สวทช. จับมือ อพวช. สร้างองค์ความรู้ วทน. พัฒนาแหล่งเรียนรู้ของเยาวชนและผู้สนใจ

Facebook
Twitter

 

 
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้เกิดประสิทธิภาพ โดยยึดประโยชน์ของหน่วยงานทั้งสอง ด้วยการพัฒนาและเผยแพร่ องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) และการให้บริการแก่ประชาชน พร้อมมอบเครื่อง Dental CT Scan เครื่องประวัติศาสตร์ที่วิจัย พัฒนาและผลิตโดยทีมนักวิจัยไทย โดยมี ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สวทช. และ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) พร้อมด้วย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. ผู้บริหาร และทีมนักวิจัยเข้าร่วมงาน ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สวทช. กล่าวว่า สวทช. หน่วยงานวิจัยและพัฒนาให้ความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการนำ ผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของ สวทช. มาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้วยกระบวนการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ ทักษะกระบวนการและจิตวิทยาศาสตร์ ให้กับเยาวชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นการใช้ทรัพยากรและความสามารถของทั้งสองหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การนำแอปพลิเคชัน Museum Pool มาช่วยเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ให้เยาวชน การนำเทคโนโลยีภาพเพื่อพัฒนาระบบตรวจนับบุคคลและแยกเพศของผู้เข้าชม สนับสนุนการนำผลงานวิจัยภายใต้โครงการสื่อการสอนโปรแกรมมิ่งในโรงเรียน (“Coding at School” Project) : ด้วยบอร์ด KidBright ของ เนคเทค – สวทช. มาจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชน เป็นต้น

นอกจากนี้ สวทช. ยังได้มอบผลงานวิจัยและพัฒนาที่ได้รับพระราชทานรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นของชาติ ปี 2562 ได้แก่ เครื่อง Dental CT Scan เครื่องประวัติศาสตร์เครื่องแรกของประเทศไทย ชื่อ DentiiScan รุ่น 1.1 และผลิตขึ้นสำเร็จในปี 2554 จากห้องปฏิบัติการวิจัยของ เนคเทค – สวทช. ที่เป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ผลงานของนักวิจัยไทย สำหรับจัดนิทรรศการให้กับเยาวชน และผู้ที่สนใจ เพื่อศึกษาและสร้างแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้างนวัตกรรมที่ทรงคุณค่าให้กับประเทศ ซึ่งปัจจุบัน สวทช. โดย ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ได้วิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องไปถึงเครื่อง DentiiScan รุ่น 2.0 และเครื่องรุ่นใหม่ ๆ เพื่อส่งมอบผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่องต่อไป

ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์

ในโอกาสนี้ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโครงการเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวยในฐานะผู้อำนวยการโครงการฯ ว่า การพัฒนาเครื่อง CT ครั้งแรกในประเทศไทยเริ่มต้นตั้งแต่สมัยที่ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนา ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ช่วงปีพ.ศ. 2523 – 2533 แต่ด้วยการจัดหาและราคาของชิ้นส่วนเป็นอุปสรรคของการพัฒนาในขณะนั้น ปัจจุบันเมื่อสามารถเข้าถึงชิ้นส่วนเพื่อพัฒนาได้ประกอบกับสภาพแวดล้อมการวิจัยของสวทช.ที่เอื้ออำนวย โดยมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอ จนสามารถพัฒนาเป็น DentiiScan 1.1 และ 2.0 ได้เมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมา โดยได้ขยายผลไปใช้ 3 ลักษณะ คือ ด้านทันตกรรม (DentiiScan) ด้านแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ (MobiiScan) และแบ่งขอบเขตทางรังสีของชิ้นเนื้อเต้านม (MiniiScan) ออกไปใช้งานได้จริงจนปัจจุบัน โดย DentiiScan มีการใช้งานจริงกว่า 12,000 คน ณ โรงพยาบาลทั่วประเทศ ช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สร้างอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์จากงานวิจัยและพัฒนาภายในประเทศ พร้อมสร้างระบบนิเวศน์ให้เกิดการหมุนเวียนในเชิงเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย ตลอดจนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยต่อไป

โดย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ได้รับพระราชทานรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2562 จากผลงาน เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบลำรังสีทรงกรวย (3D Cone-Beam Computed Tomography หรือ CBCT) จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า อพวช. มีภารกิจหลักในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์สู่สังคม ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมเสริมศึกษา การได้ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ อพวช. จะได้เพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ ในรูปแบบใหม่ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ของเนคเทคมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายต่อไป และอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ สวทช. ได้มอบเครื่อง DentiiScan 1.1 ไว้ให้กับ อพวช. ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ เครื่อง DentiiScan 1.1 หรือ เครื่อง Dental CT Scan เครื่องแรกของประเทศไทย ที่วิจัย พัฒนาและผลิตขึ้นในประเทศไทย จะได้มาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Medical Imaging ที่กำลังจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. คลองห้า ปทุมธานี เพื่อให้เยาวชนและประชาชนได้ศึกษาและเกิดแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ต่อไป

DenTiiScan
DentiiScan
DentiiScan
ทีมวิจัยและพัฒนา DentiiScan 1.1
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ