“ระบบศัพท์บัญญัติ” สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ปรับปรุงล่าสุด พร้อมใช้งานแล้ววันนี้

Facebook
Twitter
ระบบศัพท์บัญญัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ออนไลน์

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนา “ระบบศัพท์บัญญัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ออนไลน์” ช่วยให้ผู้ใช้งานค้นคว้าศัพท์บัญญัติวิชาการได้สะดวก พร้อมใช้งานได้แล้ววันนี้ทางเว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

วันที่ 30 เมษายน 2562 สำนักงานราชบัณฑิตยสภาร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัวระบบศัพท์บัญญัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ออนไลน์ ณ หอประวัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

ดร.อลิสา คงทน รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า เนคเทค ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการประยุกต์เทคโนโลยีไปสู่งานด้านต่างๆ ซึ่งเป็นการบูรณาการและผสมผลานระหว่างศาสตร์ที่ต่างกันเข้าหากัน เราได้พัฒนางานวิจัยทางด้าน เทคโนโลยีกับภาษามากว่า สามสิบปี ตั้งแต่การสร้างพจนานุกรมอืเล็กทรอนิกส์ เล็กซิตรอน การประมวลผลภาษาไทย ได้แก่ การตัดคำ การกำกับชนิดของคำ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาไทย ไปจนถึงการประยุกต์ ไปสู่ เทคโนโลยีการแปลภาษา การวิเคราะห์อารมณ์ ระบบแชทบอท การสังเคราะห์ และรู้จำเสียง ไปจนถึง ระบบแปลงเอกสารภาพเป็นข้อความ

การได้มีโอกาสร่วมงานกับ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาถือเป็นการร่วมมือที่สำคัญยิ่ง ซึ่งตรงกับแนวคิดของการประยุกต์เทคโนโลยีให้เข้าสู่ผู้ช้งานจริง ปัจจุบันทางเนคเทคเราก็กำลังเตรียมความพร้อมในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาสร้างเป็น AI platform เพื่อให้มีการต่อยอดการใช้งานให้มากขึ้น

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในด้านภาษาเป็นอย่างสูง มีผู้เชี่ยวชาญเป็นจำนวนมาก มาร่วมกันพัฒนาข้อมูลเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการอ้างอิง เนคเทคได้มีความร่วมมือกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภามาตั้งแต่ ปี 2558 เรามีแนวคิดร่วมกันและตรงกัน ที่จะพัฒนาการพัฒนาทั้งในส่วนของการนำความรู้ไปสู่ผู้ใช้ให้ถึงมือได้ง่ายขึ้นและการปรับปรุงกระบวนการภายในของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

ในส่วนของการนำความรู้ไปสู่ผู้ใช้ให้ถึงมือได้ง่ายขึ้น ทางเนคเทคได้ร่วมกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา พัฒนาโมไบล์แอปพลิเคชัน ที่สามารถใช้งานได้ทั้ง บนระบบปฏิบัติการ Android และ iOS ได้แก่

“Royal Society” โมไบล์แอปพลิเคชันสำหรับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปีพุทธศักราช 2554
“Read and Write” เป็นโมไบล์แอปพลิเคชันที่นำเนื้อหามาจากหนังสือ อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร ช่วยในการค้นหาคำที่มักอ่านผิดหรือสะกดผิด และ
“ชื่อบ้านนามเมือง” โมไบล์แอปพลิเคชันที่จะช่วยให้สามารถค้นชื่อจังหวัด อำเภอตำบล และเมืองสำคัญ ของประเทศต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปีพุทธศักราช 2554 ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งมีผู้เข้ามาค้นหาคำศัพท์ผ่านทางเว็บไซต์มากกว่าสิบล้านครั้งในปีที่ผ่านมา
Cinque Terre
ระบบศัพท์บัญญัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ออนไลน์

ในวันนี้ “ศัพท์บัญญัติ” ที่อดีตเคยมีเวอร์ชันออนไลน์ แต่ไม่ได้รับการปรับปรุง ทางเนคเทคก็เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้สมารถเปิดใช้งานบนออนไลน์ได้ ใน 15 สาขาวิชา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานค้นคว้าและเป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญ ในส่วนปรับปรุงกระบวนการภายในไม่ว่าจะเป็นการสร้างฐานข้อมูล การนำเอกสารเก่ามาสแกน ซ่อม เพื่ออนุรักษ์ และพัฒนาเป็นระบบจดหมายเหตุ และจะเชื่อมโยงไปสู่ ระบบบริหารจัดการการประชุม ที่จะทำให้เกิดการบูรณาการข้อมูลและการสร้างฐานข้อมูลพจนานุกรมที่ทำได้รวดเร็วขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่าง เนคเทคและสำนักงานราชบัณฑิตยสภาที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ อดีต ปัจจุบันและในอนาคต ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่สำคัญในการนำฐานรากของเทคโนโลยีมาต่อยอดเพื่อทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในการเปลี่ยนสังคมให้เข้าสู่ยุคการใช้เทคโนโลยีเพื่อนำสู่สังคมที่มีรากฐานของความรู้ที่เป็นรูปธรรมได้อย่างแท้จริง

นางสาวกนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า การบัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยเป็นภารกิจหลักประการหนึ่งของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เพื่อให้มีคำภาษาไทยใช้แทนศัพท์ภาษาต่างประเทศในสาขาวิชาต่าง ๆ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ดำเนินงานบัญญัติศัพท์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2485 เมื่อครั้งเป็นราชบัณฑิตยสถาน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยทำหน้าที่บัญญัติศัพท์คำภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จนปัจจุบันสำนักงานราชบัณฑิตยสภาสามารถพัฒนาและขยายงานบัญญัติศัพท์ออกเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ มากมาย โดยมีคณะกรรมการวิชาการเฉพาะสาขาเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ ศัพท์บัญญัติสาขาต่าง ๆ ที่แล้วเสร็จ ได้นำเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้จัดทำ “ระบบศัพท์บัญญัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ออนไลน์” โดยนำข้อมูลศัพท์บัญญัติวิชาการที่ปรับปรุงล่าสุด จำนวน 15 สาขา ได้แก่ ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ศัพท์วิทยาศาสตร์ ศัพท์พลังงาน (เธอร์โมไดนามิกส์) ศัพท์เทคโนโลยีทางภาพ ศัพท์ยานยนต์และเครื่องยนต์ ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ศัพท์นิติศาสตร์ ศัพท์ภูมิศาสตร์ ศัพท์ประกันภัย ศัพท์สังคมวิทยา ศัพท์ภาษาศาสตร์ทั่วไป ศัพท์ภาษาศาสตร์ประยุกต์ ศัพท์ศิลปะ ศัพท์วรรณกรรม และศัพท์สถาปัตยกรรม เรียบร้อยแล้วพร้อมให้บริการประชาชนผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา www.royin.go.th หากระบบนี้เป็นที่สนใจและมีผู้เข้าใช้งานมากขึ้น สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจะนำข้อมูลศัพท์บัญญัติสาขาอื่นเพิ่มเติมลงในระบบต่อไป