เนคเทคร่วมจัดแสดง WiMaRC ในงานเปิดตัวศูนย์นวัตกรรม 5G A-Z Center

Facebook
Twitter

WiMaRC เทคโนโลยีไร้สายเพื่อติดตามสภาพแวดล้อมในพื้นที่เพาะปลูก ร่วมจัดแสดงในงานเปิดตัวศูนย์นวัตกรรม 5G A-Z Center

คุณมนตรี แสนละมูล นักวิจัย ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล (DAT) นำเสนอผลงาน WiMaRC เทคโนโลยีไร้สายเพื่อติดตามสภาพแวดล้อมในพื้นที่เพาะปลูก ณ บูธของ GRAVITECHTHAI ร่วมกับ คุณชวัล เตชะเสน ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด หนึ่งบริษัทที่ร่วมอบรมการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตแพลตฟอร์มไวมาก (Agricultural System Integrator) ในงานเปิดตัวศูนย์นวัตกรรม 5G A-Z Center โดยความร่วมมือของ AIS และ ZTE Corporation วันที่ 27 กันยายน 2565 ณ อาคารทิปโก้ทาวเวอร์ 2 กรุงเทพฯ

WiMaRC หรือ ไวมาก คือ เทคโนโลยีไร้สายเพื่อติดตามสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อการทำการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกแบบเรียลไทม์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบข้อมูล วางแผนการเพาะปลูก และสั่งการทำงานอุปกรณ์ IoT ในพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมได้ง่ายๆ จากทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน สามารถติดตามสภาพแวดล้อมในพื้นที่เพาะปลูกด้วย 8 เซนเซอร์ สำหรับตรวจวัดความเข้มแสง ความชื้นอากาศ อุณหภูมิอากาศ ทิศทางลม ความเร็วลม ปริมาณน้ำ ฝน ความชื้นดิน และอุณหภูมิดิน ทำงานควบคู่กับ Webcam ที่ทำหน้าที่เก็บภาพเปรียบเทียบการเจริญเติบโตสำหรับใช้วิเคราะห์และบริหารจัดการแปลง

ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบสภาพแวดล้อมของพื้นที่เพาะปลูกได้จากทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเว็บแอปพลิเคชัน ควบคุมและสั่งการอุปกรณ์ IoT ได้จากทางไกล สามารถนำฐานข้อมูลมาพัฒนาและวางแผนการทำเกษตรแม่นยำ และประยุกต์ใช้งานได้กับหลายพื้นที่ ปัจจุบันทีมวิจัยพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ที่สนใจแล้ว

ด้านกราวิเทคไทยจัดแสดง AIS 4G Board บอร์ดพัฒนาที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่าน 4G มาพร้อมกับไมโครคอนโทรลเลอร์ ESP32-WROOM-32 และโมดูลสื่อสาร SIM7600E-H1C รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ภายนอกผ่าน GPIO ทั้ง ESP32 และ SIM7600 นอกจากนี้ยังรองรับการเชื่อมต่อแบบ I2C/RS485/SPI/I2S/UART อีกด้วย

คุณมนตรี อธิบายว่า AIS 4G Board สามารถใช้เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างบอร์ดไวมาก และกล้อง เพื่อส่งข้อมูลสู่คลาวด์เซิฟเวอร์ นอกจากนี้จากการอบรมการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตแพลตฟอร์มไวมาก (Agricultural System Integrator) ทำให้เนคเทค สวทช.และกราวิเทคไทยมีแนวทางการพัฒนาบอร์ดไวมากในอนาคต ให้รองรับเครือข่าย 5G ซึ่งจะช่วยเสริมประสิทธิภาพความรวดเร็ว แม่นยำ และคุณภาพของสร้างเครือข่ายรูปภาพผลผลิตทางการเกษตร และการจัดการทางด้านการเกษตร ปัจจุบันไวมากยังคงเดินหน้าขยายผลสู่เกษตรกรอย่างต่อเนื่องผ่านการสนับสนุนจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) อีกทั้งยังมุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศการใช้งานไวมากผ่านแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดโดยเปิดข้อมูลการพัฒนาผลในสู่ Open Innovation และการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตแพลตฟอร์มไวมาก (Agricultural System Integrator)

ศูนย์นวัตกรรม 5G A-Z Center เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ AIS และ ZTE Corporation ในการเปิดตัวศูนย์นวัตกรรม 5G แห่งแรกในประเทศไทย ลงนามข้อตกลงพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G วางเป้าส่งเสริมการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของดิจิทัลเทคโนโลยีให้มีความแข็งแกร่ง สร้างโซลูชั่นสนุนการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับประเทศไทย เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและโซลูชันทั้งการติดตั้งสถานีฐานทุกย่านความถี่เพื่อการทดลองทดสอบ พร้อมเทคโนโลยีเครือข่ายต้นแบบที่จะพลิกโฉมการพัฒนาเครือข่าย 5G ในประเทศไทย, โซลูชันต้นแบบเพื่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ (5G vertical industry applications), อุปกรณ์สื่อสารปลายทาง (Smart Terminal) ที่จะมีการหมุนเวียนมาทดสอบและจัดแสดง