectroscopy ให้สามารถวัดสัญญาณของสารชีวโมเลกุลในปริมาณน้อยระดับ trace concentration ใช้ร่วมกับเครื่องอ่านสัญญาณ Raman ทั้งแบบพกพาและห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจระบุร่องรอยของโมเลกุลสารเคมี สามารถพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น งานนิติวิทยาศาสตร์และความมั่นคง การตรวจหาสารตกค้างทางการเกษตร และ การประยุกต์ใช้งานทางการแพทย์ เป็นต้น
 
mod-visit-2021

ควอนตัมเทคโนโลยี กับงานด้านความมั่นคง และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
โดย ดร.คณิน อึ้งสกุลสิริ นักวิจัยทีมวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์
 

คอมพิวเตอร์เชิงควอนตัมจะพาเราเข้าสู่ยุคการประมวลผลแบบก้าวกระโดดซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์และความมั่นคงและปลอดภัยทางด้านการข้อมูลข่าวสารแนวทางการป้องกันที่สำคัญก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารเชิงควอนตัมซึ่งเชื่อมโยงไปยังงานด้านความมั่นคงของประเทศ

โดยเนคเทคได้พัฒนาระบบสุ่มตัวเลขที่จะใช้ในการเข้ารหัสข้อมูลและการยืนยันตัวตนรวมไปถึงการวิจัยเพื่อพัฒนาเซนเซอร์ทางควอนตัมที่มีความละเอียดสูงและนำไปสู่การตรวจวัดสารชีวโมเลกุลในโจทย์การใช้ประโยชน์ต่าง ๆ

 
 
mod-visit-2021

ความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศกับงานด้านความมั่นคงของประเทศ
โดย ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ
 
เนคเทค-สวทช.มีงานวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศร่วมกับพันธมิตรเพื่อสร้างผลงานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วยปัจจุบันความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) เป็นประเด็นที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เนื่องจากมีการละเมิดสินทรัพย์สารสนเทศในหน่วยงานที่มีความสำคัญระดับประเทศถี่มากขึ้น เช่น หน่วยงานราชการ ธนาคาร และ หน่วยงานที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
 
mod-visit-2021

Intelligence Data-link Analysis (IDA)
โดย ดร.นพดล คีรีเพ็ชร นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยคลังอนุพันธ์ความรู้
 
เทคโนโลยีสำคัญที่มีผลต่อความก้าวหน้าของประเทศอย่างหนึ่ง คือ เทคโนโลยีการคาดการณ์อนาคต ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีด้านการประมวลผลข้อมูล ที่ต้องใช้ข้อมูลปริมาณมากและมีความถูกต้องสูง โดย Intelligence Data-link Analysis (IDA) คือ ระบบซอฟต์แวร์ประมวลผลข้อมูลความมั่นคง ที่แสดงถึงกิจกรรมเชิงเครือข่ายของผู้กระทำความผิดและความสัมพันธ์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง สถานที่ และวัตถุพยานต่าง ๆ
 
ในการนี้ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทคและทีมนักวิจัย ได้รับฟังข้อเสนอแนะโจทย์วิจัยที่สำคัญด้านความมั่นคงของประเทศ เพื่อแสวงหาความร่วมมือในบริบทการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อการวางแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงแห่งอนาคตของประเทศไทย
 
mod-visit-2021